คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
วันที่ 30 ตุลาคม 2555 เวลาประมาณ 14:30 น. นายพร้อม บุญฤทธิ์ หรือ “หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (หนังตะลุง) และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้สิ้นลมหายใจด้วยโรคไตวายเรื้อรังอย่างสงบที่บ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง สิริรวมอายุ 78 ปี ปิดฉากชีวิต “อาคันตุกะ นักเล่านิทานยามค่ำคืน” ในฐานะนายหนังตะลุงที่มีขันหมากการแสดงมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาประมาณ 60 กว่าปี ทั้งในงานรื่นเริง งานวัด งานศพ และงานแก้บน
ถิ่นฐานบ้านเกิด และภูมิหลัง
เด็กชายพร้อม บุญฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน ในครอบครัวศิลปิน ณ บ้านชายห้วย ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของนายกราย หรือนายพรัด กับ นางแปรง บุญฤทธิ์ ซึ่งชาวบ้านรู้จักกันในนามของ “หนังกรายชายแดน” หรือ “หนังพรัดโห” เนื่องจากเป็นชาวบ้านโห ทางตะวันออกของบ้านแหลมโตนด ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 1 คน คือนางปราณี พรหมช่วย
วัยเด็กอาศัยอยู่กับยาย เมื่ออายุ 9 ขวบ เข้าเรียนที่โรงเรียนชัยแก้วศึกษา วัดป่าตอ ตำบลโตนดด้วน เรียนชั้นเตรียมได้ 10 วัน เลื่อนชั้นไปเรียนชั้น ป.1 สามารถอ่านคำกลอนพระอภัยมณีได้เพราะลุง และน้าช่วยสอนให้
เมื่อสอบ ป.1 ได้ก็ผ่านชั้นไปเรียน ป.3 โดยไม่ได้เรียน ป.2 เรียน ป.3 ได้ 1 ภาคเรียนก็หนียาย และหนีโรงเรียนไปอยู่กับพ่อที่บ้านโห เข้าเรียนที่บ้านแหลมโตนด ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ในชั้น ป.4 เมื่อปิดภาคเรียนก็หัดเล่นหนังตะลุงทุกคืน ตัดสินใจออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 11 ปี ติดตามพ่อไปเล่นหนังตะลุง และเที่ยวเตร่กับเพื่อนๆ เมื่ออายุประมาณ 15 ปี ติดตามพ่อไปอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะหนึ่ง ต่อมาเกลอของพ่อ คือนายอินทร์ ชูเดช ชาวนาปะขอ ตำบลนาปะขอ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ได้ขอไปเป็นบุตรบุญธรรม
นายหนังมากเมีย
อายุ 19 ปี ฉุด น.ส.กิ้มแน่น ปลอดพัก ชาวบ้านนาปะขอ พาหนีไปแล้วกลับมาสู่ขอเข้าพิธีแต่งงานตามประเพณีภายหลัง มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือนายกลิ่น กับเด็กหญิงกล่อมใจ บุญฤทธิ์ (เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 9 เดือน)
ต่อมา เมื่อมีชื่อเสียงมีภรรยาอีก 9 คน คือนางเนื่อง ศรีวิโรจน์, นางสารภี โพธิ์ทอง, นางสารภี บัวทอง, นางวิไล อินทฤทธิ์พงศ์, นางจันทรา แซ่ยิ่ง, นางละเมียด ชูช่วย, นางหนูภักดิ์, นางศศิธร บัวทอง และนางวิมลวรรณ อินทฤทธิ์พงศ์
