คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย…จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
นิสัยใจคอและบุคลิกภาพของคนใต้มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นจนเป็นที่รับรู้ของคนต่างถิ่น ดังที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุ์วงศ์วรเดชบันทึกถึงว่า “ชาวนอก” อันหมายถึงชาวภาคใต้…พูดภาษาไทยก็เป็นเสียงชาวนอกแลมักมีกิริยา…ท่าทางเป็นคนเรียบร้อย หงิมๆ และเป็นคนมีกิริยาโบราณแลกิริยาป่าๆ”
ลักษณะนิสัยและบุคลิกที่เด่นๆ ของคนใต้ ได้แก่ “…พูดจาโต้ตอบตรงไปตรงมา โผงผาง ไม่ถนอมน้ำใจหรือรักษามารยาทในการพูดกับคู่สนทนา เจรจาโต้ตอบเฉียบแหลม ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ…ชอบแสดงตนว่าเป็นคนกว้างขวาง…กล้าได้กล้าเสีย…รักศักดิ์ศรีและพิทักษ์พวกพ้องเครือญาติ…ไม่กระตือรือร้น…ชอบทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่หรือเป็นนักเลง คำนึงประโยชน์เฉพาะหน้าและเอาตัวรอด รักสนุก เกียจคร้าน ชอบจับกลุ่ม…ผูกพันกับตัวบุคคล…รักและผูกพันกับถิ่นกำเนิด (ชวน เพชรแก้ว. 2534 : 103)
วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของคนใต้ มีลักษณะเฉพาะออกไปจากภาคอื่นๆ มาทุกยุคทุกสมัย จนได้รับการยอมรับว่าคนใต้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และมีทัศนคติทางการเมืองที่ทันสมัย เช่น เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองเดียวกันเกือบทั้งภาค เลือกพรรคการเมืองเก่าแก่คือพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด
โดยเฉพาะนับตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย นักการเมืองผู้เป็นที่ภาคภูมิใจของคนใต้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมีนโยบายชูประเด็น “สนับสนุน นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี” หรือ “นายกรัฐมนตรีคนใต้” จนเกิดกระแส “ชวนฟีเวอร์”ไปทั่วภาคใต้ ถึงขนาดที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นใหม่ในบางจังหวัดกล้าประกาศว่า “พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าหรือเอาอะไรลงสมัครเลือกตั้งในภาคใต้ก็ชนะหรือได้รับเลือกตั้งทั้งนั้น” แม้แต่นายวีระ(กานท์) มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ที่เดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในยุคหลังถึงกับยอมรับความพ่ายแพ้อย่างน่าสงสารว่า “ผมแพ้เสาไฟฟ้าและหลักกิโลครับพี่น้อง”
สังคมปักษ์ใต้เป็นสังคมเครือญาติใคร มีญาติมากก็มีพวกมากสามารถทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ระบบเครือญาติมีที่มาทั้งญาติที่สืบสายโลหิต การผูกดองเพื่อขยายอิทธิพลและผลประโยชน์ตามภูมิปัญญาการขยายอำนาจการปกป้องตนเองและเครือญาติ เช่นเดียวกับการผูกเกลอเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนนอกสายเลือดให้แน่นแฟ้นถึงขนาดตายแทนกันได้ นอกจากนั้นระบบอุปถัมภ์ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการสร้างบารมีทางการเมือง
คนใต้มีคตินิยมดั้งเดิมเป็นคนนักเลง ศรัทธาในศาสนา ต่อต้านอำนาจรัฐ เชื่อในไสยศาสตร์และเครื่องรางของขลังและเคร่งครัดในจารีตทางเพศ ความเป็นคนนักเลงแสดงออกโดยการเป็นคนมือใหญ่ใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย ยอมฉิบหายขายนาเพื่อไม่ให้เสียหน้าเสียชื่อ นำเอาคำสอนทางศาสนามาเป็นแนวประพฤติปฎิบัติในชีวิตประจำวัน นิยมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นคนสุกก่อนจะมีครอบครัว มีคตินิยมต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐหรือระบบราชการจะช่วยเหลือตนเองได้ ชอบพึ่งพากันเอง ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา”หรือ “ไม่รบนายไม่หายจน” และกระบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตลอดจน “วัฒนธรรมโจร”ใ นยุคก่อน
ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลัง ดังจะเห็นได้จากการนับถือทวด ผีบรรพบุรุษ ตายาย ครูหมอโนรา ตลอดจนพระเครื่อง เกจิอาจารย์ดังๆ อาทิ พ่อท่านคล้ายวัดสวนขัน หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ พ่อท่านปลอดวัดหัวป่า พ่อท่านสงวัดปากบางภูมี พ่อท่านคงวัดธรรมโฆษ พ่อท่านแช่มวัดฉลอง เป็นต้น
