xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการสรรหาในสังคมอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันทักษิณคดีศึกษา (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
คอลัมน์ :คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

กระบวนการสรรหา เป็นกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง หรือเข้าสู่อำนาจในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยบุคคลผู้เข้ารับการสรรหาอาจจะมีที่มาได้หลายทาง เช่น จากการสมัครรับการสรรหา จากการทาบทามของคณะกรรมการ จากการเสนอชื่อ เป็นต้น โดยคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้กำหนดขั้นตอน วิธีการในการสรรหาจนกว่าจะได้บุคคลตามข้อบังคับ หรือระเบียบว่าด้วยเรื่องนั้นๆ มารับตำแหน่งที่ต้องการสรรหา

กระบวนการสรรหา เป็นกระบวนการพบกันครึ่งทางระหว่างกระบวนการแต่งตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นระบบเผด็จการอำนาจนิยมกับการเลือกตั้ง ซึ่งสังคมไทยถือว่าเป็นระบบพวกมากลากไป และสร้างความขัดแย้งในสังคม (ทั้งๆ ที่เรียกหาระบอบประชาธิปไตย แต่รังเกียจการเลือกตั้ง เข้าทำนอง “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”) โดยให้มีการสรรหาโดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการสรรหา และหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งทั่วไปโดยหันมาใช้การเลือกตั้งโดยคณะกรรมการสรรหาซึ่งส่วนมากมีตั้งแต่ 5 คน, 7 คน, 9 คน, 11 คน แล้วให้ผู้มีอำนาจสูงขึ้นไปในรูปกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งอีกที ถ้าในมหาวิทยาลัยผู้แต่งตั้งคือ สภามหาวิทยาลัย โดยนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม คือ คนไทยนิยมใช้อำนาจเด็ดขาด ชอบคบค้าสมาคมกับคนมีอำนาจ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อคนมีอำนาจ แต่มักจะก้าวร้าวกับคนที่ด้อยอำนาจกว่า กระบวนการสรรหาในสังคมไทยจึงฝากชะตากรรมไว้กับคนมีอำนาจ เช่น อธิการบดี คณบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาก็ต้องวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจเหล่านั้น แม้แต่ในมหาวิทยาลัย ดินแดนที่ถือว่าเป็นที่เกิดของปัญญาชนผู้มีสติปัญญา มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ไม่วายจะมีวิธีการ และกระบวนการไม่แตกต่างกับสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัย และนับวันจะยิ่งหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น

สังคมไทยนอกจากเป็นสังคมอำนาจนิยมที่เข้มข้นแล้ว สังคมไทยยังเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ที่มีผู้อุปถัมภ์ และผู้รับการอุปถัมภ์ ทำนอง “หมากับเห็บหมา” ผู้อุปถัมภ์คือ ผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล มีความเข้มแข็ง แผ่บารมีไปคุ้มครองผู้รับอุปถัมภ์ผู้เปรียบเสมือนเห็บหมา และเมื่อหมา หรือผู้มีอำนาจเหล่านั้นหมดอำนาจสิ้นบารมี เห็บหมาก็จะดีดกระโดดหาหมาตัวใหม่ หรือผู้อุปถัมภ์คนใหม่ หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักรอย่างไม่รู้สิ้นสุดยุติจนกว่าจะตายจาก

สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ กำลังจะสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาคนใหม่ แทนนายพิทยา บุษรารัตน์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบันที่จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 นี้ แม้ว่าคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นประธานและกรรมการอื่นๆ อีก 4 คนเป็นกรรมการ จะยังไม่มีกำหนดการ ขั้นตอนในการดำเนินการใดๆ ก็แว่วข่าวจากวงในว่า มีผู้สนใจจะสมัครรับการสรรหาอย่างน้อย 5 คน และ 1 ในจำนวนนั้นคือ นายพิทยา บุษรารัตน์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบันจะลงสมัครรับการสรรหาอีกครั้ง หลังจากได้บริหารสถาบันทักษิณคดีศึกษามาครบเทอมคือ 4 ปี ถ้าเป็นรัฐบาลก็ถือว่ามีเสถียรภาพจึงเกิดความมั่นใจ