ก่อนจะโลดแล่นบนเส้นทางนายหนังตะลุง
เริ่มสนใจเล่นหนังตะลุงตั้งแต่เรียนชั้น ป.4 ที่โรงเรียนบ้านแหลมโตนด จากความใกล้ชิดกับพ่อ เห็นพ่อเล่นหนังบ่อยๆ เกิดความชอบ และพยายามเอาอย่างพ่อ โดยเริ่มหัดออกฤาษี ออกพระอิศวรแทนพ่อ ต่อมา “หนังสีหมอก” ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์หนังตะลุงคนแรก เป็นคนขาด้วน ขี่ควายมาที่โรงหนังแล้วยื่นรูปหนังตะลุงให้เป็นการ “ครอบมือ” ในการแสดงหนังตะลุงให้ตามขนบนิยมในการเป็นนายหนังตะลุง ก่อนจะออกโรง หรือเดินโรงแสดงหนังตะลุงเป็นอาชีพต่อไป
ตลอด 5 ปี ที่อยู่บ้านพ่อตา แม่ยาย ที่บ้านหนองกะ ตำบลนาปะขอ พยายามฝึกขับกลอนหนังตะลุง อ่านหนังสือ จนพ่อตาแม่ยายเห็นใจลงทุนซื้อเครื่องดนตรีหนังตะลุงชุดแรกให้ ประกอบด้วย จอหนัง โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ และรูปหนังตะลุง 1 แผง ต่อมา ก็ออกโรงแสดงหนังตะลุงพร้อมลูกคู่อีก 4 คน ได้ค่าแสดงบ้าง ไม่ได้บ้าง 2-3 ปีต่อมา เริ่มได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้นจนมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่ออายุ 25 ปี
นายหนังยอดนิยมของภาคใต้ผู้สร้างตำนานอันลือลั่น
ด้วยความรู้ในระบบการศึกษายังไม่จบ ป.4 ด้วยซ้ำไป แต่นายหนังคณะนี้สามารถสร้างการยอมรับในวงการหนังตะลุง จนกลายเป็นตำนานนายหนังที่แสดงหนังในโรงหนัง หรือวิกหนังฉายภาพยนตร์เป็นคณะแรก นำเอาดนตรีสากลมาใช้ประกอบในการแสดงหนังตะลุงผสมผสานกับเครื่อง 5 จนได้รับฉายาว่า “พร้อมน้อย ตะลุงสากล” เปลี่ยนรูปหนังตะลุงขนาดเล็กมาเป็นขนาดใหญ่ที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขยายโรงหนังตะลุงจากกว้าง 3 เมตร เป็น 5 เมตร เพื่อให้อลังการมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดลีลาการแสดงการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร เช่น การบรรยายประกอบการแสดงด้วยสำนวนโวหารที่กินใจจนนายหนังรุ่นเดียวกัน และรุ่นหลังเลียนแบบตามๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีนายหนังคณะไหนสามารถจะหนีเงาของหนังพร้อมน้อย ตะลุงสากลได้พ้น แม้แต่การเติมสร้อยนามของหนังคำว่า “น้อย” ที่มีตามๆ กันมา เช่น หนังเคล้าน้อย, หนังเลิศน้อย, หนังประยูรน้อย, หนังแคล้วน้อย, หนังครื้นน้อย, หนังเลิศน้อย, หนังประเสริฐน้อย ฯลฯ จนหนังพร้อมเคยแซวเล่นอย่างเจ็บแสบว่า “ไม่นานคงมีหนังเปรตน้อย”