ในส่วนของคตินิยมความเคร่งครัดในจารีตทางเพศ จะเห็นได้จากตำนานโนราที่ถูกลอยแพเพราะท้องไม่มีพ่อ ซึ่งคนใต้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แม้แต่การแสดงหนังตะลุงที่คู่พระนางจะได้เสียกันในป่าใน เขาก็จะบันดาลให้มีขนำร้างกลางป่าเพื่อไม่ให้คู่พระคู่นางอันเป็นวีรบุรุษวีรสตรีของผู้ชมโดยเฉพาะกุลบุตรกุลธิดาได้เสียกันบนพื้นดินพื้นหญ้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำเยี่ยงเดรัจฉานและลูกที่เกิดมาก็จะมีวิญญาณของเดรัจฉานโดยปริยาย
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาคงเป็นคนใต้ในอดีต คนใต้ในยุคที่ยังไม่เปิดรับวัฒนธรรมพลัดถิ่นที่หลั่งทะลักเข้ามาพร้อมระบบการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ ระบบราชการสมัยหลังการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามนโยบายการทำให้ทันสมัย (modernization) หรือการทำให้เป็นสมัยใหม่หรือการทำให้เป็นประเทศตะวันตก(westernization)
ปัจจุบันคนใต้ก็คงเหมือนกับคนในประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ไม่ว่าจะในเอเชีย อาฟริกา อเมริกาใต้และหมู่เกาะต่างๆ คือถูกกลืนกลายด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยมแบบตะวันตก สูญเสียฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม โดยเฉพาะคตินิยมความเคร่งครัดในทางเพศ ดังจะเห็นได้จากการปรับทุกข์ของแม่ที่มีลูกสาว 3 คน กับแม่ที่มีลูกสาวคนเดียว โดยแม่ที่มีลูกสาว 3 คนเปรยกับแม่ที่มีลูกสาวคนเดียวว่า “กลุ้มใจจัง มีลูกสาว 3 คนแต่ยังไม่ได้ลูกเขยแม้แต่คนเดียว” แม่ที่มีลูกสาวคนเดียวสวนกลับทันควันว่า “ผิดกับเรามีลูกสาวคนเดียวแต่ได้ลูกเขย 3 คนแล้ว”
นี่คือธาตุแท้ที่อยู่หลังปรากฏการณ์ทางสังคมในทุกๆด้านของคนใต้ ดังนั้น หากใครจะคบค้าสมาคมกับคนใต้และคนในประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลกจะต้องเข้าใจว่าคนเหล่านี้มีภูมิหลังหรือความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างไรและกำลังอยู่ในอิทธิพลของวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบใด และระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับคนรุ่นลูกหลานเหลนโหลน ก็มีระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมแตกต่างกันชนิดที่เรียกว่า “พระเจ้าคนละองค์” “เลือกพรรคการเมืองคนละพรรค” เลยทีเดียวแหละครับ
โดย…จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
นิสัยใจคอและบุคลิกภาพของคนใต้มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นจนเป็นที่รับรู้ของคนต่างถิ่น ดังที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุ์วงศ์วรเดชบันทึกถึงว่า “ชาวนอก” อันหมายถึงชาวภาคใต้…พูดภาษาไทยก็เป็นเสียงชาวนอกแลมักมีกิริยา…ท่าทางเป็นคนเรียบร้อย หงิมๆ และเป็นคนมีกิริยาโบราณแลกิริยาป่าๆ”
ลักษณะนิสัยและบุคลิกที่เด่นๆ ของคนใต้ ได้แก่ “…พูดจาโต้ตอบตรงไปตรงมา โผงผาง ไม่ถนอมน้ำใจหรือรักษามารยาทในการพูดกับคู่สนทนา เจรจาโต้ตอบเฉียบแหลม ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ…ชอบแสดงตนว่าเป็นคนกว้างขวาง…กล้าได้กล้าเสีย…รักศักดิ์ศรีและพิทักษ์พวกพ้องเครือญาติ…ไม่กระตือรือร้น…ชอบทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่หรือเป็นนักเลง คำนึงประโยชน์เฉพาะหน้าและเอาตัวรอด รักสนุก เกียจคร้าน ชอบจับกลุ่ม…ผูกพันกับตัวบุคคล…รักและผูกพันกับถิ่นกำเนิด (ชวน เพชรแก้ว. 2534 : 103)
วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของคนใต้ มีลักษณะเฉพาะออกไปจากภาคอื่นๆ มาทุกยุคทุกสมัย จนได้รับการยอมรับว่าคนใต้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และมีทัศนคติทางการเมืองที่ทันสมัย เช่น เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองเดียวกันเกือบทั้งภาค เลือกพรรคการเมืองเก่าแก่คือพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด
โดยเฉพาะนับตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย นักการเมืองผู้เป็นที่ภาคภูมิใจของคนใต้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมีนโยบายชูประเด็น “สนับสนุน นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี” หรือ “นายกรัฐมนตรีคนใต้” จนเกิดกระแส “ชวนฟีเวอร์”ไปทั่วภาคใต้ ถึงขนาดที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นใหม่ในบางจังหวัดกล้าประกาศว่า “พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าหรือเอาอะไรลงสมัครเลือกตั้งในภาคใต้ก็ชนะหรือได้รับเลือกตั้งทั้งนั้น” แม้แต่นายวีระ(กานท์) มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ที่เดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในยุคหลังถึงกับยอมรับความพ่ายแพ้อย่างน่าสงสารว่า “ผมแพ้เสาไฟฟ้าและหลักกิโลครับพี่น้อง”
