xs
xsm
sm
md
lg

พหุวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยไทย และมหาวิทยาลัยทักษิณ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
สังคมไทยเป็นสังคมพันทางระหว่างวิถีตะวันออกปะทะกับวิถีตะวันตกในทุกบริบท  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  การศึกษาและวัฒนธรรม  ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลจากการแผ่ขยายของอารยธรรมจากโลกตะวันตกที่เข้ามาครอบงำสังคมไทย และสังคมด้อยพัฒนาทั้งหลายทั่วโลก
 
ในมหาวิทยาลัยอันได้ชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของชนชั้นปัญญาชน (ตามความเข้าใจของพวกเขาด้วยกันเอง) ก็มีสภาพไม่แตกต่างไปจากนอกรั้วมหาวิทยาลัย  ว่ากันว่า “มหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร  สังคมก็เป็นอย่างนั้น”  ขณะเดียวกัน “สังคมเป็นอย่างไร  มหาวิทยาลัยก็เป็นอย่างนั้น”
 
ในขณะที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญหน้ากับความตกต่ำในเรื่องของการบริหารจัดการ จนต้องแสวงหาทางออกโดยการมีสภามหาวิทยาลัยมาเป็นผู้กำกับ  มีการนำแนวคิด “มหาวิทยาลัยในกำกับ” หรือ “มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ” มาบริหารจัดการมหาวิทยาลัย แทนระบบราชการที่เผด็จการ และล้าหลัง  ไม่เหมาะกับการจัดการศึกษาของชาติในระดับสูงสุดที่เรียกว่า “สถาบันอุดมศึกษา”
 
ขณะนี้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเรื่องของกระบวนการสรรหา ที่นำมาใช้ในการคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้าสู่อำนาจในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยทุกระดับ  โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาคม  การแปรรูปมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล  คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาในมหาวิทยาลัยต่างออกมากวักมือเย้วๆ เรียกให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในมหาวิทยาลัย  ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการ  คณบดี  อธิการบดี  ผู้ทรงคุณวุฒิ  และนายกสภามหาวิทยาลัย
 
แต่น่าอนาถใจที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากบุคลากรสักเท่าไหร่ และที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็ได้แต่นั่งฟังคนเพียงไม่ถึงสิบคน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเสนอความเห็น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผู้รับฟังอาจจะฟัง แต่ไม่เคยได้ยิน  เพราะไม่เคยนำไปประกอบการตัดสินใจในตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้นแม้แต่น้อย
 
แต่ที่น่าสนใจคือ บุคลากรในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย กลับให้ความสนใจกับกิจกรรมเซ่นไหว้เจ้าแม่  เจ้าพ่อ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย  เช่น  เจ้าพ่อมอดินแดง  ขอนแก่น  เจ้าแม่โจ้  สิงโตทองธรรมศาสตร์ และปู่เลียบ  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ถึงขนาดจัดงานทำบุญเซ่นไหว้ประจำปี
 
ปีนี้ฝ่ายบริหารวิทยาเขตสงขลา มีใบปิดประกาศเชิญชวนร่วมทำบุญเซ่นไหว้ปู่เลียบในวันพฤหัสบดีที่  14  มีนาคม  2556 โดยมีกำหนดการตั้งแต่เวลาแปดโมงเช้า  ผู้บริหาร  บุคลากร  นิสิต และแขกผู้มีเกียรติพร้อมกัน ณ ลานปู่เลียบ (ภายในมหาวิทยาลัย หน้าตึกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)  เวลาแปดนาฬิกาสามสิบนาทีเริ่มพิธีเซ่นไหว้  ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (ไม่ทราบว่าใครเป็นประธาน แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผู้บริหารระดับอธิการบดี  รองอธิการบดี หรืออย่างน้อยคณบดี)  พระสงฆ์ห้ารูปเจริญพระพุทธมนต์  สวดมนต์ไหว้พระ และพิธีกรรมตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธ (แนวพิธีกรรมบูชา)
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนคนที่จะเข้าร่วมพิธีกรรม  ความจริงจังของการเตรียมงานมีความแตกต่างกันกับหนังสือเชิญชวนเข้าประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ  ลงวันที่  4  มีนาคม  2556  ที่มีมาถึงบุคลากรสถาบันทักษิณคดีศึกษา วันที่  6  มีนาคม  2556  และให้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในวันที่  15  มีนาคม  2556  และ  18  มีนาคม  2556  โดยใช้เวลาเท่ากันกับพิธีเซ่นไหว้ปู่เลียบคือ ประมาณ  3  ชั่วโมง  แต่เริ่มช้ากว่าชั่วโมง และไม่มีใบปิดประกาศอย่างงานปู่เลียบ ซึ่งออกมาก่อนหน้านี้เป็นสองสามสัปดาห์แล้ว
 
