xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมทางการเมืองของคนใต้ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ว่ากันว่าคนใต้ (ในอดีต) มีอัตลักษณ์เฉพาะที่  มีความแตกต่างจากคนภาคอื่นในบางด้าน  โดยเฉพาะคตินิยมดั้งเดิมที่เคร่งครัดในเรื่องจารีตทางเพศ  คตินิยมความเป็นคนนักเลง  คตินิยมความเป็นคนชอบสนุกสนานบันเทิง  คตินิยมความเชื่อในไสยศาสตร์ และคตินิยมความเชื่อในทางศาสนา
 
ค่านิยมที่โดดเด่นคนใต้ในเรื่องจารีตทางเพศแสดงออกผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม  เช่น  เพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง ที่มักสอดแทรกคำสอนเกี่ยวกับจรรยามารยาทผู้หญิง  ได้แก่  เพลงไก่เถื่อน  ที่ว่า  “ไก่เถื่อนเหอขันเทือนทั้งบ้าน  ลูกสาวขี้คร้านนอนให้แม่ปลุก  ฉวยได้ด้ามขวานแยงวานดังพลุก  นอนให้แม่ปลุกลูกสาวขี้คร้านการงานเหอ”
 
การถ่ายทอดผ่านหนังตะลุง อันเป็นการละเล่นที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และจารีตทางเพศ  ได้แก่  พระเอกนางเอกในจินตนิยายของหนังตะลุง แม้จะทำด้วยหนังวัวหนังควาย แต่เวลาจะได้เสียกันตามบทหนังตะลุง  นายหนังจะไม่ให้ตัวละครได้เสียกันบนดินบนทราย หรือหลังสัมผัสดิน สัมผัสหญ้า เพราะถือว่าเป็นการเสพสังวาสของเดรัจฉาน  แลเชื่อว่าลูกที่จะมาเกิดก็จะเป็นเดรัจฉานด้วย  เป็นต้น
 
บุคลิกของคนใต้ในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในสมัยเมื่อประมาณกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา  ปรากฏผ่านสำนวนคำคล้องจองของท้องถิ่นที่ว่า “(คน) พัทลุงชังกั้ง  (คน) สงขลาหมัง  (คน) ตรังยอน  (คน) นครรุม”
 
ถอดรหัสได้ว่า  คนพัทลุงเป็นคนมุทะลุดุดัน  ไม่ยอมคน  ไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบ ดังนั้น  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพัทลุงจะมีคนนักเลงแบบ “รุ่ง  ดอนทราย”  “ดำ  หัวแพร” และชุมโจรที่ประกาศไม่เสียภาษีรัชูปการ หรือเงิน  ๔  บาท ให้แก่เมืองหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และในยุคการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์  เกิดกรณี “ถีบลงเขา  เผาถังแดง” ที่กงหรา มีคนตายมากกว่าสามพันศพ
 
ส่วนคนสงขลาเป็นคนค่อนข้างสุขุมรอบคอบ  ขาดความมั่นใจ หรือมักลังเล เมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ร้ายๆ  คนสงขลาจึงมีคนต้นแบบที่ชื่อ ป๋าเปรม  ที่ใช้ “ความสงบสยบความเคลื่อนไหว” และเป็น “เตมีย์ใบ้” คู่กับคำพูดติดปากที่ว่า “กลับบ้านเถอะลูก” กับผู้สื่อข่าวสายทำเนียบสมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัยติดต่อกัน จนยอมลงจากเก้าอี้เสียเอง พร้อมกับบอกว่า “ผมพอแล้ว”
 
ส่วนคนตรังมีลักษณะนิสัยยุคนอื่น หรือแปลให้เป็นมงคลคือ ให้กำลังใจ  ดังนั้น  คนตรังจึงเป็นฝ่ายที่ปลอดภัยที่สุดในสี่คนที่ไปด้วยกันแล้วเจอกับภัยเฉพาะหน้า  เพราะ “คนยอน” ย่อมยืนอยู่ข้างหลังคนดุ  คนที่คอยจ้องรุม และคนที่กล้าๆ กลัวๆ (หมัง)
 
ส่วนคนคนนครชอบรุม หมายความว่า รักพวกพ้อง แต่ต้องมีจำนวนมากกว่าจึงจะกล้าสู้ และต้องให้เพลี่ยงพล้ำก่อนจึงจะลงมือ  จึงไม่แปลกที่เหตุการณ์ร้ายๆ ที่นครศรีธรรมราชมักจะเกิดในลักษณะรุมกันกระทำ  เช่น  กรณีบุกเผาจวน หรือบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด (นายคล้าย  จิตพิมักษ์ - คนพัทลุง “คล้ายไข่เป็ด”) กรณีไม่แจกข้าวสารอาหารแห้ง และไข่เป็ดคราวน้ำท่วมใหญ่ปี  ๒๕๑๘  เป็นต้น
 
