xs
xsm
sm
md
lg

วัดพราหมณันต์-เทวาลัยปรัมบะนัม / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย 
 
ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี 1991 หมู่วิหารของฮินดูสร้างเสร็จราวปี 856  เพื่อฉลองชัยชนะของระไก  ปิกาดัน (ทายาทผู้สืบทอดราชวงศ์สัญชัย)  ลานตรงกลางของโบราณสถานแห่งนี้มีสิ่งปลูกสร้างแปดหลัง  หลังใหญ่สุดสามหลังเรียงจากเหนือจดใต้ คือ  จันดี  ศิวะ  มหาเทวา  สูง  47  เมตร  ขนาบข้างด้วยวิหารขนาดเล็กกว่าคือ  จันดี  วิษณุ (ทางเหนือ) และจันดี  พรหมมา (ทางใต้) ฝั่งตรงข้ามทางตะวันออกคือวิหารเล็กๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยบรรจุ “พาหนะทรง” ของเทพเจ้าแต่ละองค์  เช่น  วัวของพระศิวะ (นนที)  หงส์ของพระพรหม (ฮัสมา) และครุฑของพระวิษณุ  ปัจจุบันเหลือแต่นนที ใกล้ประตูทางเหนือ และใต้ของพื้นที่ ส่วนกลางซึ่งมีกำแพงล้อมรอบคือ วิหารราชสำนักสองหลัง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน  สูงราว  16   เมตร  จันดี  ศิวะ  มหาเทวาองค์ใหญ่สุดเพื่อถวายแด่พระศิวะ  มีอีกชื่อหนึ่งคือ รอรอ  จองกรัง (หญิงสาวร่างอรชร)  หมายถึงหมู่วิหารทั้งหมด  ตำนานท้องถิ่นกล่าวว่า  รอรอ  จองกรัง  เป็นเจ้าหญิงที่ถูกสาปโดยคู่หมายที่ไม่ได้รักกัน  นางขอให้ฝ่ายชายสร้างวัดให้เสร็จในหนึ่งคืน และทำลายผลงานที่เกือบเสร็จสิ้นของเขาด้วยการตำข้าวด้วยครกกระเดื่องก่อนเวลา ซึ่งเป็นสัญญาณของเช้าวันใหม่  เมื่อรู้ว่าถูกหลอก ฝ่ายชายโกรธมาก และสาปให้นางเป็นหิน  ตามตำนานหญิงสาวยังคงอยู่ที่นี่ในหอเหนือของวิหารในรูปสลักของนางทุรคาชายาของพระศิวะ  ในหออีกสามหลังมีรูปสลักของอกัสตียะ  “พระอาจารย์ของเทพเจ้า” หันหน้าไปทางใต้  พระคเณศ  โอรสแห่งพระศิวะมีเศียรเป็นช้างหันไปทางตะวันตก และพระศิวะสูง  3  เมตร (หอกลาง) หันไปทางตะวันออก
 
เทวาลัยปรัมบะนัม หรือโลโรจงกรัง (LoroJonggrang)  ประกอบด้วย ศาสนสถานใหญ่  3  หลัง  หลังกลางสร้างถวายพระอิศวร  หลังเหนือ สร้างถวายพระนารายณ์ และหลังใต้ สร้างถวายพระพรหม มีเทวาลัยขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า  3  หลัง  หลังกลางไว้รูปโคนนทิ และยังมีศาสนสถานน้อยๆ ล้อมรอบอีกเป็นจำนวนมากมาย  เทวาลัยเหล่านี้ได้รับการบูรณะเมื่อเร็วๆ นี้  และแสดงให้เห็นหลังคาซึ่งมีเส้นนอกเกือบเป็นเส้นตรง และลักษณะบางประการซึ่งต่อมาจะเป็นลักษณะของอาคารในสมัยชวาภาคตะวันออก
 
เทวาลัยปรัมบะนัม คงสร้างขึ้นราว พ.ศ.1400-1450  เมื่อไม่นานมานี้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้บางส่วนของวัดพราหมณันต์ หรือเทวาลัยปรัมบะนัมพังทลายลง และวิหารกลางทรุดเอียง  ผู้เข้าชมภายในวิหารจะต้องสวมหมวกสำหรับช่างก่อสร้าง เพื่อป้องกันอันตรายจากชิ้นส่วนของสิ่งปลูกสร้างหล่นกระทบศีรษะ  แต่เนื่องจากจำนวนหมวกไม่พอสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมเป็นระยะๆ และเป็นกลุ่มใหญ่ๆ  จึงต้องเข้าแถวรอคิวหมวกจากผู้ที่เข้าชมก่อนเอาหมวกมาคืนเจ้าหน้าที่ตรงทางออกจากบริเวณวิหาร
 
หากบุโรพทโธเป็นศาสนสถานอันยิ่งใหญ่ของศาสนาพุทธมหายาน  เทวาลัยปรัมบะนัม ของวัดพรหามณันต์ ก็เป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  และทั้งสองแห่งเป็นมรดกโลกที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย  ที่มีนักท่องเที่ยวจากใน และต่างประเทศทั่วโลกไปเยี่ยมชมมิได้ขาดในทุกฤดูกาล  โดยเฉพาะชนชาวมุสลิมของประเทศอินโดนีเซียที่ร่วมกันรักษาศาสนสถานของต่างศาสนิกไว้เป็นอย่างดี  ไม่คิดทำลายให้เสียหาย และสร้างบรรยากาศที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวอย่างเช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย.

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น