xs
xsm
sm
md
lg

ใคร?...แช่แข็งมหาวิทยาลัย/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

แนวคิดในการนำมหาวิทยาลัยไทยออกจากระบบราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล หรือ “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” มาจากข้อสรุปที่ว่า ระบบราชการไทยล้าหลัง ไม่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ไม่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการทั้งในเรื่องการบริหารบุคคล การบริหารการเงิน การพัสดุ โดยเฉพาะเสรีภาพทางวิชาการ แต่ครั้นมหาวิทยาลัยบางแห่งออกนอกระบบไประยะหนึ่งแล้ว ในขณะนี้กลับมีปัญหาดังกล่าวมากขึ้นกว่าเดิม

กล่าวคือ นอกจากจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และเสรีภาพในทางวิชาการ แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งกลับพบปัญหาอุปสรรคเพิ่มขึ้น แทนที่จะออกนอกระบบกลับมีระบบซ้อนระบบขึ้นมาอีก ถือเป็น “การแช่แข็ง”การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยไทยให้อยู่ใน “ยุคดึกดำบรรพ์” มากยิ่งขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ประการแรก เนื่องจากผู้มีบทบาทในการยกร่างระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ ล้วนเป็นคนในระบบ หรืออยู่ในระบบราชการมาตลอดชีวิต และส่วนใหญ่มีการคัดลอกตามๆ กันมาแทบไม่ผิดเพี้ยน

ประการที่สอง กระบวนการสรรหาในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาสังคม หรือประเทศชาติบ้านเมือง ส่วนมากมักจะอยู่ในวังวนของระบบอุปถัมภ์ สภามหาวิทยาลัยเป็นที่อยู่ที่ยืนของผู้อาวุโสที่หมดบารมีในแวดวงราชการ และธุรกิจที่ตนเองเคยเติบโตมา บริหารจัดการมหาวิทยาลัยอาศัยข้อมูลจากการรายงานของฝ่ายบริหาร ประกอบกับเอกสารจากแฟ้มหนาๆ ที่ไม่ค่อยมีเวลาอ่าน ทำความเข้าใจ มติหลายอย่างจึงออกมาแบบสวนกระแสของประชาสังคม

ประการที่สาม จากสาเหตุตามข้อแรก และข้อสอง ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ การเงิน การคลัง และการพัสดุที่อยู่กับกฎระเบียบที่ล้าหลัง ไม่ทันการณ์ของระบบราชการเดิมๆ ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่รู้ และสภามหาวิทยาลัยที่ไม่มีเวลาให้แก่การดูแลเรื่องนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ส่วนหนึ่งคอยชี้เป็นชี้ตายการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย จนสร้างความเอือมระอาให้แก่บุคลากร และบุคคลภายนอกที่จำเป็นต้องมาติดต่อทำธุรกรรมกับมหาวิทยาลัยบางแห่ง จนถึงขนาดร่ำลือกันไปทั่วว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งมีเจ้าหน้าที่ “เจ้าปัญหา” ที่สร้างความปั่นป่วนจนแม้ผู้บริหารเองก็เอือมระอา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังปล่อย “ซากดึกดำบรรพ์” เหล่านี้ไว้ในมหาวิทยาลัยยุคนี้ก็ไม่ทราบ

ประการสุดท้าย ประชาคมในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น (บางแห่ง) ขาดความรู้ ความเข้าใจ และขาดจิตสำนึกสาธารณะที่พึงมีต่อองค์ที่ตนอยู่ ต่อสังคมรอบข้างที่คาดหวัง และประเทศชาติที่แบกรับภาระให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นดำรงอยู่ โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา และผู้ปกครองที่ต้องจ่ายเพื่อให้กิจการของมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างสมเกียรติภูมิ

ในคราวที่บางมหาวิทยาลัยกำลังจะปรับเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล หรือมหาวิทยานอกระบบ ฝ่ายที่คัดค้านการออกนอกระบบให้เหตุผลในการคัดค้านไว้ว่า มหาวิทยาลัยอาจจะประสบปัญหาเรื่องการมีผู้บริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ และขาดหลักธรรมาภิบาล

โดยเฉพาะการขึ้นค่าหน่วยกิตเพื่อเป็นรายได้หลักของมหาวิทยาลัย แทนที่จะไปแสวงหาแหล่งทรัพยากรงบประมาณจากแหล่งอื่น แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการออกนอกระบบก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่า สิ่งที่ฝ่ายคัดค้านกลัวจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่กี่ปีให้หลัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ฝ่ายคัดค้านเคยทักท้วงเอาไว้ก็เกิดขึ้นจริงๆ และผู้ที่เคยยืนยันไว้ในวันนั้นหลายคนก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับกรรมการสรรหาที่พิจารณาเลือกคนไม่เข้าท่ามาดูแลสถาบันมหาวิทยาลัย และนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ความตกอับ ในหลายกรรมหลายวาระก็ไม่เห็นมีใครกล่าวขอโทษประชาคมแม้แต่คำเดียว มิหนำซ้ำ ยังสร้างความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี

ในทางการเมืองกำลังมองว่า การประท้วงรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมือง เป็นการแช่แข็งการเมืองไทย เพราะไม่อาจจะยอมรับความเป็นจริงในเรื่องการเมืองของนักเลือกตั้งที่อ้างเพียงว่า มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมด้านอื่นๆ แต่ในมหาวิทยาลัยกลับมีการแช่แข็งที่น่ากลัวกว่าหลายเท่า เพราะสถาบันทางสังคมแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมที่ทำหน้าที่ผลิตคนดีมีคุณภาพให้แก่ชาติบ้านเมือง

วันนี้กำลังตกอยู่ในมือของคณะบุคคลที่ไม่มีหลักธรรมาภิบาล ผู้บริหารที่ขาดประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ถูกมองว่าเป็น “ซากดึกดำบรรพ์” เป็นผู้กำกับทิศทางการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย แม้ว่าบางมหาวิทยาลัยจะมีอธิการบดีที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย แต่พอไปถึงระดับเจ้าหน้าที่กลับไม่เป็นไปตามที่อธิการบดีรับปาก ครั้นเจ้าของเรื่องอ้างถึงข้อตกลงของอธิการบดี เจ้าหน้าที่ (บางคน) กลับสวนออกมาทันควันว่า “ถ้ายังงั้นก็ไปเอาที่อธิการบดี หรือถ้าอธิการบดีว่าทำได้ก็ให้อธิการบดีทำให้สิ” อะไรประมาณนั้น (อันนี้ไม่ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไหนนะครับ)

เรากำลังตื่นเต้นกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีกสองสามปีข้างหน้า หลายคนเกรงว่าเราจะสู้เพื่อนบ้านอาเซียนไม่ได้ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องภาษาต่างประเทศ คุณภาพของคน ผลผลิตจากมหาวิทยาลัย ดังนั้น เราจึงมีสิ่งที่น่าจะแตกต่างกับเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่หลายอย่างที่อาเซียนสู้เราไม่ได้ เช่น ระเบียบที่ล้าหลัง เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ และเข้มแข็งยิ่งในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย

หากเราแก้ไขจุดอ่อนนี้ไม่ได้ ก็ควรจะรักษาไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เช่นเดียวกับซุ้มมือปืน การทุจริตคอร์รัปชัน ระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ ที่ล้าหลังทั้งหลาย

กำลังโหลดความคิดเห็น