ภาคใต้ในอดีตเป็นดินที่เป็นจุดนัดพบทางอารยธรรมระหว่างวัฒนธรรมของตะวันออก อันมีจีนและอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ กับอารยธรรมตะวันตก โดยเฉพาะชาติยุโรป หรือพวกผิวขาวที่เดินเรือเข้ามาค้าขาย และล่าอาณานิคม พร้อมกับนำลัทธิความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเผยแพร่  ภาคใต้จึงได้รับวัฒนธรรมและอารยธรรมเหล่านั้นเข้ามา แล้วเผยแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งในราชอาณาจักรไทย และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน  เช่น  พุทธศาสนามาหยาน  พุทธศาสนาเถรวาท  พราหมณ์-ฮินดู และศาสนาอิสลาม  เป็นต้น
 
ในสมัยอยุธยา  ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น  หัวเมืองภาคใต้ได้ชื่อว่าเป็น “หัวเมืองบังคับยาก” โดยเฉพาะนครศรีธรรมราช  พัทลุง และสงขลา  เป็นแหล่งส่งส่วยให้แก่ราชธานี และปกครองกันเองในฐานะหัวเมืองประเทศราช  มีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวาย และส่งกองกำลังไปช่วยราชธานีเมื่อมีศึกสงคราม  บางยุคบางสมัยผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์  เช่น  นครศรีธรรมราช  สงขลา  เป็นต้น
 
วัฒนธรรมทางการเมือง  คือระเบียบแบบแผนพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่มชน ทั้งที่แสดงออก และไม่แสดงออก  ผ่านระบบต่างๆ ทางการเมือง  เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทั้งระบบ  วัฒนธรรมทางการมีการสั่งสมผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม โดยสถาบันครอบครัว  สถาบันการศึกษา  สถาบันศาสนา  สถาบันการเมืองการปกครอง  สถาบันสื่อสารมวลชน วัฒนธรรมทางการเมืองมี  ๓  ประเภทใหญ่ๆ คือ
 
๑) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ คือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบระบบเผ่า  ส่งผ่านทางทายาทผู้สืบทอดในฐานะหัวหน้าเผ่า ผู้นำประกอบพิธีกรรม
 
๒) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า คือ วัฒนธรรมทางการเมืองที่ยอมรับในอำนาจของคนบางกลุ่ม บางตระกูลว่าเกิดมาเพื่อเป็นนักการเมือง  นักปกครอง  การเมืองเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น  และ
 
๓)  วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือแบบประชาธิปไตย คือ คนในสังคมมีความคิดความเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และพยายามจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและทุกขั้นตอนของการเมืองทั้งระบบ
 
แต่จากการศึกษาพบว่า ไม่มีประเทศ หรือกลุ่มชนไหนในโลกมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบหนึ่งแบบใดโดยเฉพาะ  เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมพหุลักษณ์ หรือพหุวัฒนธรรม  จึงมักมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสมผสาน  ได้แก่
 
๑) วัฒนธรรมทางการแบบคับแคบ + ไพร่ฟ้า
 
๒) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ + การมีส่วนร่วม  และ
 
๓) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า + มีส่วนร่วม
 
สำหรับประเทศไทย และภาคใต้ก็คงมีวัฒนธรรมทางการเมืองทั้ง  ๓  แบบคละเคล้ากันไป ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ หรือคุณภาพของประชากรในแต่ละชุมชน
 
บางกลุ่มที่ถูกครอบงำด้วยการเมือง “แบบหัวหน้าเผ่า” หรือการเมืองแบบ “สาวก”  วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบก็มีความเข้มข้น
 
บางชุมชนสมาชิกได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ ก็จะมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า  นั่นคือ ประชาชนมีความตระหนักในความสำคัญของการเมือง แต่ก็ยังไม่กล้าเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นหนึ่งเท่านั้น  ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะทำได้
 
ส่วนในชุมชนที่มีคนชั้นกลางหนาแน่น และพยายามเรียกร้องการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ก็จะมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
 
การเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ในวันที่  ๔  สิงหาคม  ๒๕๕๖  จะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า คนสงขลามีวัฒนธรรมแบบใดมากที่สุด ระหว่าง  ๑)  วัฒนธรรมแบบคับแคบ-หมอผี หัวหน้าเผ่า หรือระบบเผ่า  ๒) วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้า-ยอมรับในบุคคลพิเศษผู้เกิดมาเพื่อเป็นนักการเมือง  และ ๓) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม-ประชาธิปไตย ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วม และตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักการเหตุผล  ข้อมูล  ผลประโยชน์ที่จะได้รับ  โดยเฉพาะผลประโยชน์ของส่วนรวม
 
อย่าลืมว่า “เลือกนายก อบจ.ไม่เข้าท่า  จะขายหน้ากันทั้งเมือง” ครับ!!


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น