xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย(2)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ปี 2538 ผู้เขียนตัดสินใจลาศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา สาขาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1) เบื่อการทำหน้าที่ครูที่โรงเรียนมัธยมศึกษาชานเมืองหาดใหญ่เต็มทีเนื่องจากผิดหวังกับระบบ คนและเยาวชน 2) ทราบว่าหลักสูตรไทยคดีศึกษาดูแลโดย ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์และสอนโดยผู้อาวุโสที่ผู้เขียนอยากเรียนรู้วิธีคิดของท่านเหล่านั้น

ในที่สุดผู้เขียนก็มีทั้งสมหวังและผิดหวัง สมหวังที่ได้เรียนกับ ศ.สุธิวงศ์ ศ.นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ศ.พันตรี อาคม (พัฒิยะ) และอีกหลายท่าน ผิดหวังกับอาจารย์บางท่านที่ไม่เข้าใจ “การสอนเป็นทีม”(Team Teaching) กลายเป็นแบ่งกันสอน แบ่งกันออกข้อสอบคนละครึ่งวิชา

ก่อนจบหลักสูตร ผู้เขียนได้รับการทาบทามจาก ศ.สุธิวงศ์ ให้โอนมาสังกัดสถาบันทักษิณคดีศึกษาในตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์แทนนางสาวจิตตนา หนูณะ ผู้เขียนตอบตกลงโดยไม่หยุดคิดแม้อึดใจเดียวด้วย เพราะไม่อยากกลับไปพบกับความจำเจซ้ำซากที่โรงเรียน (แม้ว่ายังรักอาลัยเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์อีกหลายคนก็ตามที)

อาศัยความเอื้ออารีของ ผอ.วิทยา รัตนอรุณ และพี่ๆในหมวดสังคมศึกษา (สุกิจ บุญศัพท์/บุญส่ง ศิรินุพงศ์/ฯลฯ) และความเมตตาจากรองอธิบดีกรมสามัญศึกษาเพิ่มศักดิ์ นนทภักดิ์(อดีต ผอ.โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชที่ผู้เขียนจบมัธยมปลายมา) ผู้เขียนจึงได้โอนมาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างลาศึกษาต่อเมื่อ 1 มิถุนายน 2539

งานแรกที่ได้รับมอบหมายจาก ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดี (ก่อนท่านจะเกษียณในปีเดียวกัน) คือการแก้ไขเพิ่มเติมพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้จากเนื้อหาในวรรณกรรมท้องถิ่นและภาษาจีน ผู้เขียนจะต้องทำหน้าที่นำบัตรคำจากวรรณกรรมท้องถิ่นที่ ศ.สุธิวงศ์ จัดทำไว้ไปแทรกในต้นฉบับพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้เพื่อจัดพิมพ์ใหม่

งานที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์เป็นชิ้นแรกค่อนข้างหินพอสมควร ต่อมารู้จากปากรุ่นพี่ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอาจารย์สุธิวงศ์ ที่วัดค่าคนด้วยงานเป็นที่ตั้งและหากไม่ผ่านมาตรฐานนี้ก็อยู่ยาก หรืออาจจะไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำอะไรที่สำคัญๆ อีกเลย น่าเสียดายที่ต้นฉบับที่ฝ่าวิบากกรรมมาเลือดตาแทบกระเด็นเพราะต้องคอยพิสูจน์อักษร เรียงลำดับคำตามระบบของพจนานุกรม ฯลฯ โดยไม่ได้เบิกงบประมาณแม้แต่บาทเดียว เพราะหัวหน้าสำนักงานเลขานุการในขณะนั้นลืมบอกผู้เขียนว่ามีงบประมาณค่าจัดทำต้นฉบับในส่วนที่ผู้เขียนรับผิดชอบหน้าละ 10 หรือ 10 กว่าบาท (จำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ แต่จำได้ว่าอัตราเดียวกับค่าพิมพ์ต้นฉบับที่เลขาสำนักงานได้รับ ผู้เขียนมาทราบทีหลังตอนที่อาจารย์สุธิวงศ์ถามว่าได้เบิกค่าตอบแทนบ้างแล้วยัง ผู้เขียนบอกว่ายังเพราะไม่ทราบว่ามีค่าตอบแทนด้วย)

