xs
xsm
sm
md
lg

เหลียวหลังแลหน้าการพัฒนา “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
 
๓๓ ปีของ “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” ถ้าเป็นคนก็เลยวัยเบญจเพสมา ๗-๘ ปีแล้ว เป็นหนุ่มใหญ่วัยเจริญพันธุ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมา ๓๓ พรรษา ย่อมรู้ผิดชอบชั่วดีพอสมควร เป็นผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์วิสัยทัศน์ และญาณทัศน์  มีทั้งมิตร และศัตรูพอประมาณ มีผู้บริหารระดับอธิการบดีมาแล้ว ๓ คน บางคนอยู่ ๒ สมัย  มีผู้อำนวยการมาแล้ว ๘ คน  ผ่านกระบวนการสรรหามาแล้ว ๑๖ ปี
 
มาถึงวันนี้ สถาบันทักษิณคดีศึกษามีความก้าวหน้าไปได้ระดับหนึ่งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ แต่ก็มีปัญหานานัปการ ทั้งปัญหาพื้นฐาน ปัญหาระดับโครงสร้าง ปัญหาการบริหารจัดการ ปัญหาความแตกแยกขัดแย้ง ปัญหางบประมาณ ปัญหาความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน และปัญหาอื่นๆ พอประมาณ ดังต่อไปนี้
 
ประการแรก ปัญหาการที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาถูกลดสถานภาพ จากส่วนงานวิชาการที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาเฉพาะทางคือ ไทยคดีศึกษา และวัฒนธรรมศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มาเป็นส่วนงานอื่นภายใต้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่แปรสภาพมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล มีสถานภาพเทียบเท่ากับสำนักหอสมุด สำนักคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยภูมิปัญญา ฯลฯ ทั้งๆ ที่มีภารกิจแตกต่างกันจนเทียบกันไม่ได้
 
แต่ก็ไม่มีใครท้วงติงสภามหาวิทยาลัย เพราะการเปลี่ยนแปลงสถานภาพดังกล่าวเกิดในช่วงที่สถาบันทักษิณคดีศึกษามีผู้อำนวยการรักษาการถึง ๒ ท่าน เนื่องจากผู้อำนวยการตัวจริงในสมัยนั้น (นายสถาพร ศรีสัจจัง) ลาออก โดยอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ มหาวิทยาลัยจึงส่ง รองอธิการไพบูลย์ ดวงจันทร์ และรองอธิการมนตรี สังข์มุสิกานนท์ มารักษาการคนละ ๖ เดือน จึงมีการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ได้ นายพิทยา บุษรารัตน์ มาเป็นผู้อำนวยการคนล่าสุด
 
ประการที่สอง บุคลากรสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่มีตำแหน่งเป็นนักวิจัย ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญตามภารกิจวิจัยของสถาบันทักษิณคดีศึกษา จำนวน  ๗  คน ถูกยุบตำแหน่งเป็นนักวิชาการทันทีที่ลาออกมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตามนโยบายการเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล
 
ทำให้สถาบันทักษิณคดีศึกษาเหลือนักวิจัยเพียงคนเดียวคือ น.ส.อุบลศรี อรรถพันธุ์ เนื่องจากยังไม่ลาออกไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ส่วนคนอื่นเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิชาการ หรือนักวิชาการชำนาญการ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัย ทำให้มีผลกระทบต่อสถาบันทักษิณคดีศึกษา ทั้งในส่วนของบุคคล และองค์กร
 
ประการที่สาม เกิดความขัดแย้งแตกแยกระหว่างกลุ่มที่มีบทบาทในการบริหารจัดการสถาบันทักษิณคดีศึกษา กับกลุ่มที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้มีอำนาจระดับสูงของมหาวิทยาลัย โดยคนกลุ่มนี้ถือตนว่าเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนม คลุกคลีตีโมงกับผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่สมัยที่อดีตรองอธิการบดีท่านหนึ่งยังเรืองอำนาจอยู่ แม้ว่าต่อมา จะเกิดการสูญเสียแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรกลุ่มนี้ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังคงแนบแน่น เป็นตัวตายตัวแทน อ้างอิง พึ่งพิงกันทั้งในทางบริหาร และในทางความสัมพันธ์ส่วนตัว
 
จนทำให้บุคลากรกลุ่มนี้ไม่สนใจไยดีต่อระบบการบริหารจัดการ หรือกติกาที่ผู้บริหารสถาบันทักษิณคดีศึกษากำหนดขึ้น ตามประเพณีปฏิบัติของสถาบันฯ จนนำมาซึ่งความแตกแยก ฝ่าฝืนกติกาต่างๆ นานา เพราะถือว่าพวกเขาฟังคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเท่านั้น และผู้มีอำนาจเหล่านั้นก็ปล่อยให้คนเหล่านี้แอบอ้างเป็นเครื่องมือทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งมาโดยตลอด โดยไม่สนใจไยดีต่อความรู้สึกของประชาคม และความเสียหายที่เกิดแก่องค์กร ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว มิหนำซ้ำยังเข้าใจผิดคิดว่า ความขัดแย้งแตกแยกมาจากผู้บริหารสถาบันฯ ด้วยซ้ำไป
 
ประการที่สี่ ศ.ชวน เพชรแก้ว ผู้อาวุโสที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในฐานะศิษยานุศิษย์ และกัลยาณมิตรทางวิชาการของ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๗ ที่ผ่านมาว่า
 
“ทำให้เห็นชัดเจนว่า (มหาวิทยาลัยทักษิณ) ให้ความสำคัญกับสถาบันทักษิณคดีศึกษาน้อยมาก น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่ทำขึ้น มหาวิทยาลัยทำเช่นนี้ได้อย่างไร...
 