ลีลาการบรรยายด้วยสำนวนที่คุ้นหู และเป็นที่ติดปากแม้แต่เด็กๆ ว่า “สวัสดีครับผู้ชม สวัสดีกันในตอนค่ำของคืนนี้ และสวัสดีกันในตอนเช้าก่อนจากกันในวันพรุ่งนี้ กระผมหนังพร้อมน้อย อาคันตุกะนักเล่านิทานในยามค่ำคืน จิตรกรใช้อารมณ์ผสมสี นักดนตรีใช้อารมณ์ผสมเสียง ผมพร้อมน้อยใช้คารมผสมสำเนียง…”
เนื่องจากหนังพร้อมน้อย มีสายเลือดศิลปินพื้นบ้านเต็มตัว เพราะบรรพบุรุษฝ่ายพ่อล้วนเป็นศิลปินพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นนายหนังตะลุง นายโรงโนรา และหัวหน้าคณะลิเก เริ่มเล่นหนังตะลุงด้วยใจรัก ครั้นเมื่อโด่งดังก็มีการแสดงหนังตะลุงเป็นอาชีพ หนังพร้อมน้อยกลายเป็นหนังยอดนิยมของภาคใต้เพราะมีปัจจัยของหนังดี ดังต่อไปนี้
1.เสียงดี เสียงดัง ฟังชัด ขับกลอน และพากย์บทสนทนาต่อเนื่องกันคืนละ 7-8 ชั่วโมง โดยเสียงไม่แหบแห้ง เลียนเสียงตัวละครได้หลายเสียง
2.มีความรอบรู้ เนื่องจากชอบอ่านหนังสือมาก และอ่านได้ทุกประเภท รู้จักคนกว้างขวางทุกระดับทุกวงการ ทุกเพศทุกวัย เป็นคนนักเลง หรือลักเล่น สามารถนำเอาเรื่องราวที่รับรู้มาสอดแทรกในการแสดงได้เป็นอย่างดีและลงตัว
3.มีศิลปะในการชักรูปหนังตะลุง สามารถสวมวิญญาณให้แก่รูปหนังตะลุงที่เชิดได้ดีทุกตัว และสามารถถอด และสวมวิญญาณสับเปลี่ยนได้อย่างฉับพลัน
4.มีไหวพริบปฏิภาณในการขับกลอน การนำเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเหตุการณ์ในท้องถิ่นมาสอดแทรกในเนื้อเรื่อง มุกตลกได้ตลอดเวลา
5.มีอารมณ์ขัน สามารถสร้างบทตลกได้ตลอดระยะเวลาที่แสดง
6.มีความสามารถในการจำ สามารถจำบทกลอนในวรรณคดีไทยเอามาใช้ในการแสดงได้อย่างเหมาะสม สอดคล้อง และถูกต้อง
7.ลูกคู่มีมากถึง 11 คน เล่นดนตรีได้เป็นที่ถูกใจของผู้ชม โดยเฉพาะวัยรุ่น เช่น มือกลองที่ชาวบ้านรู้จักกันในนามว่า “อ้ายเครา”
8.มีรูปกาก หรือตัวตลกที่ชื่อ “ตาหลำ” หรือ “อ้ายหลำ” อันเป็นเอกลักษณ์ของหนัง พร้อมเป็นเสียงของนายหนัง โดยเฉพาะมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถบนบานให้มีลูกได้สำหรับคนที่มีลูกยาก เมื่อมีลูกสมความต้องการก็รับหนังพร้อมมาแก้บน
ทัศนะส่วนตัวต่อการแสดงหนังตะลุง
1.นายหนังตะลุงต้องฝึกฝนอย่างหนัก “หลักของหนังตะลุงจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าพอทำท่าหัดหนังแล้วจะเป็นนายหนังเลย ถ้าเล่นหนังไม่เป็นใครจะรับเรา เราต้องเล่นให้เป็น ต้องฝึกฝนทุกอย่าง การขับบท (กลอน) คนที่เป็นนายหนังตะลุง วันหนึ่งต้องให้เวลาแก่บทหนังตะลุงสักชั่วโมงก็ยังดี ฝึกแบ่งเสียง รู้จักใช้เสียงอย่างเป็นธรรมชาติ ต้องหาคำจำมาขับ”
