xs
xsm
sm
md
lg

คนใต้มาจากไหน?/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย..จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

จากตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่เคยบอกว่าคนไทยมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่แถบเทือกเขาอัลไตทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาถูกจีนรุกรานจึงอพยพลงมาทางใต้และตั้งหลักแหล่งในดินแดนต่างๆ ในลุ่มน้ำต่างๆ ตามที่เห็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ แต่มีนักวิชาการรุ่นหลังหลายท่านไม่เชื่อเช่นนั้น และเชื่อว่า คนไทยอยู่ในดินแดนต่างๆ ตามที่อยู่ในปัจจุบันนี้แหละ โดยอ้างหลักฐานที่ขุดค้นพบทางโบราณคดีทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคใต้

กล่าวเฉพาะภาคใต้ที่นับเอาดินแดนตั้งแต่จังหวัดชุมพร ลงมาจนถึงปลายแหลมมลายู หรือคาบสมุทรมลายู ประกอบด้วย 14 จังหวัด เป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธศาสนา (มหายานและเถรวาท) และอิสลามเป็นหลัก รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียและจีนเป็นสำคัญ จึงเรียกบริเวณนี้ว่าแหลมอินโดจีน ต่อมาได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม

จากหลักฐานทางโบราณคดีและวัฒนธรรมที่สืบทอดจนถึงปัจจุบันทำให้เชื่อได้ว่า คาบสมุทรมลายูหรือแหลมอินโดจีนหรือคาบสมุทรทอง ฯลฯ เป็นดินแดนที่คนใต้อาศัยมาแต่ต้น โดยได้รับรับวัฒนธรรมทางภาษาและอื่นๆ ผ่านทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม รับลัทธิความเชื่อทางไสยศาสตร์จากเขมร ชวา มลายู อินเดีย และจีน ฯลฯ สังคมของคนในคาบสมุทรมลายู จึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาแต่อดีต
 
ไม่ว่าจะในภาคใต้ของประเทศไทยหรือภาคเหนือของประเทศมาเลเซียอันเป็นบริเวณที่เรียกว่าคาบสมุทรหรือแหลมมลายู คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ คนมลายู และคนสยาม ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนคนเหล่านี้ก็มีความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเช่นกัน ต่างกันแต่ว่าปฏิกิริยาที่มีต่อการบริหารจัดการของรัฐเท่านั้น

คนไทยเชื้อสายมลายู หรือชาวมุสลิมที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย มีสถานภาพเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทยท่ามกลางคนเชื้อสายไทยหรือชาวสยาม ขณะที่คนมาเลเซียเชื้อสายไทยหรือชาวสยามในประเทศมาเลเซียมีสถานภาพเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศมาเลเซียท่ามกลางชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู แต่แม้ว่าคนไทยเชื้อสายมลายูแม้จะได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดีจากรัฐไทย เช่นเดียวกับชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยก็ไม่สามารถทำให้คนเหล่านี้ ดำรงชีวิตอยู่ในดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขอย่างชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในดินแดนทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลที่มีต่อชนกลุ่มน้อยที่ต่างศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ รวมทั้งเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวในแนวนโยบายแห่งรัฐในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม การเมืองและอื่นๆ

คนคาบสมุทรมลายู หรือคนใต้ของประเทศไทยถูกมองว่าเป็นคน “หัวหมอ” หรือ “บังคับยาก” มีคตินิยมดั้งเดิมเป็นคนนักเลง มีความเลื่อมใสในศาสนาพุทธและอิสลาม เชื่อถือไสยศาสตร์ เคร่งครัดในจารีตทางเพศ หยิ่งในศักดิ์ศรี ชอบประพฤติตนเป็นคนหน้าใหญ่ใจเติบ เป็นคนกว้างขวาง พูดจาไม่มีหางเสียง ห้วนๆ รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง ทันคน ฯลฯ เนื่องจากอยู่ในดินแดนคาบสมุทรเป็นศูนย์กลางของการเดินเรือและการค้าขายทางทะเลในอดีต เป็นจุดนัดพบทางอารยธรรมระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

คนคาบสมุทรมลายูชอบพึ่งตนเอง ไม่เชื่อมั่นในระบบราชการ ว่า จะช่วยเหลือประชาชนได้จริง ดังจะเห็นได้จากคำพังเพยของคนคาบสมุทรมลายูหรือคนใต้แต่โบราณจนถึงปัจจุบันที่ว่า “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา” หรือ “ไม่รบนายไม่หายจน” หรือ “กินขี้หมาดีกว่าค้าความ” เป็นต้น

ปัจจุบันลูกหลานของคนคาบสมุทรมลายูกำลังยืนยันความเป็นคนใต้หรือคนคาบสมุทรทั้งในทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างกับคนไทยในภาคอื่นๆ แทบสิ้นเชิง โดยเฉพาะการแสดงออกหรือวัฒนธรรมทางการเมืองที่กำลังกลายเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายค้านจนเกือบสิ้นเชิงจนทำให้ดินแดนแถบนี้ “ปลอดนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี”

แม้ว่าจะมีคนใต้บางคนได้ดิบได้ดี เป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาลปัจจุบันแต่โดยเนื้อแท้เขาไม่ได้มีจิตวิญญาณผูกพันกับคนใต้มากไปกว่าการใกล้ชิดกับ “นายใหญ่” อย่างที่บางคนบอกว่าถ้าให้เลือกเอาระหว่างการเป็น ส.ส.เป็นรัฐมนตรีและการเป็นสมาชิกคนเมื้อแดงเขายินดีเป็นคนเสื้อแดงมากที่สุด

จะเห็นได้ว่าคำกล่าวที่บอกว่าคนคาบสมุทรมลายู “รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง” เป็นความจริงแท้แน่นอน แม้ไม่มีที่อยู่ที่ยืนในบ้านเกิดของตัวเอง แต่คนใต้บางคนก็ไม่ลังเลที่จะเลือกยืนเคียงข้างคนที่เขารักจนถึงที่สุด และกล้าที่จะบอกกับชาวอีสานอย่างไม่อายว่า เมื่อพูดถึงนักต่อสู้ในภาคใต้เขานึกไม่ออกเลยว่าจะมีใครในภาคใต้บ้านเกิดของเขาให้ยกตัวอย่าง ไม่มีเลยจริงๆ แม้แต่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก็ไม่ใช่ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทยและอดีตรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวงก็ไม่ใช่ว่างั้นเถอะ
กำลังโหลดความคิดเห็น