“ในส่วนของแผนพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ๕ ปี…จุดแข็งที่ว่า บุคลากรมีศักยภาพทางด้านวิชาการ และวิจัย และมีความพร้อมในการปฏิบัติงานเป็นความจริงหรือ ถ้าเป็นจริงต้องมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับในลักษณะของคุณค่า และผลกระทบที่ชัดเจน และต้องมีการประเมินจากบุคคลภายนอก (ถ้าคิดอย่างปัจจุบัน) จึงคิดเช่นนี้ตามแบบเก่าๆ ไม่ได้ ถ้าคิดเช่นนี้ก็จะขัดแย้งกับแผนปฏิบัติงาน…
 
“ไม่เห็นระบบคิดเกี่ยวกับงานวิจัย หรืองานวิชาการที่โดดเด่นเลย หากพิจารณาด้านจุดอ่อน และปัจจัยคุกคาม  ในเมื่อยอมรับว่ามีอยู่เช่นนี้ แต่จากการดูเป้าหมายใน ๕ ปี กลับไม่มีสาระให้เห็นชัดว่า นำจุดอ่อนและปัจจัยคุกคามดังกล่าวมาใช้ให้เป็นประโยชน์เลยในการพัฒนา…ไม่มีสาระที่แสดงถึงการคิดที่จะแก้จุดอ่อน หรือภัยคุกคามดังกล่าว…
 
“การเปลี่ยนสถานภาพสถาบันทักษิณคดีศึกษา จากหน่วยงานทางวิชาการเทียบเท่าคณะ มาเป็นส่วนงานอื่น ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อบทบาทหน้าที่ และเกียรติภูมิของหน่วยงาน เป็นสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ การปล่อยให้เป็นเช่นนี้นั้น ลองพิจารณาว่าลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจัยภายในทั้งของสถาบันฯ และมหาวิทยาลัยใช่ไหม ผมคิดว่าหากไม่สามารถแก้ไขได้ เท่ากับการล่มสลายของสถาบันฯ เป็นไปได้สูง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดจุดอ่อนที่หาทางแก้ปัญหาได้ยาก เมื่อมีจุดอ่อนเกิดขึ้นเช่นนี้ คำถามก็คือ ภายใน ๓-๕ ปีสถาบันทักษิณคดีศึกษาจะเป็นอะไรกันแน่”
 

 
จากปัญหาหลักๆ เบื้องต้น จึงได้พยายามคิดหาทางออกให้แก่การพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาในเชิงการบริหารจัดการ ในวาระที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาก่อตั้งมาครบรอบ ๓๓ ปี และมูลนิธิทักษิณคดีศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันทักษิณคดีศึกษาโดยตรงครบรอบ ๓๐ ปี และกำลังจะมีการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาคนใหม่ โดยมีผู้สมัคร และได้รับการเสนอชื่อจำนวน ๕ คน จะแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ นี้
 
มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา ร่วมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา และมูลนิธิศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ จะจัดสัมมนาทางวิชาการในวันที่ ๑๕ มกราคมนี้ โดยเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นกัลยาณมิตรของ .สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาสถาบันทางวัฒนธรรม เช่น .ดร.วิษณุ เครืองาม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การจัดการทางวัฒนธรรมในทศวรรษหน้า” .ดร.ครองชัย หัตถา บรรยายเรื่อง “สถาบันทักษิณคดีศึกษา กับการพัฒนาสู่อาเซียน”
 
.ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์ และ รศ.ศรีศักร  วัลลิโภดม นำเสวนาเรื่อง “การบริหารจัดการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในอนาคต”  ดำเนินรายการโดย ภิญโญ  ไตรสุริยธรรมา พิธีกรรายตอบโจทย์และสยามวาระ ทีวีไทยพีบีเอส และร่วมระดมความคิดเห็นในหัวข้อเดียวกันจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสถาบันทักษิณคดีศึกษา เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ตัวแทนคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ผู้อำนวยการฯ ประธานมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา ประธานมูลนิธิศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นต้น
 
แนวคิดเบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การแสวงหารูปแบบโครงสร้างในการบริหารจัดการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในรูปแบบใหม่ เช่น องค์การมหาชนแบบศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หอภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นต้น ขจัดระบบอุปถัมภ์ในมหาวิทยาลัย ทบทวนสถานภาพของบุคลากรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจของสถาบันทักษิณฯ การแสวงหารายได้จากเงินนอกงบประมาณ เช่น การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบุคลากร และสถาบันฯ การจัดโครงการหารายได้จากทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ การสร้างเครือข่ายทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ เป็นต้น
 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น