คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
หลังการตายของพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลาท่ามกลางความคลุมเครือสงสัยของใครบางคน และความชัดเจนแจ่มแจ้งของใครหลายคนถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการฆาตกรรมในครั้งนี้ ไม่ว่าใครจะคาดผิดคาดถูก แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความแตกแยกบาดหมาง และหวาดระแวงของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประชาชน ฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และฝ่ายบ้านเมืองที่อาศัยการตายของพีระเป็นใบเบิกทางไปสู่เป้าหมายของแต่ละฝ่าย
ในส่วนของฝ่ายการเมือง ถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่อยู่ข้างพีระ และนิพนธ์ บุญญามณี ฝ่ายที่สองคือ ฝ่ายที่อยู่ข้างกิตติ-อุทิศ ชูช่วย ฝ่ายที่สามคือ ฝ่ายที่ถอนตัวจากการร่วมทีมกับพีระก่อนที่พีระจะถูกฆาตกรรม และทั้งสามฝ่ายนี้ล้วนมีสายสัมพันธ์เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงร่วมสังฆกรรมทางการเมืองกันมาแล้วทั้งนั้น เพียงแต่วันนี้ต้องแยกกันเดิน และกลายเป็นขั้วตรงข้ามที่ต้องแข่งขันเอาชนะกันในสนามการเมืองทั้งโดยตรง และโดยอ้อม สิ่งที่น่ากลัวก็คือว่า เมื่อเพื่อนเปลี่ยนสถานภาพเป็นคู่ต่อสู้และเลือกวิธีการเอาชนะกันนอกกติกา โดยเฉพาะใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือก อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมสงขลา เพราะคนเหล่านี้ล้วนมีบทบาทนำในการพัฒนา และดูแลเมืองสงขลาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ในส่วนของฝ่ายประชาชนก็แบ่งเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพีระ และนิพนธ์ ฝ่ายนี้อาจจะเชื่อโดยสนิทใจว่า คนที่ฆ่าพีระคือคู่ขัดแย้งตามที่สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้นำตามทิศทางของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ฝ่ายที่สองคือ ฝ่ายที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับอุทิศ-กิตติ ชูช่วย และพวกฝ่ายนี้ไม่เชื่อว่าคนที่ตัวเองรัก และศรัทธาจะมีส่วนในการตายของพีระในระดับผู้จ้างวานตามกระแสข่าวที่กำลังโหมกระพือ หากผลในทางคดีไม่ออกมาชัดเจนในเร็ววัน ฝ่ายที่สามคือ ฝ่ายที่ไม่ใกล้ชิดสนิทสนมกับใครเป็นพิเศษก็อาจจะเปลี่ยนสถานภาพจากเดิมไปสังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายข้างต้น สร้างความสับสนแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมชาวสงขลาอย่างน่าเป็นห่วง
ในส่วนขององค์กรพัฒนาเอกชน ด้วยความรักความศรัทธาที่มีต่อพีระ นักการเมืองในฝันของพวกเขาอาจจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ถูกนำไปผูกพันกับภารกิจหลักของพวกเขา และพวกเขาส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเชื่อไปในทางเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อมวลชน และนักการเมือง และประชาชนฝ่ายพีระว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของพีระ และกำลังกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้บงการให้ได้ภายในหนึ่งเดือน มิฉะนั้น พวกเขาจะกดดันให้โอนคดีนี้ไปให้ดีเอสไอเป็นผู้รับผิดชอบ ปัญหาก็คือว่า ถ้าตำรวจไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของพวกเขาได้อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ ความกดดันทั้งหมดในคดีนี้นอกจากจะอยู่ที่ผู้ต้องหาที่กำลังหลบหนี และจำเลยของสังคมแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความกดดันไม่น้อยไปกว่ากัน
ในส่วนของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยเฉพาะตำรวจ เมื่อเวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่าแต่ความคืบหน้าในคดียิ่งน้อยลงทุกวัน จนถึงวันนี้ ยังควบคุมตัวผู้ต้องหาที่มามอบตัวเองได้เพียงคนเดียว พยานหลักฐานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่ได้ในวันแรกๆ ไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นมาเลย โดยเฉพาะพยานหลักฐานสำคัญคือ อาวุธปืนที่ใช้ในการสังหาร จึงทำให้ตำรวจต้องแบกรับความกดดันไว้แต่ฝ่ายเดียว ท่ามกลางสายตาหวาดระแวงของทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งก็น่าเห็นใจตำรวจที่เร่งรัดเกินไปก็ไม่ดี เพราะอาจจะเกิดความผิดพลาด แต่หากช้าเกินไปก็อาจจะถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพ และยิ่งคว้าน้ำเหลวในการเข้าค้นพื้นที่ที่ต้องสงสัย ด้วยกองกำลังหน่วยคอมมานโดที่มีความพร้อมเกินความจำเป็นในการเข้าค้นบ้านนายกิตติ ที่มีเพียงภรรยาออกมาต้อนรับ และการค้นที่ทำงานของนายอุทิศ ยิ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ขัดสายตาประชาชน (ยกเว้นฝ่ายที่ไม่ชอบอุทิศ)
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนสงขลาในวันนี้ก็คือว่า การตายของพีระกำลังจะสร้างความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหญ่ในหมู่ชนคนสงขลาจำนวนหนึ่ง ที่บังเอิญถูกผลักดันให้เข้ามาสู่วังวนของความขัดแย้งที่มีที่มาหลากหลายจนยากที่จะแยกแยะได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง นักเลือกตั้งกับประชาชน นักการเมืองท้องถิ่นผู้รับผิดชอบโครงการกับนักอนุรักษ์และนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน นักการเมืองกับนักการเมือง นักเลงกับนักเลง เจ้าของนักเลงกับเจ้าของนักเลง ฯลฯ ในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้วัฒนธรรมความรู้สึก ความเชื่อ และความศรัทธาในการตัดสินใจมากกว่าการใช้ความรู้ ความคิด และปัญญาที่จะเชื่อที่จะศรัทธา
ความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันมันไม่ใช่เรื่องแปลกของโลก หรือสังคม เพราะโลก และสังคมนี้อยู่มากับความขัดแย้ง และความแตกต่างมาโดยตลอด แต่วิธีการจัดการกับความขัดแย้งต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งสูงกว่าสังคมเผด็จการอย่างแน่นอน เพราะต่างให้เกียรติทุกคนเท่าเทียมกัน จึงย่อมต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างให้เป็นปกติวิสัย ต้องพัฒนาให้ถึงจุดที่ว่า
“ข้าพเจ้าจะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ท่านได้พูดในสิ่งที่ท่านต้องการจะพูดแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านจะพูดก็ตาม” แต่ที่น่าเศร้า วันนี้สังคมไทยยังพัฒนามาถึงขั้นแค่ “ข้าพเจ้าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ท่านได้พูดในสิ่งที่ท่านต้องการจะพูด แม้ว่าข้าพเจ้าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านจะพูดก็ตาม”
จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ยังเป็นกลาง และมีสติสัมปชัญญะอยู่ที่จะช่วยกันประคับประคองสังคมให้ออกจากวังวนของความขัดแย้ง และความรุนแรง เพราะมีคนเคยกล่าวว่า “อย่ากลัวเลยกับนักฆ่า และอาชญากร เพราะอย่างดีเขาก็แค่ฆ่าคนได้เพียงไม่กี่คน แต่ความตายที่เรียกว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ล้วนเกิดจากการเฉยเมย หรือดูดายของคนส่วนใหญ่ผู้ไม่สนใจอะไรเลยแทบทั้งสิ้น”