xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาคนไทยที่ควนมูสัง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

16 มกราคม 2555 วันครูแห่งชาติ ทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยวัฒนธรรมชาวสยามในมาเลเซียจำนวน 9 คนออกเดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนามที่บ้านทุ่งตง รัฐเปอร์ลิส พบพี่น้องคนไทยให้การต้อนรับด้วยอาหารหวานคาวรสชาติไทยๆ ได้แก่ แกงขี้เหล็ก, น้ำพริกกะปิ-ผักสด, ปลาเค็มทอด, ผักลวก ฯลฯ แกนนำคนสำคัญประกอบด้วย นายเนิม ละอองแก้ว อายุ 60 ปี, นายเผียน ชัยประสิทธิ์ อายุ 64 ปี, นายผิน แสงสุริยา อายุ 62 ปี, นายเลื่อน ศิริรัตน์ อายุ 72 ปี, นายแก้ว คงบุญ อายุ 81 ปี

พี่น้องคนไทยเหล่านี้เล่าว่าในรัฐเปอร์ลิสมีหมู่บ้านคนไทย 8 หมู่บ้านคือ บ้านทุ่งตง 80 หลังคาเรือน 450 คน, บ้านควนมูสัง 157 ครัวเรือน, บ้านกูบังติกา, บ้านกะฮา, บ้านควนขนุนปาดังเบซาร์, บ้านยาหวี, บ้านโคก, บ้านกะบังอะเหรา มีคนไทยประมาณ 3,000 คน วัด 4 แห่ง ได้แก่ วัดศรีมหาประสิทธิ์, วัดสุวรรณคีรี (ควนมูสัง), วัดกูบังติกา, วัดควนวิจิตร (บ้านโคก), สำนักสงฆ์ 2 แห่ง คือ สำนักสงฆ์บ้านทุ่งตงและสำนักสงฆ์ควนขนุน วัดที่เจริญก้าวหน้าและพัฒนาที่สุดคือวัดควนมูสัง หรือวัดสุวรรณคีรีที่คณะทีมวิจัยไปขออาศัยนอน

ความเป็นมาของชุมชนบ้านควนมูสัง คนไทยรุ่นแรกๆ มาจากฝั่งไทยแถวบ้านคลองรำ ทางใต้ของเมืองหาดใหญ่ สกุลที่มีมากคือ “สกุลขุนพิทักษ์” ที่เรียกควนมูสังเพราะมีมูสังหรือชะมดมาก ส่วนบ้านทุ่งตงมีปลักอยู่แห่งหนึ่งและมีต้นเจอรุงตง (Jerungtong)

ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับวัด นายเนิม ละอองแก้ว (เจ้าของบ้าน อดีตประธานคณะกรรมการวัด) กล่าวว่า คนไทยกับวัดขาดกันไม่ได้ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย งานศพ ขึ้นบ้านใหม่ วัดกับคนไทยเหมือนเลือดกับเนื้อ การบนบานศาลกล่าว เช่น พ่อท่านจันทร์ (วัดควนมูสัง) ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ส่วนใหญ่ได้ผล การบนแบบง่ายๆ เช่น ถวายแกงขี้เหล็ก พระนักเทศน์ส่วนมากมาจากควนมูสัง

นายผิน แสงสุริยา เสริมว่า มาเลเซียเป็นประเทศมุสลิมจึงไม่มีงบประมาณสนับสนุนวัดไทย งบประมาณจึงมาจากทางอื่น คำว่า “นายวัด” หมายถึง ประธานวัดมีหน้าที่ให้คำปรึกษากิจกรรมของวัดร่วมกับกรรมการวัด ประชุมกับชาวบ้าน กรรมการวัดมีประมาณ 20 กว่าคน มีตัวแทนจากทุกหมู่บ้าน การสร้างโบสถ์เสร็จเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสที่จะหาการสนับสนุน มีนายทุนมารับผิดชอบ ช่างทำโบสถ์มาจากเมืองไทย ถ้าไม่มีนายทุนจะต้องทอดกฐินกันหลายหน

