xs
xsm
sm
md
lg

บุคลากรสายสนับสนุน: “ลูกเมียเช่าในมหาวิทยาลัย”/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ความล้มเหลวของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาไทย ทั้งในระบบและนอกระบบราชการในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นภาพฟ้องที่ความก้าวหน้าและความมั่นคงในหน้าที่การงานของบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยที่ถูกแบ่งด้วยกฏหมายเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ บุคลากรสายวิชาการตำแหน่งอาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุนที่มีตำแหน่งนักวิชาการและนักวิจัย ด้วยทำหน้าที่คล้ายๆ กับอาจารย์ แต่สถานภาพทางสังคมภายในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน ทั้งในเรื่องความก้าวหน้า โอกาส สวัสดิการและสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ยิ่งในมหาวิทยาลัยบ้านนอกยิ่งเห็นความแตกต่างทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย

ปัจจุบันอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ถือว่าเป็นชนชั้นสูงในมหาวิทยาลัย ออกมาคร่ำครวญผ่านสื่อมวลชนว่าได้รับเงินเดือนน้อยกว่าครูประถมและมัธยมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณ 8-13% เนื่องจากความไม่เอาไหนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ไม่ค่อยเอาใจใส่อนาคตของบุคลากรในสังกัด ไม่เหมือนกับองค์กรดังกล่าว จนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่าพวกตนเป็น “ลูกเมียน้อย ในกระทรวงศึกษาธิการ”

ประสาอะไรกับบุคลากรในสังกัดเดียวกันที่เป็นสายสนับสนุนที่ไม่ใช่อาจารย์ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ และสถานภาพสายวิชาการหรือสายอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะไม่ยิ่งต่ำต้อยไปกว่าเท่าตัว เพราะเป็นที่สุดของทีสุดแห่งความอยุติธรรม ความไม่เอาไหนของผู้มีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลอนาคต ความก้าวหน้า ของบุคลากรในส่วนงานที่มีบทบาทในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง แต่พวกเขากลับตกอยู่ในชะตากรรมและวิบากกรรมจากการมีผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาที่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดญาณทัศน์และความรับผิดชอบ ขาดการดูแลเอาใจใส่ หวังเพียงเข้ามามีตำแหน่ง มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จเฉพาะตัว อย่างที่มีผู้นินทาให้ฟังกันว่าผู้บริหารในส่วนงานนี้มีเพียงสองพวกใหญ่ๆ คือ พวกแรกศุกร์หายสายจันทร์ พวกนี้เป็น “พวกไฟฟ้า” คือเดินสายไปประชุมทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ส่วนพวกที่สองเป็น“พวกประปา” คือสวมสูตรแล้วนั่ง “วางมาตร” แต่คิดและทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย

มหาวิทยาลัยไทยวันนี้จึงตกอยู่ในกำมือของพวกเดินสายและวางมาตรที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ขาดการเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง ประกอบกับการเข้าสู่อำนาจและตำแหน่งใช้กระบวนการสรรหาในระบบพรรคพวกและอุปถัมภ์ที่เรียกว่า “ผลัดกันเกาหลัง” และไม่ยึดโยงกับผลประโยชน์ของส่วนรวม ส่วนใหญ่คำนึงถึงแค่ความอยู่รอดของตนเองและพวกพ้องเป็นสำคัญในทุกระดับ

ขณะที่การเข้าสู่อำนาจและตำแหน่งของส่วนงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้กระบวนการสอบวัดความรู้ ความเหมาะสมกับตำแหน่งในทุกระดับ มีการประเมินการบริหารจัดการอย่างเอาจริงเอาจังและมีผลงานเชิงประจักษ์มากกว่า “ผลงานเชิงประจบ” ในมหาวิทยาลัย

อีกทั้งผู้บริหารส่วนใหย่ในทุกระดับของวงการศึกษาขั้นพื้นฐานมาจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ในเชิงบริหารทั้งสิ้น ไม่ใช่นักบริหาร “มือใหม่หัดขับ” อย่างในมหาวิทยาลัยที่หลายคน หลายที่มาเป็นบริหารสูงสูดของมหาลัยโดยไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมาก่อน ถ้าเป็นคนขับรถก็เปรียบเสมือนคนที่ไม่เคยขับรถหรือเห็นรถมาก่อน วันดีคืนดีก็มาทำหน้าที่ขับรถสาธารณะรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารที่มีผู้โดยสารอันเป็นอนาคตของชาติบ้านเมือง ก็ย่อมเสี่ยงต่อการลงเหวลงคู หรือนำชาติบ้านเมืองสู่ความหายนะทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น มหาวิทยาลัยที่เคยโอหังทระนงว่าตัวเองมีสถานภาพสูงส่งกว่าพวกประถมมัธยม เป็นครูบาอาจารย์ของพวกนั้น วันนี้คงไม่อาจจะอวดเบ่งบารมีได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยเฉพาะคนที่มีคู่สมรสเป็นชาวประถมมัธยมอย่างผู้เขียน แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบุคลากรในสังกัด “มหาวิทยาลัย” แต่มันเป็น “มหา” แต่ในนาม แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่สมนามก็ได้ สถานการณ์วิกฤตศรัทธาเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นในไม่เกิน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง น่าจะช่วยกันค้นหาว่ามันมีเหตุปัจจัย (เหตุปัจจโย) มาจากอะไรเป็นสำคัญ

สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่าปัญหาเกิดจากความล้มเหลวของการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาไทย ภายใต้ระบบหรือโครงสร้างแบบอำพนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ที่ผ่องถ่ายผ่านทางกระบวนการสรรหาในวัฒนธรรมแบบพรรคพวกสำคัญกว่าผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง กระบวนการสรรหาและสภามหาวิทยาลัยที่ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่ออนาคตของลูกหลานและอนาคตของบ้านเมือง ความห่างเหินและขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้แต่มหาวิทยาลัยเกิดใหม่อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้ชื่อว่าเป็น “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างเต็มความสามารถ

จึงไม่ผิดที่ข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัยจะเคยนินทาว่าร้ายกันมานานแล้วว่า “มหาวิทยาลัยตายแล้ว” ตายไปจากความหวังของสังคม ตายไปจากจุดยืนที่รับหรือรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง จัดการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นที่พึ่งหวังของสังคมในวันนี้และอนาคตอย่างมั่นคง ไม่แปลกแยกจากรากเหง้าของสังคมที่มหาวิทยาลัยอยู่ ไม่ทรยศต่อประชาชน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในส่วนตัวและสถานภาพทางวิชาชีพ

ก่อนจะเรียกร้องหาความยุติธรรมจากสังคมขอให้ช่วยหยิบยื่นความเป็นธรรมแก่สังคมก่อน ก่อนคนอื่นจะมาเห็นใจและเข้าใจพวกเรา พวกเราจะต้องเห็นใจและเข้าใจพวกเราด้วยกันเองก่อน วันนี้มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญหน้ากับความวิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตศรัทธา จึงต้องกอบกู้วิกฤตศรัทธาเพื่อสร้างศรัทธาให้บังเกิด โดยเฉพาะศรัทธาในตัวเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น