พิธีกรรมเซ่นไหว้ปู่เลียบของฝ่ายบริหารวิทยาเขตสงขลา  มหาวิทยาลัยทักษิณ กับพิธีกรรมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ  เป็นภาพสะท้อนถึงรูปธรรมของ “คุณภาพของบุคลากร” ของมหาวิทยาลัยทักษิณ  ทั้งในระดับผู้บริหาร  ผู้กำกับ และผู้ปฏิบัติได้เป็นอย่างดีว่า พวกเขาฝากชีวิต และชะตากรรมไว้กับ “ความเชื่อดึกดำบรรพ์” มากกว่า ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการในระบบโลกสมัยใหม่ที่ทั่วโลกการยอมรับ  แม้ว่าพวกเขาจะมีระดับการศึกษาสูงถึงปริญญาเอก  ปริญญาโท และปริญญาตรีอย่างเทียบกันไม่ได้กับชาวบ้านในเขตรอบนอกรั้วมหาวิทยาลัย  แต่ปรากฏว่า พวกเขาก็ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากชาวบ้านเหล่านั้น ที่ชาตินี้ไม่มีโอกาสจะได้รับการศึกษาในระดับดังกล่าว
 
เมื่อเป็นเช่นนี้  คำกล่าวของผู้อาวุโสแห่งวงการศึกษาไทย  โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทักษิณที่เคยร่วมวงศ์วานว่านเครือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ดร.สาโรช  บัวศรี) ที่ว่า  “ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติบ้านเมือง  จะมีเกินคุณภาพของประชากรไปไม่ได้” ย่อมเป็นสัจธรรมตอกย้ำให้เห็น “ความเป็นมา  ความเป็นอยู่ และความเป็นไป” ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
 
ขณะนี้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังถูกบริหารจัดการโดยสภามหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เพราะ สกอ.ท้วงติงให้ทบทวนเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่ และนายกสภามหาวิทยาลัย  รวมทั้งหนังสือคัดค้านของกรรมการสภาคณาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ  แต่คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดนี้ และอธิการบดีที่กำลังจะหมดวาระรอบที่สอง ก็ได้ดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ ไปมากมาย โดยเฉพาะการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ครบวาระลง ทั้งในส่วนงานวิชาการ และส่วนงานอื่น
 
รวมทั้งกำลังจะสรรหาอธิการบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญสูงสุดของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย  แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ไม่เหมาะสม เกี่ยวกับเรื่องนี้  นอกจากบุคลากรเพียงหยิบมือที่ทนดูความไม่สมประกอบไม่ได้  ได้ทำหนังสือถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
 
จึงอยากเรียกร้องให้สภาคณาจารย์ และพนักงาน  องค์กรที่เป็นตัวแทนอันชอบธรรมของบุคลากรได้แสดงบทบาทเป็นปากเสียงแทนประชาคมอย่างสมศักดิ์ศรี  มีเกียรติภูมิ  เพราะถ้าพวกท่านไม่ทำหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าประชาคมนี้จะไปร้องหาความชอบธรรมจากใคร  นอกจากปู่เลียบที่ไร้หลักประกันอย่างยิ่งสำหรับการเผชิญหน้ากับกลุ่มผลประโยชน์ที่ชื่อ “สภามหาวิทยาลัย” และ “ผู้บริหารมหาวิทยาลัย”

กำลังโหลดความคิดเห็น