คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
การเริ่มต้นศักราชใหม่ของสถาบันทักษิณคดีศึกษาโดยการเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการแทนผู้อำนวยการที่ลาออกไป หลังจากมีผู้มารักษาการในตำแหน่งนี้ 2 คน คนละ 6 เดือนรวมเป็น 1 ปีพอดี มีผู้สนใจสมัคร 4 คน แต่สุดท้ายเหลือผู้เข้ารับการสรรหาจากคณะกรรมการจริงๆ เพียง 3 คน และล้วนเป็น “ลูกหม้อ”หรือ “คนใน” ของสถาบันทักษิณทั้งสิ้น ส่วนบุคคลภายนอกที่มีข่าวว่าได้รับการทาบทามจากคนในให้มาสมัครแข่งขัน เกิดขัดข้องทางเทคนิควิธีเลยไม่ปรากฎชื่อให้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา
ผู้สมัครทั้ง 3 คนนั้น ประกอบด้วย นายพิทยา บุษรารัตน์ อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา นายจรูญ หยูทอง อดีตหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนา และนายคำนวณ นวลสนอง อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษ แต่ละคนมีดีมีด้อยกันคนละอย่างสองอย่าง ในสายตาของคนในสถาบันทักษิณคดีศึกษา คนเหล่านี้พอจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้ แต่ในสายตาของผู้ใหญ่บางคนที่เคยเติบโตไปจากที่นี่ และตอนนั้นยังเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในมหาวิทยาลัยทักษิณ กลับสบประมาทว่า ใครคนใดคนหนึ่งใน 3 คนนี้แม้ว่าจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา” คนต่อไปก็เป็นได้แค่ “The best of the bad” เท่านั้น
ผลการสรรหาปรากฏว่า “นายพิทยา บุษรารัตน์” ได้รับการเสนอชื่อให้สภามหาวิทยาลัยทักษิณพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ท่ามกลางความผิดหวัง และความสมหวังของใครหลายคน บางคนมองว่า ผู้ถูกเลือกคือบุคคลที่ “ประนีประนอม” หรือ “พูดง่าย” ที่สุดในจำนวนตัวเลือกทั้งสามคนนี้
หลังจากนั้น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่ไปจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา ไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจต่อผู้ใหญ่ที่นี่ และเพื่อนร่วมงานบางคนที่ทำตนเป็น “นกสองหัว” หรือ “หมาสองราง” หรือ “หน้าไหว้หลังหลอก” หรือ ฯลฯ ได้ให้คำแนะนำแก่นายพิทยา บุษรารัตน์ ผู้อำนวยการฯ คนใหม่ว่า ให้แต่งตั้งผู้ไม่ได้รับการสรรหาอีกสองคนมาเป็นรองผู้อำนวยการ แต่ผู้อำนวยการไม่กล้าสวนกระแสความรู้สึกของรองอธิการบดีท่านหนึ่งซึ่งเคยอยู่ที่นี่แต่ไปได้ดิบได้ดี (เกินคาด) ในมหาวิทยาลัย เป็นผู้สร้างระบบเส้นสาย วัฒนธรรม “มึงกูไอ้ชูไอ้ชัย” ขึ้นในมหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งนี้ ไม่ค่อยถูกชะตากับผู้สมัครผู้อำนวยการฯ บางคน (แม้ว่าต่อหน้าจะดูเหมือนให้ความเคารพนับถือและเรียก “พี่” ไม่ขาดปาก แต่ลับหลังเหมือนหนังคนละม้วนกันเลย)
ผู้อำนวยการพิทยาจึงตัดสินใจแต่งตั้งคนอื่นเป็นรองผู้อำนวยการแทน จนในที่สุด สถาบันทักษิณคดีศึกษาถูกลดตำแหน่งรองผู้อำนวยการจาก 2 คนเหลือเพียงคนเดียวในช่วงสองปีหลังของการดำรงตำแหน่งของนายพิทยา อดีตรองผู้อำนวยการสองคน และหัวหน้ากลุ่มภารกิจต่างๆ และหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน น่าจะให้นายจรูญ หยูทอง มาเป็นรองผู้อำนวยการฯ ผู้อำนวยการฯ เห็นพ้องด้วยจึงเสนออธิการบดีแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปีเท่าวาระที่เหลือคือครบกำหนดวาระวันที่ 30 กันยายน