แต่ท่ามกลางการคาดหมายของใครหลายคน ก็มีข่าวลือหนาหูทั้งข่าวปล่อย ข่าวโคมลอย ลับลวงพราง ต่างๆ นานาว่า ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาคนต่อไปจะเป็นผู้หญิงอย่างแน่นอน เพราะคนคนนี้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประธานคณะกรรมการสรรหา สนิทสนม และได้รับการสนับสนุนจากคณบดีท่านหนึ่ง และสนิทสนมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งซึ่งมีบทบาทในกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ เรียกได้ว่า ในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่มีทั้งหมด 5 คน หล่อนสนิทสนม และได้รับการสนับสนุนอย่างแน่นอนแล้ว 3 คน หรือ 3 ใน 5 ซึ่งถือว่านอนมา (แต่ไม่มีพระนำ) อย่างแน่นอน

ข่าวลือที่ว่า ถ้าดูตามปรากฏการณ์ก็เชื่อได้ว่าเป็นไปได้จริง เพราะธาตุแท้ก็คงไม่แตกต่างไปจากปรากฏการณ์ แต่ถ้าหากว่าเป็นจริงตามนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา เพราะบุคคลที่อยู่ในกระแสข่าวนี้มีคุณสมบัติโดดเด่นอยู่ประการเดียวคือ ชอบทำตัวใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ โดยอาศัยช่องทางที่เป็นคนพิเศษของอดีตผู้กว้างขวางคนหนึ่ง ประกอบกับวัฒนธรรมอำนาจนิยม และระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยบ้านนอกทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสเข้าใกล้ชิด “ศูนย์กลางแห่งอำนาจ” ในอาณาจักรเล็กๆ โดยไม่แยแส หรือสนใจไยดีต่อประชาสังคมทั้งภายใน และภายนอก ผู้เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย และองค์กรที่แท้จริง

สถาบันทักษิณคดีศึกษา เป็นองค์กรทางวัฒนธรรมที่มีเกียรติภูมิ มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานร่วมกึ่งศตวรรษ กว่าจะถึงวันนี้มีผู้อุปการะอุ้มชูมากมายหลายระดับ ทั้งผู้ที่ล่วงลับ และที่ยังมีชีวิตอยู่ สถาบันแห่งนี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาที่หลายคนมีต่ออดีตผู้สถาปนาสถาบันแห่งนี้คือ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้ที่กำลังนอนสงบนิ่งด้วยโรคร้ายรุมเร้าหลังจากกรำงานหนัก “ปรนนิบัติราชการ” มาจนชั่วชีวิตของข้าราชการบ้านนอกระดับ 11 คนแรกๆ ของประเทศผู้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้เกิดสถาบันแห่งนี้ขึ้นในภาคใต้เมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว

ดังนั้น วันนี้หากการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาจะตกอยู่ในอุ้งมือของผู้ที่เห็นแก่พวกพ้อง คนใกล้ชิดสนิทสนมมากกว่าคนที่มีเกียรติภูมิ มีความเหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของประชาคมทั้งภายใน และภายนอกสถาบัน ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกเรื่องหนึ่งของคนใต้ และคนไทยผู้เป็นเจ้าของสถาบันแห่งนี้ด้วยส่วนหนึ่ง และประชาคมทั้งใน และนอกสถาบันทักษิณคดีศึกษาก็ไม่ควรปล่อยให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษากระทำการใดๆ โดยอำนาจเพียงลำพังโดยไม่ฟังเสียงของประชาคมเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา เพราะสถาบันแห่งนี้มีค่า มีความหมายต่อชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติอย่างที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้ด้วยเม็ดเงิน

ขอคารวะดวงวิญญาณของวิญญูชนผู้ล่วงลับ โดยเฉพาะ ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ อดีตที่ปรึกษาสถาบันทักษิณคดีศึกษา, ศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม นักคติชนวิทยาจากทุ่งระโนด, รศ.อุดม หนูทอง อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา, อาจารย์ปก แก้วกาญจน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ฯลฯ โปรดดลบันดาล และอำนวยอวยพรให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่สถาบันทักษิณคดีศึกษาให้ประสบชัยในการนำพาขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายร่วมกันของประชาสังคม ขณะเดียวกัน ขอได้โปรดระงับยับยั้งทุกมือ และทุกสมองที่คิดแต่จะแสวงหาประโยชน์จากสถาบันที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง และจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์เพื่อบ้านเกิดเมืองนอนจะได้มีสถาบันทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดกอันดีงามไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจสืบไป

กำลังโหลดความคิดเห็น