xs
xsm
sm
md
lg

เสียงร้องของชาว “ม.ทักษิณ”/จรูญ หยูทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดี รับหนังสือของประชาคม ก่อนที่จะมีการเลือกนายกสภามหาวิทยาลัย แต่ท้ายที่สุดข้อเสนอเหล่านั้นก็ไม่มีผล
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

จดหมายเปิดผนึกของ “ประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณ” เรื่อง “ขอให้พิจารณาการลงมติรับรองผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ” ที่มีถึงประธานคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2555 มีสาระสำคัญว่า

“ตามที่สภามหาวิทยาลัยจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติรับรองผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2555 นั้น ประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยทักษิณได้โปรดพิจารณาข้อมูลและความคิดเห็นของประชาคมก่อนลงมติรับรองรายชื่อที่ประธานคณะกรรมการสรรหาฯเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ดังนี้

1. กระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ถูกต้อง
2. คณะกรรมการสรรหาฯ เสียงข้างมากอาจจะมิได้ให้ความสำคัญต่อความต้องการและความคิดเห็นจากประชาคมมาประกอบการตัดสินใจในการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย จึงทำให้ต้องมีการลงมติถึง 3 ครั้งและคะแนนที่ได้รับไม่เป็นเอกฉันท์
3. ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนั้น เป็นบุคคลที่ประชาคมไม่ยอมรับเนื่องจากมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาคมหลายประการ

จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น ประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณใคร่ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาก่อนการลงมติรับรอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณอย่างแท้จริง ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้…”

แต่ในที่สุด สภามหาวิทยาลัยทักษิณก็ลงมติรับรอง “ศ.ดร.จรัญจันทลักขณา” นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณคนปัจจุบันเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณคนต่อไปอีกวาระหนึ่งคือ 3 ปีข้างหน้าตามที่ประชาคมคาดหมาย โดยไม่สนใจไยดีต่อข้อเรียกร้องของชาวประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณที่นำโดยสภาคณาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ (ยกเว้นประธานสภาคณาจารย์และพนักงานฯ ที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อมติของประชาคม โดยการหนีการประชุมสมัยวิสามัญเพื่อมีมติยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในวันประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยดังกล่าว)

มาถึงจุดนี้ ประชาคมมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 3 กลุ่มที่ชัดเจน กลุ่มแรกคือกลุ่มที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของนายกสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย นำโดยอธิการบดี (รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู) คณะกรรมการส่วนงานของมหาวิทยาลัยทักษิณที่เสนอบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยอีกสมัย

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยท่านนี้ และส่วนใหญ่ต้องการให้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ กลุ่มที่สามคือ ประชาคมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยทักษิณบางส่วนไม่ต้องการนายกสภามหาวิทยาลัยคนปัจจุบัน บางส่วนไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ไม่สนใจจะมีส่วนร่วมแม้แต่การร่วมรับรู้ว่าใครจะไปใครจะมาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ด้วยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกินวิสัยที่ตนเองจะมีส่วนร่วมได้

มหาวิทยาลัยทักษิณวันนี้จึงตกอยู่ในกำมือของ “กรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ” และ “นายกสภามหาวิทยาลัย” ภายใต้การอำนวยการของ “อธิการบดีและคณะ” ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็น “คนนอก” ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ไม่ใช่ศิษย์เก่าหรือผู้จงรักภักดีต่อองค์กรอย่างภาคภูมิใจในเกียรติภูมิอย่างที่ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เขาเป็นกัน ดังจะเห็นได้จากการลงมติรับรองผู้เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยที่ไม่คำนึงถึงข้อเรียกร้องและความคิดเห็นของประชาคมที่ได้รับฟังมาตามกระบวนการประชาพิจารณ์ โดยการรับฟังแบบสาธารณะที่มีอธิการบดีในฐานะ “ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ”

ด้วยกระบวนการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิและนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณมีความไม่ชอบมาพากลในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกำหนดเวลาที่แต่งตั้งกรรมการสรรหาไม่เป็นไปตามข้อบังคับ คือน้อยกว่า 120 วันก่อนครบวาระ การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก (สภามหาวิทยาลัย) มาเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ แต่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภามหาวิทยาลัยมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการเหล่านี้มีสิทธิ์เสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยได้ 1 ชื่อเท่ากับคณะกรรมการประจำส่วนงาน และมีสิทธิ์อภิปรายสนับสนุนคนที่ตนเองสนับสนุนในฐานะกรรมการสรรหาได้ด้วย จึงไม่มีความชอบธรรมในการทำหน้าที่กรรมการสรรหา

การลงมติเลือกผู้มีความเหมาะสมเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยในขั้นตอนของกรรมการสรรหา ปรากฏว่าประธานคณะกรรมการสรรหาแทนที่จะงดออกเสียงก่อน แล้วค่อยลงคะแนนเสียงชี้ขาดหากมติออกมาเท่ากัน กลับลงคะแนนตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบที่สาม คนที่งดออกเสียงกลับเป็นสมาชิกคนอื่น และในขณะลงคะแนนเสียงมีสมาชิกบางคนออกจากที่ประชุมไปและกลับเข้ามาลงคะแนนอีกสองรอบจนมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 5 ในที่สุด เหล่านี้คือความไม่โปร่งใส ไม่สง่างามของนายกสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงเกียรติและผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยทักษิณชุดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น