คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
สถาบันทักษิณคดีศึกษา พัฒนาการมาจากศูนย์ส่งเสริมภาษา และวัฒนธรรมภาคใต้มาเป็นสถาบันทักษิณคดีศึกษาเมื่อปี 2523 และย้ายจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลามาอยู่ที่บ้านอ่าวทราย หมู่ที่ 1 ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อประมาณปี 2534 บนเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ ที่ได้มาจากการบริจาค การเช่าราคาถูกจากที่วัดเขาบ่อ และวัดแหลมพ้อ
ตามพระราชบัญญัติเดิมของมหาวิทยาลัยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มีสถานภาพเทียบเท่าคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย มีผู้บริหารสูงสุดตำแหน่งผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการคนแรกคือ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อปี 2539 เป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณกำหนดให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณมาจากการสรรหา และผู้อำนวยการคนแรกตามข้อบังคับนี้คือ อ.ปก แก้วกาญจน์
หลังจากนั้น กระบวนการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาก็ดำเนินมาท่ามกลางเสียงครหาของประชาคมชาวสถาบันทักษิณคดีศึกษา เนื่องจากกระบวนการสรรหาและผลของการสรรหาไม่ตอบสนองความต้องการของประชาคมส่วนใหญ่มาเกือบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสรรหาที่เปิดโอกาสให้ประชาคมมีส่วนร่วมเพียงเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ แต่กรรมการสรรหาก็ไม่เคยมีมติให้บุคคลที่ประชาคมต้องการได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียว และบุคคลที่กรรมการสรรหาเห็นว่ามีความเหมาะสม ก็มักจะสร้างปัญหาในการบริหารจัดการสถาบันแห่งนี้มาโดยตลอด
หลังจาก อ.ปก แก้วกาญจน์ ครบวาระ ก็มีการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจำนวน 3 คนคือ อ.จำเริญ แสงดวงแข, อ.ปรีชา ทิชินพงศ์ และ อ.พรศักดิ์ พรหมแก้ว สองท่านแรกมาจากคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ส่วนท่านที่สามเป็นลูกหม้อสถาบันทักษิณคดีศึกษามาแต่ต้น และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมาทุกสมัย จนถึงวันสมัครรับการสรรหา แต่ผลการพิจารณาปรากฏว่า อ.ปรีชา ทิชินพงศ์ ผู้ไม่เคยเรียนรู้งานของสถาบันทักษิณคดีศึกษามาก่อน ได้รับการพิจารณาจากกรรมการสรรหา และสภามหาวิทยาลัยทักษิณว่าเป็นผู้เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในขณะนั้น
ในช่วงที่ อ.ปรีชา ทิชินพงศ์ รับผิดชอบดูแลสถาบันทักษิณคดีศึกษา ศ.สุธิวงศ์อดีตผู้สถาปนาและอดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ยังมีส่วนเข้ามาดูแลกิจการของสถาบันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท สาขาไทยคดีศึกษาและระดับปริญญาเอก สาขาวัฒนธรรมศึกษา ที่อุตส่าห์ต่อสู้เรียกร้องกันมาให้สถาบันทักษิณคดีศึกษาได้จัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาเฉพาะทาง กว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น ในที่สุดก็ได้มาสมความตั้งใจ และการดูแลพิพิธภัณฑ์คติวิทยาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่ทำหน้าที่ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาวบ้านภาคใต้
ศ.สุธิวงศ์ เคยหลุดคำพูดที่แสดงถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือไม่ได้ดั่งใจมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวที่ว่า “ผมไม่มีทายาททางวิชาการ” หรือที่หนักหนากว่านั้นคือ “ผมปล่อยให้หมามันดูแลสถาบันฯ แห่งนี้มันจึงมีสภาพเป็นเช่นนี้” เป็นต้น
ช่วงนั้น นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาบินดูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และสั่งการให้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างถนนสายหัวป่า-ไสกลิ้ง จนเสร็จเรียบร้อย หลังจากที่พระครูกิตติวราภรณ์(ดร.ทวี ฤทธิรัตน์) และท่านเล็ก เจ้าอาวาสวัดจาก อ.ระโนด จ.สงขลา ร่วมกับชาวบ้านดำเนินการกันมายาวนานอย่างทุลักทุเล
ผู้เขียนเคยนำเสนอผู้อำนวยการปรีชาว่า ในวันที่ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะจะเดินทางมาทานข้าวมื้อเย็นที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ท่านผู้อำนวยการน่าจะใช้โอกาสนี้เสนอตัวรับเป็นแม่งานในการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยขอเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปวัฒนธรรม ในขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เขามีความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือกายภาพ แต่ผู้อำนวยการก็ไม่ขานรับ และไม่ทำอะไรเลย
แม้แต่การลงนามในหนังสือเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเวทีเปิดตัวโครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่ผู้เขียนเป็นหัวหน้าคณะทำงานประชาสัมพันธ์ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณและสถาบันราชภัฏสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)
นับว่าสถาบันทักษิณคดีศึกษา และมหาวิทยาลัยทักษิณสูญเสียโอกาสในการเป็นหัวขบวนในการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อันเป็นไข่แดงของภาคใต้ และอยู่ในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยทักษิณ อีกทั้งเรื้องราว ข้อมูลด้านวัตถุ ด้านเอกสารต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษาส่วนใหญ่ได้มาจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นสำคัญ
สิ้นสุดสมัยของ อ.ปรีชาอย่างเงียบๆ ง่ายๆ และหงอยๆ ก็มีการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่อีกวาระหนึ่ง คราวนี้ อ.พรศักดิ์ พรหมแก้ว ผู้กินแห้วมาแล้วครั้งก่อน ก็ลังเลที่จะอาสาลงสมัครรับการสรรหา แต่ขัดศรัทธาของกองเชียร์ (โดยเฉพาะผู้เขียน) ไม่ได้ จึงอาสาลงสมัครอีกสมัยโดยคาดไม่ถึงว่าคู่แข่งขันจะเป็น “ไพบูลย์ ดวงจันทร์” เพื่อนสนิทศิษย์ร่วมสำนักที่ขอย้ายตัวเองไปเลียแผลใจอยู่ที่ประสานมิตร ไม่มีใครคาดคิดว่า อ.ไพบูลย์จะยังสนใจตำแหน่งนี้ แม้แต่ อ.สุธิวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการสรรหายังบอกว่า อ.ไพบูลย์คงไม่มาสมัครอีกอย่างแน่นอน
เมื่อคู่แข่งคือ อ.ไพบูลย์ อ.พรศักดิ์จึงขอความเห็นจากผู้เขียนเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะตัดสินใจเดินหน้า หรือถอนตัวว่า เท่าที่ผู้เขียนเคยพูดคุยเรื่องนี้กับ อ.สุธิวงศ์ พอจะจับประเด็นได้ไหมว่า “อ.สุธิวงศ์ สนับสนุนใคร” ผู้เขียนก็ยืนยันว่า เท่าที่สดับตรับฟังมา อ.สุธิวงศ์น่าจะสนับสนุน อ.พรศักดิ์ แต่ผลการพิจารณาออกมากลับกลายเป็น….
(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 10 เมษายน)