คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
คำว่า “สู้” หมายถึง การต่อต้าน การเอาชนะ ส่วนคำว่า “ทน” หมายถึง การอดกลั้นได้ การทนอยู่ได้ เช่น ทนทุกข์ ทนร้อน ทนหนาว เป็นต้น
ปัจจุบัน (2555) บุคลากรของมหาวิทยาลัยทักษิณระดับผู้ปฏิบัติต้องเผชิญกับภาวะที่ต้อง “ต่อต้าน” “เอาชนะ” หรือต้อง “อดกลั้น” “ทนอยู่ให้ได้” ในหลายสิ่งหลายประการ นับตั้งแต่ความไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความอัตคัดขัดสนในการทำงานตามโครงการต่างๆ ความด้อยโอกาสในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในการศึกษาต่อ การเข้าร่วมอบรมสัมมนา ศึกษาดูงาน การเสนอผลงานทางวิชาการ ความไม่เป็นธรรมจากการถูกเลือกปฏิบัติ เกณฑ์การประเมินผลงานที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจของภาระงานที่ทำ เปรียบเสมือนเอากติกามวยสากลมาตัดสินมวยไทยหรือ “เอาคุณสมบัติของสัตว์น้ำมาใช้กับสัตว์บก” กระบวนการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ นายกสภามหาวิทยาลัยและตำแหน่งสำคัญๆ อื่นๆ ที่ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล าดการมีส่วนร่วมของประชาคมส่วนใหญ่
ในสังคมมหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบันมีบุคคลอยู่ 2-3 ประเภท ดังนี้
1.พวกแรกคือพวกวิ่งเข้าหาศูนย์กลางอำนาจ พยายามเสนอตัวเป็นพวกเดียวกันหรืออย่างน้อยก็เป็น “ลิ่วล้อ”ของผู้มีอำนาจทั้งในสภามหาวิทยาลัยและในคณะผู้บริหาร คนพวกนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของประชาคมในมหาวิทยาลัย แต่ก็ส่งผลให้ผู้มีอำนาจมีความโน้มเอียงไปตามบรรดาลิ่วล้อเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะแอบแฝงอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทั่วไป ธุรการ การเงิน การคลังในฐานะ “กัลยาณมิตร” ผู้มีวิสัยทัศน์หรือแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกัน
2.พวกที่สองคือพวกมีจุดยืนที่แตกต่างจากกลุ่มผู้มีอำนาจ คอยตรวจสอบการบริหารจัดการของฝ่ายบริหารและการกำกับของฝ่ายสภามหาวิทยาลัย คนกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มน้อยของมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยและในสังคมไทย เนื่องจากมักจะเป็นคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะและมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนทางความคิดมาตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษาแล้ว เป็นกลุ่มคนผู้ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม จึงลุกขึ้นมาต่อสู้ คัดค้านกับความอยุติธรรมทั้งๆ ที่ถ้าอยู่เฉยๆ แบบคนส่วนใหญ่พวกเขาก็เอาตัวรอดได้และมิได้มีความลำบากยากเย็นอะไรในการดำเนินชีวิต ตรงกันข้ามหากลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นและขับเคลื่อนสังคมก็จะถูกกล่าวหา กลั่นแกล้งและกีดกันทุกวิถีทางจากผู้มีอำนาจไม่ให้ได้รับความก้าวหน้าในอาชีพหรือการงาน
3.พวกที่สามคือคนส่วนใหญ่ของประชาคม เป็นกลุ่มที่นิ่งเฉยไม่ยินดียินร้ายต่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย แม้จะออกมาเรียกร้องให้มีการต่อสู้ คัดค้านต่อความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย แต่พอขอความร่วมมือให้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็น ลงชื่อแสดงเจตจำนง คนพวกนี้ส่วนใหญ่กลับไม่กล้าและอ้างเหตุผลต่างๆ นานาที่จะไม่เข้าร่วมมีส่วนร่วม คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับในสังคมข้างนอก ผู้เขียนเรียกพวกนี้ว่า “พวกเกาะรั้ว” หรือ “พวกเสมอนอก” หรือ “พวกเห็นด้วยแต่ไม่เอาด้วย” พวกนี้ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ในการขับเคลื่อนทางสังคม นอกจากนั้นยังเป็นดาบสองคมกับขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม เพราะว่ากันว่า “คนชั้นกลางเหล่านี้เป็นคนคบไม่ได้”
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่มีธรรมาภิบาลและระบบอำนาจนิยมในสังคมอุปถัมภ์ของการบริหารองค์กรมหาวิทยาลัย บุคลากรย่อมมีทางเลือกเพียง 2 ทางคือถ้าไม่ต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากลก็ต้องอดกลั้นอดทนกับชะตากรรมเหล่านั้นไปตามสภาพที่ต้องเป็น
ถ้าต่อสู้ก็กลัวว่าอาจจะถูกข่มเหงรังแกและกลั่นแกล้งต่างๆ นานาจากผู้มีอำนาจที่ขาดคุณธรรม ไม่มีจริยธรรมและเมตตาธรรม แต่ถึงแม้จะแพ้หรือชนะก็ย่อมได้ชื่อว่ามีค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นคนและเป็นผู้มีวัฒนธรรม
แต่หากไม่กล้าเพราะเข้าใจผิดคิดว่าการนิ่งเฉยและยอมปฏิบัติตามสิ่งที่อยุติธรรมคือความชาญฉลาดล้ำเลิศก็ย่อมต้องทนให้เขากดขี่ข่มเหงอย่างไร้ศักดิ์ศรีตลอดไป
มนุษย์เกิดและตายได้ครั้งเดียวเสมอเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าระหว่างวันเกิดจนถึงวันตาย มนุษย์จะเลือกเดินบนเส้นทางใด ระหว่างต่อสู้กับยอมจำนน