สังคมปักษ์ใต้เป็นสังคมเครือญาติใคร มีญาติมากก็มีพวกมากสามารถทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ระบบเครือญาติมีที่มาทั้งญาติที่สืบสายโลหิต การผูกดองเพื่อขยายอิทธิพลและผลประโยชน์ตามภูมิปัญญาการขยายอำนาจการปกป้องตนเองและเครือญาติ เช่นเดียวกับการผูกเกลอเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนนอกสายเลือดให้แน่นแฟ้นถึงขนาดตายแทนกันได้ นอกจากนั้นระบบอุปถัมภ์ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการสร้างบารมีทางการเมือง
คนใต้มีคตินิยมดั้งเดิมเป็นคนนักเลง ศรัทธาในศาสนา ต่อต้านอำนาจรัฐ เชื่อในไสยศาสตร์และเครื่องรางของขลังและเคร่งครัดในจารีตทางเพศ ความเป็นคนนักเลงแสดงออกโดยการเป็นคนมือใหญ่ใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย ยอมฉิบหายขายนาเพื่อไม่ให้เสียหน้าเสียชื่อ นำเอาคำสอนทางศาสนามาเป็นแนวประพฤติปฎิบัติในชีวิตประจำวัน นิยมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นคนสุกก่อนจะมีครอบครัว มีคตินิยมต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐหรือระบบราชการจะช่วยเหลือตนเองได้ ชอบพึ่งพากันเอง ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา”หรือ “ไม่รบนายไม่หายจน” และกระบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตลอดจน “วัฒนธรรมโจร”ใ นยุคก่อน
ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลัง ดังจะเห็นได้จากการนับถือทวด ผีบรรพบุรุษ ตายาย ครูหมอโนรา ตลอดจนพระเครื่อง เกจิอาจารย์ดังๆ อาทิ พ่อท่านคล้ายวัดสวนขัน หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ พ่อท่านปลอดวัดหัวป่า พ่อท่านสงวัดปากบางภูมี พ่อท่านคงวัดธรรมโฆษ พ่อท่านแช่มวัดฉลอง เป็นต้น
ในส่วนของคตินิยมความเคร่งครัดในจารีตทางเพศ จะเห็นได้จากตำนานโนราที่ถูกลอยแพเพราะท้องไม่มีพ่อ ซึ่งคนใต้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แม้แต่การแสดงหนังตะลุงที่คู่พระนางจะได้เสียกันในป่าใน เขาก็จะบันดาลให้มีขนำร้างกลางป่าเพื่อไม่ให้คู่พระคู่นางอันเป็นวีรบุรุษวีรสตรีของผู้ชมโดยเฉพาะกุลบุตรกุลธิดาได้เสียกันบนพื้นดินพื้นหญ้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำเยี่ยงเดรัจฉานและลูกที่เกิดมาก็จะมีวิญญาณของเดรัจฉานโดยปริยาย
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาคงเป็นคนใต้ในอดีต คนใต้ในยุคที่ยังไม่เปิดรับวัฒนธรรมพลัดถิ่นที่หลั่งทะลักเข้ามาพร้อมระบบการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ ระบบราชการสมัยหลังการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามนโยบายการทำให้ทันสมัย (modernization) หรือการทำให้เป็นสมัยใหม่หรือการทำให้เป็นประเทศตะวันตก(westernization)
ปัจจุบันคนใต้ก็คงเหมือนกับคนในประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ไม่ว่าจะในเอเชีย อาฟริกา อเมริกาใต้และหมู่เกาะต่างๆ คือถูกกลืนกลายด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยมแบบตะวันตก สูญเสียฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม โดยเฉพาะคตินิยมความเคร่งครัดในทางเพศ ดังจะเห็นได้จากการปรับทุกข์ของแม่ที่มีลูกสาว 3 คน กับแม่ที่มีลูกสาวคนเดียว โดยแม่ที่มีลูกสาว 3 คนเปรยกับแม่ที่มีลูกสาวคนเดียวว่า “กลุ้มใจจัง มีลูกสาว 3 คนแต่ยังไม่ได้ลูกเขยแม้แต่คนเดียว” แม่ที่มีลูกสาวคนเดียวสวนกลับทันควันว่า “ผิดกับเรามีลูกสาวคนเดียวแต่ได้ลูกเขย 3 คนแล้ว”
นี่คือธาตุแท้ที่อยู่หลังปรากฏการณ์ทางสังคมในทุกๆด้านของคนใต้ ดังนั้น หากใครจะคบค้าสมาคมกับคนใต้และคนในประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลกจะต้องเข้าใจว่าคนเหล่านี้มีภูมิหลังหรือความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างไรและกำลังอยู่ในอิทธิพลของวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบใด และระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับคนรุ่นลูกหลานเหลนโหลน ก็มีระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมแตกต่างกันชนิดที่เรียกว่า “พระเจ้าคนละองค์” “เลือกพรรคการเมืองคนละพรรค” เลยทีเดียวแหละครับ