จนถึงวันนี้ ต้นฉบับที่ว่าหายสาบสูญไปเพราะอดีตรองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา 2 ท่านผู้รับผิดชอบตรวจทานท่านหนึ่ง และอีกท่านหนึ่งรับผิดชอบการจัดทำอาร์ตเวิร์คเพื่อจัดพิมพ์ ข่าวว่าต้นฉบับมาหายในมือของรองผู้อำนวยการที่รับผิดชอบในการดำเนินการจัดพิมพ์(เช่นเดียวกับต้นฉบับหนังสือเล่มอื่นๆ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้น)
ผู้เขียน - จรูญ หยูทอง
ตอนมาอยู่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่บ้านอ่าวทรายใหม่ๆ บรรยากาศช่วงนั้นมีความคึกคักทั้งในเรื่องงานวิชาการและอื่นๆ มีการสัมมนาทางวิชาการบ่อยๆ มีโครงการโหมโรงทักษิณเสวนา มีคนทำงานที่มีความกระตือรือร้นและมีศักยภาพหลายคน นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่า (เชิงนินทา)ของรองผู้อำนวยการบางคนที่ผู้เขียนอดขำไม่ได้ทุกครั้งที่นึกย้อนขึ้นมา มันเป็นเรื่อง “ตลกร้าย”ที่สะท้อนตัวตนของคนๆ หนึ่งได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้มีอยู่ว่า

วันหนึ่งผู้อำนวยการ (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์) มีความประสงค์จะพูดคุยสอบถามความคืบหน้าของงานที่มอบหมายให้รองผู้อำนวยการท่านหนึ่ง ไปดำเนินการกับหน่วยงานทางด้านการประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ในหาดใหญ่ วันนั้นบังเอิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานดังกล่าวได้แวะเวียนเข้าไปพูดคุยกับท่าน แต่ท่านไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะได้มอบหมายให้รองผู้อำนวยการไปดำเนินการดังกล่าว ท่านจึงขอให้หน้าห้องโทร.ตามรองผู้อำนวยการเพื่อคุยสายด้วย เมื่อสามารถติดต่อได้ท่านก็ถามปลายสายว่า

“คุณอยู่ที่ไหน” ปลายสายตอบอย่างไม่ลังเลว่า “อยู่ช่อง 10 หาดใหญ่ กำลังคุยกับคุณประเสริฐ อยู่ครับ” ท่านอึ้งไปพักหนึ่งก่อนจะย้อนถามกลับไปว่า “คุยกับคุณประเสริฐไหน” ปลายสายตอบทันทีทันควันว่า “ประเสริฐ ศรีระสันต์ ครับ” ท่านอุทานด้วยความตกใจว่า “อ้าว…ก็คุณประเสริฐ ศรีระสันต์ นั่งคุยอยู่กับผมนี่ไง” แล้วปลายสายก็เลิกติดต่อเหมือนถูกดูดกลืนไปจากกาแล็กซีสู่ทางช้างเผือกในระบบสุริยะจักรวาล

หลังจากนั้น ผู้เขียนและชาวสถาบันทักษิณคดีศึกษามักจะได้ยินนิทานทำนองนี้อยู่บ่อยๆ เช่นตอนน้ำท่วมหาดใหญ่ ปี 2543 หลังน้ำลดโรงแรมเจ.บี.ปิดปรับปรุงอย่างไม่มีกำหนดเปิด แต่ผู้เขียนในฐานะผู้ประสบชะตากรรมจากน้ำท่วมหาดใหญ่ แต่อดีตรองผู้อำนวยการท่านนั้นไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้แต่อย่างใด ไปบันทึกขออนุญาตออกไปติดต่อราชการข้างนอกในสมุดขออนุญาตว่า “ไปติดต่อพีอาร์บริษัทสุราทิพย์ที่โรงแรมเจ.บี.” ผู้เขียนเปิดพบโดยบังเอิญเพราะต้องบันทึกขออนุญาตไปดำเนินการเกี่ยวกับการแจ้งขอรับความช่วยเหลือจากการประสบอุทกภัยที่สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหน่วย มศว สงขลา

(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 20 มีนาคม)
กำลังโหลดความคิดเห็น