วัดที่มีสิทธิ์พิเศษมี 2 วัด คือ วัดควนมูสังและวัดขิตวรรณที่กัวลาลัมเปอร์

แต่ละวัดมีพระเฉลี่ยประมาณวัดละ 5 รูป แต่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากประเทศไทย เนื่องจากคนไทยที่นี่ลาบวชไม่ได้ บวชได้อย่างมาก 7 วัน ถ้ามากกว่านั้นจะกระทบกับหน้าที่การงาน ทุกวันนี้คนตระหนักต่อกฎหมายมากกว่าศีลธรรมของศาสนา เนื่องจากหลักทางศาสนาไม่มีบทลงโทษไม่เหมือนกฎหมาย

ปัญหายาเสพติดส่วนใหญ่เป็นผงขาว ยาบ้า เป็นปัญหาในหมู่คนจีน คนมุสลิมมากกว่าคนไทย ส่วนการพนันคนไทยนิยมเล่นในงานศพ ก่อนๆ เล่นโปปั่น ตอนหลังเล่นกุ้งปลา แต่ไม่เล่นการพนันในวัดอย่างคนไทยในเมืองไทย งานศพนิยมตั้งที่บ้าน มีเหล้าเถื่อนทำจากการหมักน้ำตาลทราย อาวุธปืนอนุญาตเฉพาะปืนยาว และจะต้องมีทรัพย์สินสำหรับไว้คุ้มครอง

การซื้อสิทธิขายเสียงในมาเลเซียเป็นการซื้อแบบให้ประโยชน์แก่ชุมชน ส่วนมากมาจากฝ่ายค้าน รัฐบาลให้ค่าเดินทางในการไปใช้สิทธิ์ที่ภูมิลำเนาเดิม มีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในวาระ 2 ปี, ส.ส.4 ปี, ส.ส.และ ส.ว.มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส.ส.ส่วนมากมาจากคนอาชีพครู

การคมนาคมสัญจรในหมู่บ้านเคยมีรถรับจ้างแต่ตอนหลังหายไป เพราะคนส่วนใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัวบ้านละคันสองคัน รถยนต์ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งส่วนตัว นิยมใช้รถมาเลเซียมากกว่ารถญี่ปุ่น มอเตอร์ไซค์นิยมรถญี่ปุ่นมากกว่ารถมาเลเซีย ปัจจุบันน้ำมันเบนซินลิตรละ 1.9 เหรียญริงกิต (ประมาณ 20 บาท)

ต่อมาคณะทั้งหมดเดินทางไปกราบนมัสการพระมหาสินชัย เจ้าอาวาสวัดกูบังติกา ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ที่นี่เปิดสอนนักธรรมและภาษาไทย มีชุมชนไทย 1,200 หลังคาเรือน มีโบสถ์แบบอเนกประสงค์ ราคา 8 ล้านบาท สามารถใช้เป็นสถานที่จัดประชุมหรือห้องประชุมสัมมนาได้ สอนเด็กทุกวัน ยกเว้นวันพระ กลางวันสอนภาษาไทย กลางคืนสอนนักธรรม มีทุนการศึกษาแก่เด็กเข้าเทคนิค วิทยาลัยให้ 10,000 บาท (เฉพาะปีแรก) ค่าให้ค่าสอนแก่ครูตั้งกองทุนการศึกษา ปีนี้ทอดกฐินได้เงิน 1,200,000 บาท ลูกศิษย์กลับมาช่วยทอดกฐิน

พระนวกะไม่มีชุมชนเอาใจใส่วัดดี ทอดกฐินไม่มีค่าใช้จ่ายมีแต่รายได้ ที่นี่ยังเผาศพด้วยเชิงตะกอน
กำลังโหลดความคิดเห็น