คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ปัจจุบันกระบวนการในการปฏิรูปทางการเมืองของการเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองของชาวบ้าน กำลังก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายของการเมืองแบบมีส่วนร่วมของประชาชน แทนการเมืองแบบตัวแทน
โดยการกำหนดกรอบเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่ง เข้าสู่อำนาจทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ หรือใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางทุจริต ซึ่งมีกระบวนการในการคัดสรรบุคคลเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยการเลือกตั้ง ที่เน้นไปที่ความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม โดยมีองค์กรอสิระคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง วิธีการเลือกตั้งและอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้เข้าสู่อำนาจทางการเมืองทุกประเภท ทุกระดับ มีความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมและสง่างามให้มากที่สุด
ในส่วนของการคัดสรรบุคคลเข้าสู่อำนาจในระบบราชการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง มีระดับการศึกษาค่อนข้างสูง มีวิถีชีวิตทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีกว่าประชาชนทั่วไป กลับพัฒนาไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการเมืองภาคประชาชน ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา
ระบบราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ พยายามหลีกเลี่ยงระบบการคัดสรรบุคคลเข้าสู่อำนาจแบบการเลือกตั้ง โดยมองว่าจะเกิดความเสียหายต่อระบบราชการ หากตกอยู่ในสถานการณ์แบบ “พวกมากลากไป” อีกทั้งอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก อันเนื่องมาจากการสนับสนุนคู่แข่งขันคนละฝ่ายกัน แม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นระบบหรือวิธีการคัดสรรคนที่ดีที่สุด และสอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยมากที่สุดก็ตาม
ในขณะเดียวกัน ระบบราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ พยายามจะแสดงให้เห็นถึงวิถีประชาธิปไตยในหมู่ชนชั้นกลาง จึงพยายามจะไม่ให้มีการแต่งตั้งในตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ เช่น อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยสำนัก คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น โดยหันไปใช้แบบสรรหาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเหล่านั้นในระดับหนึ่งก่อน แล้วเสนอให้สภามหาวิทยาลัย หรือวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งต่อไป
แม้ว่าระบบสรรหาดูเหมือนจะเป็นการพบกันครึ่งทาง ระหว่างการเลือกตั้ง กับการแต่งตั้ง ซึ่งต่างก็มีจุดดี จุดด้อย แตกต่างกันไป คือ การเลือกตั้งถูกมองว่าสร้างความแตกแยก ยึดระบบพรรคพวกมากกว่าความรู้ ความสามารถ ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์แบบพวกมากลากไป ในขณะที่การแต่งตั้งถูกมองว่าเป็นวีการของระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ไม่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยตามสมัยสากล การสรหาจึงเป็นการปิดจุดอ่อนของทั้งสองวิธีข้างต้น
ดังนั้น ในขณะที่การเมืองนอกระบบราชการ หรือการเมืองภาคประชาชนกำลังพัฒนาระบบการคัดสรร การตรวจสอบ และการถอดถอนบุคคลออกจากอำนาจผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีประสิทธิภาพ มีความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลทางการเงิน หรืออำนาจอื่นใด
แต่การเมืองของชนชั้นกลาง หรือปัญญาชนในมหาวิทยาลัย กลับสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากอำนาจบริหารเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากส่วนใหญ่คณะกรรมการสรรหามักจะขาดความน่าเชื่อถือ ศรัทธา จากบุคลากรในแต่ละสถาบัน เพราะคณะกรรมการสรรหามักจะมีที่มาจากความเห็นชอบของผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ที่มักจะมีจุดยืนที่แตกต่างไปจากประชากรส่วนใหญ่ หรือผลประโยชน์ของส่วนรวมอยู่เสมอ
ขณะนี้มหาวิทยาลัยทักษิณกำลังมีการสรรหาผู้มีความเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ตั้งแต่ตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก และอีกไม่นานจะมีการสรรหาอธิการบดี ซึ่งกรรมการสรรหาส่วนใหญ่ถูกครหาว่าไม่ตรงไปตรงมา ไม่มีความโปร่งใส ไม่สง่างาม ไม่มีเกียรติภูมิพอจะเป็นที่เชื่อถือของสาธารณชน ขาดความชอบธรรม ขาดจุดยืนรักษาผลประโยชน์ขององค์กร หันไปยึดถือประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกเป็นสำคัญ
จนมีคำกล่าวกันว่า “ถ้าอยากรู้ว่าใครจะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สรรหา ให้ดูที่ประธานกรรมการสรรหาว่า มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับใคร” ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาคม เป็นเพียง “พิธีกรรม” หลอกเด็กเท่านั้น
ระบบการสรรหามักจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงในภายหลัง หากว่ากระบวนการสรรหาไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ
จากข้อเท็จจริงในสังคมไทยที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการสรรหาส่วนใหญ่ เป็นได้แค่เครื่องมือในการส่งเสริม “สาวกที่ดี” ในสายตาของผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงาน หรือสถาบัน ให้ได้รับความสำเร็จในการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบธรรมเท่านั้น
ไม่ใช่การสรรหา “คนดี” มีความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ตามเจตนารมณ์ของระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการสรรหา
ในส่วนของประชากรส่วนใหญ่มีสิทธิ์แค่เสนอรายชื่อของผู้ที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว แต่อำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการสรรหาเพียงห้าคน และกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูด แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากกรรมการสรรหามากนัก
ระบบการสรรหาจึงนับว่าเป็น “การเมืองน้ำเน่าของชนชั้นกลางหรือปัญญาชน” โดยแท้จริง.