ก่อนหน้านี้ ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญแก่ชาวสถาบันทักษิณคดีศึกษา และชาวมหาวิทยาลัยทักษิณ นั่นคือ เหตุการณ์คนร้ายบุกยิง นายมนตรี สังข์มุสิกานนท์ รองอธิการบดีผู้กำลังมีอนาคต และเป็นที่กล่าวขานของใครต่อใคร (ทั้งในด้านบวกและด้านลบ) ในร้านอาหารบริเวณแหลมสมิหลาสงขลา ท่ามกลางฝูงชนที่มารับบริการจากร้านอาหารอย่างอุกอาจและหลบหนีได้อย่างลอยนวล แม้ว่าภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถจับกุมคนร้ายได้สามคนทั้งมือปืน คนชี้ตัว และคนจัดหารถพร้อมช่วยพามือปืนหลบหนี แต่คดีก็ไม่คืบหน้าพอจะสาวไปถึงผู้บงการ หรือจ้างวานได้ ทุกอย่างยังอยู่ในความสงสัยของหลายคน
การตายของอาจารย์มนตรีย่อมมีทั้งคนพอใจและเสียใจ เนื่องจากบนเส้นทางไต่เต้าสู่ตำแหน่งรองอธิการบดี และตำแหน่งอื่นๆ ย่อมสร้างความผิดหวังให้แก่คนที่เป็นคู่แข่ง และไม่มีฝีไม้ลายมือ หรือความสามารถในทุกทางอย่างอาจารย์มนตรีได้ โดยเฉพาะกลเม็ดเด็ดพรายในการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แห่งความสำเร็จ และสมหวัง ซึ่งไม่เฉพาะตัวของตนเอง แม้แต่คนใกล้ชิด (ทั้งหญิงชาย) ล้วนได้ดิบได้ดีไปพร้อมๆ กันโดยทั่วหน้า ตรงข้ามกับคนที่ไม่อยู่ในสายตา หรือไม่ค่อยชอบอัธยาศัยกันย่อมถูกเบียดให้ตกเวทีประวัติศาสตร์ไปอย่างไม่อินังขังขอบ เข้าลักษณะ “ใครดีใครอยู่” หรือ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ทำนองนั้น
เมื่อสิ้นนายมนตรี สังข์มุสิกานนท์ คนแวดล้อมที่เคยเชิดหน้าชูตาเหมือนกระดี่ได้น้ำก็อาจจะดูเหงาๆ ไปสักระยะหนึ่ง แต่หลังจากเผาศพอาจารย์มนตรีได้ไม่นาน คนเหล่านั้นก็กลับมาลิงโลดโชติช่วงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากกระบวนการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยทักษิณมีผลออกมาว่า ยังเป็นอธิการบดีคนเดิม และแน่นอนผู้มีอำนาจรองๆ ลงไปจากอธิการบดีย่อมยังเป็นคนเดิมๆ เป็นธรรมดา และนั่นย่อมหมายความว่า “บารมีของผู้ล่วงลับในฐานะผู้อุปถัมภ์” ย่อมยังคงเบ่งบานปกป้องคุ้มครองพวกเขา (และเธอ) เหล่านั้นอย่างไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงการแบ่งสรรอำนาจ โอกาสและผลประโยชน์หลายๆ ส่วนยังคงลงตัวตลอดมา และหลายส่วนได้สร้างปัญหาให้แก่การบริการจัดการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในยุค “ขาลง” ของ ผอ.พิทยา โดยเฉพาะบทบาทและท่าทีของหัวหน้าสำนักงานเลขานุการสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่กำลังจะปรับเปลี่ยนเป็นตำแหน่ง “หัวหน้าสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษา” ที่มาจากการสรรหาตามกระบวนการของข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณยุคใหม่
ทีมงาน ผอ.พิทยา ต่างปริวิตกว่า หากหัวหน้าสำนักงานเลขานุการสถาบันทักษิณคดีศึกษา (คนแรกและคนสุดท้าย) คนนี้ได้เป็น “หัวหน้าสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษา” อีก นั่นย่อมหมายถึง “วิบากกรรม” ของผู้อำนวยการ ทีมงานและชาวสถาบันทักษิณคดีศึกษาทุกคน และย่อมส่งผลถึงประชาชน หรือประชาสังคมที่เป็นเจ้าของสถาบันทักษิณคดีศึกษาแห่งนี้ เราจึงต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้การณ์เป็นเช่นนั้น แต่จะทำอย่างไรเล่าถ้าหากไม่มีใครตัดสินใจลงสมัครแข่งขันในตำแหน่งนี้ และดูเหมือนว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนเขา
แต่แล้วเดชะบุญ บ้านนี้เมืองนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ชะตาสถาบันทักษิณคดียังไม่ถึงฆาต จึงเกิดดลบันดาลให้…
(อ่านต่อฉบับหน้า วันที่ 24 เมษายน)