2.นายหนังต้องเป็นคนเจ้าชู้ “สิ่งที่นายหนังทิ้งไม่ได้คือเจ้าชู้ คนไม่เจ้าชู้เล่นหนังไม่ดี สังเกตดูนายหนังที่มีเมียคนเดียวไม่ดังสักโรง มันไม่งาม ไปตรงไหนให้ดูคนงามให้หมดแล้วดัง ผมอารมณ์มันชอบพวกผู้หญิง สมัยเด็กๆ ชอบแม่ครัว ครั้งหนึ่งไปเล่นงานบวชนาค 2 คืน ชอบแม่ครัวคนหนึ่งมันงามไม่รู้จะทำอย่างไร นอนเขียนกลอนบนโรงหนังเพื่อเอาไว้ขับจีบแม่ครัวคืนนี้ เขียนกลอนเสร็จกลางคืนก็ขับเลย
3.การเล่นหนังต้องตั้งความหวัง “คนทุกคนที่ทำงานต้องมีความหวัง ถ้าไม่มีความหวังมันทำไม่ได้ การเล่นหนังก็เหมือนกัน ต้องมีความหวัง เราต้องตั้งความหวังไว้ว่า เราจะไปให้ถึงตรงไหน
4.คนเล่นหนังต้องไม่ห่วงสมบัติ “คนเล่นหนังปกติถ้ายังห่วงสมบัติอยู่ไปไม่รอดสักโรงหนึ่ง มีหนังหัดพร้อมผมหลายคนไปไม่รอด เล่นดี บางคนเล่นดีกว่าผมแต่ว่ามันห่วงสมบัติ ต้องไปจมลัน (จมปลาไหล) เอาวัวเข้าคอกก่อนไปเล่นหนัง กลับมากลางดึกก็ไปยกลัน ดูส้อน (ดักปลา) เอาวัวออกจากคอกตอนเช้า หลังลงจากเรือนไปแล้วก็ตั้งใจได้เลยว่าเมียมึงหาผัวใหม่ (ไปนาน) กูไม่รู้กลับหรือไม่ มันต้องอย่างนั้น ปัญหาหนังส่วนใหญ่อยู่ที่ครอบครัว
5.นายหนังต้องอ่านหนังสือ “ผมมีเงินสักบาทสมัยก่อน ไม่ว่าจะหิวให้ไส้ขาดจะไม่กินไม่ซื้อ สิ่งที่ซื้อคือหนังสือ บาทหนึ่งซื้อหนังสือ ป.อินทรปาลิตได้เล่มหนึ่ง ซื้อหลวงวิจิตรวาทการได้เล่มหนึ่ง ซื้อยาขอบได้เล่มหนึ่ง ซื้อของนักเขียนดีๆ ผมอ่านแต่หนังสือ อ่านจนกระทั่งว่าน้าชายคนหนึ่งบวชเรียนเป็นท่าน (เจ้าอาวาส) แกสวดศพเหลือเงิน 1,800 บาท แกไปกรุงเทพฯ ซื้อหนังสือมาตู้หนึ่ง แกบอกว่า “ให้อ้ายพร้อมมันอ่านให้บายใจมันสักที” เป็นของนักเขียนดังๆ เช่น ยาขอบ หลวงวิจิตรวาทการ ผมอ่านจนกระทั่งนอนตาค้างหลับคาหนังสือ พยายามค้นคว้าหาความรู้ พยายามเลือกสรรเอาแต่ความจริง แต่หนังสือพิมพ์อย่าไปเชื่อมันเขาทำเพื่อขายกระดาษ
6.อยากจะเป็นหนังดีต้องให้เวลาแก่หนัง “วันละชั่วโมงขับบทไปมั่ง กับเมียหัดพูดภาษากลาง จีบเมียไปพลาง ลองฝึกเจ้าชู้กับเมียเราให้เป็นนิสัย ถึงเวลาเล่นหนังเราต้องคิดว่าเราเป็นพระเอกให้ได้ แล้วถอดหัวใจเราใส่หัวใจพระเอกให้ได้ ถอดหัวใจเราใส่หัวใจนางเอกให้ได้ คิดว่าเมียเองมันถึงจะดี ฝึกวิธีพูดให้เพราะ วิธีบรรยายให้น่าฟัง ผมยืนยันได้เลยว่าไม่มีหนังโรงไหนบรรยายดีกว่าผม ผมท้าได้เลย เพราะลักษณะการบรรยาย หนึ่งฟังเพลงปี่ให้ชัดเจน ถ้าฟังเพลงปี่ไม่ชัดเจนบรรยายก็ไม่เพราะ เที่ยวคาบวรรคคาบตอน สองการเริ่มต้น การเริ่มต้นในการบรรยายอาจารย์ใหญ่ของผมคืออาจารย์พ่วง บุษรารัตน์
7.คนเป็นนายหนังต้องอ่านหนังสือกลอน “ผมไม่ใช่นักเขียนกลอนผมเป็นนักขับกลอน คนเป็นนายหนังตะลุงต้องหัดขับบท หนังสือกลอนเอามาอ่านมั่งของยศกิต อ่านหนังสือยศกิตสักสองเล่มว่ากลอนเป็นทันที แต่ต้องเรียนให้จำ ลองไปค้นคว้าหาหนังสือกลอนอ่านจะได้ประโยชน์ คนเป็นนายหนังถ้าไม่อานหนังสือกลอนก็แย่
8.นายหนังต้องพึ่งปราชญ์ “ปราชญ์ตำหนิ ดีกว่าเปรตยอ” “เราจะเล่นหนังไม่มีคนแล ก็ไม่สำคัญให้ปราชญ์แลสักสามคนดีกว่าให้คนเมาแลร้อยคน อะไรที่ปราชญ์เขาตำหนิ พยายามให้ปราชญ์ตำหนิอย่าให้เปรตยอ”
9.การพัฒนาหนังตะลุง ต้องพัฒนาตัวนายหนังก่อน “ไม่จำเป็นต้องไปสร้างตู้ลำโพงยี่สิบตู้ จอสิบสามเมตร พัฒนาตัวเองให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความเฉลียวฉลาด มีความคิดความอ่านที่มันถูกต้อง ผิดแผกแหวกแนวไปสักนิด ไม่ใช่คร่ำครึอยู่กับสิ่งเก่าๆ
ผลงานการแสดงที่แพร่หลาย
ตลอดชีวิตการแสดงหนังตะลุงของหนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคตะเกียงน้ำมันก๊าดจนมาถึงยุคดิจิตอล มีผลงานการแสดงทั้งเก่าใหม่มากมายที่รู้จักแพร่หลาย และเป็นที่เล่าลือกล่าวขานเป็นตำนานสืบมา ได้แก่ รอยแผลของสายพิณ, เณรเริง, ยอดสตรี, กรรมสนองกรรม, แรงบุญรอยบาป, บอระเพ็ดหวานน้ำตาลขม เป็นต้น โดยมีนักประพันธ์เรื่องหนังตะลุงคู่บารมีคืออาจารย์พ่วง บุษรารัตน์ ผู้ล่วงลับ
รางวัลแห่งเกียรติยศ
รางวัลแห่งความสำเร็จที่ได้รับจากการแสดงหนังตะลุงมีมากมายนับไม่ถ้วน ดังนี้รางวัลมงกุฎทองคำฝังเพชร จากสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ปี 2511, รางวัลต้นศรีตรังทองคำ จากสนามแข่งขันโรงเรียนกลึงวิทยาคาร อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง, รางวัลรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า 80 ซีซีจากสนามแข่งขันหน้าศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปี 2536, ขันน้ำพานรองประมาณ 20 ใบ, ถ้วยเกียรติยศประมาณ 140 ใบ, โล่เกียรติยศประมาณ 10 โล่, จอหนังตะลุงประมาณ 100 จอ, โคถึก 3 ตัว, โคธรรมดา 5 ตัว, ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงพื้นบ้าน (หนังตะลุง), ปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
บทตลกสุดท้ายในชีวิตของนายหนังเจ้าแห่งอารมณ์ขัน
ในวันที่คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ไปมอบให้ถึงบ้าน เพราะท่านป่วยจนต้องนั่งรถเข็นไม่สามารถจะเดินทางไปรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ ยังได้กล่าวกับคณะกรรมการฯ อย่างติดตลกเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ในชีวิตนี้ได้เป็นมาทุกอย่างที่ต้องการแล้ว ทั้งศิลปินแห่งชาติ ทั้งดุษฎีบัณฑิต เหลืออย่างเดียวที่ไม่ได้เป็นคือเบาหวาน” หลังจากนั้นไม่นานท่านก็สิ้นลมหายใจอย่างสงบ