คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
เหตุการณ์สังหารโหดนายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ตอนหัวค่ำของคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 บริเวณหน้าสำนักงานสงขลาฟอรั่ม ถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา ย่านเมืองเก่าสงขลา พื้นที่ที่เขา และแนวร่วมพยายามผลักดันให้เป็นเมืองมรดกโลกมาตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
พฤติกรรมการสังหารของคนร้ายใช้รูปแบบ และอาวุธแบบมืออาชีพที่ค่อนข้างจะรุนแรงเกินความจำเป็น และก็เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายอำนาจรัฐ และประหนึ่งจะสร้างความสะใจให้แก่ผู้ว่าจ้าง คือ ใช้อาวุธสงครามทั้งคาร์บิน และเอ็ม 16 กราดยิงแบบไม่ยั้งจำนวนนับครึ่งร้อยนัด ยิงทั้งรถ และคนจนพรุน ด้วยคนร้าย 3 คน รถยนต์ 2 คัน ทั้งรถมือปืน และรถคุ้มกัน ก่อนจะหลบหนีอย่างลอยนวล แต่ก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามเบาะแสของคนร้ายชั่วไม่ทันข้ามคืน ด้วยโทรทัศน์วงจรปิด พยานบุคคล และวัตถุพยาน จนสามารถออกหมายจับคนร้าย และผู้บงการได้เพียงผ่านเหตุการณ์ระทึกขวัญไปแค่ 2-3 วัน
เสียงสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้มีแนวโน้มไปในทางเดียวกันว่า การกระทำครั้งนี้เป็นความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ เนื่องเพราะบุคลิกภาพท่าทีของนายพีระ ตันติเศรณี ผู้ตกเป็นเหยื่อสังหารโหดไม่ใช่นักการเมืองท้องถิ่นในคราบนักเลงโต หรือผู้มีอิทธิพลอย่างใครๆ มิหนำซ้ำ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของนายพีระ คือ อดีตนักเรียนบ้านนอกจากบ้านหัวคุ้ง ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด เป็นนักเรียนเรียนเก่งได้ที่ 1 สมัยเรียน ม.1-2 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา เป็นกรรมการสภานักเรียนร่วมกิจกรรมกับนายนิพนธ์ บุญญามณี ประธานนักเรียน เพื่อนร่วมรุ่น จบสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล อ่านงานเขียนของอนุช อาภาภิรม ที่ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ฟังเพลงคาราวาน และทำงานร่วมกับหมอประเวศ วะสี และอาจารย์เสน่ห์ จามริก ที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ก่อนจะมาเป็นผู้จัดการท่าเทียบเรือประมงใหม่สงขลา
เมื่อปี 2532 ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนมหาวิชราวุธ ร่วมกับอุทิศ ชูช่วย ตั้งทีมสงขลาพัฒนายึดอำนาจท้องถิ่นได้เป็นเทศมนตรีนครสงขลา มีอุทิศเป็นนายกเทศมนตรี เคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาคนที่ 1 สมัยนายกนวพล บุญญามณี และลงสนามการเมืองท่ามกลางเพื่อนฝูง ญาติมิตรและความนิยม และชื่นชมของภาคประชาชนผู้สร้างสรรค์กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน นับตั้งแต่การจัดงาน “ถนนคนเดิน เพลิดเพลินอาหารหรอย” ในฐานะนายกเทศมนตรีนครสงขลา
ความตายของนายพีระ ตันติเศรณี ต่างคนก็พุ่งเป้าไปที่ความขัดแย้งของการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโครงการกระเช้าลอยฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาของนายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งก็เคยร่วมงานกันมาในสมัยที่นายอุทิศ ชูช่วย เป็นนายกเทศมนตรีนครสงขลา นายพีระ ตันติเศรณี ก็เป็นรองนายกเทศมนตรี และเคยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันมาตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวชิราวุธ แต่เพิ่งจะมาแตกกลุ่มกันตอนที่นายอุทิศ ลาออกมาสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และนายพีระลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีนครสงขลา และต้องแข่งขันกับนายกิตติ ชูช่วย น้องชายของนายอุทิศ ซึ่งผลการเลือกตั้งนายพีระได้เป็นนายกฯ และมีคดีฟ้องร้อง ขัดแย้งกันมาเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน และนายนิพนธ์ บุญญามณี เพื่อนของทั้งสองฝ่ายก็มาประกาศเปิดตัวจะลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา แข่งกับนายอุทิศในอีกปีกว่าๆ ข้างหน้า และนายพีระแสดงออกชัดเจนว่าจะสนับสนุนนายนิพนธ์ และอยู่คนละฝ่ายกับนายอุทิศ และน้องชาย
เมื่อเบาะแส และพยานหลักฐานทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า ผู้บงการสังหารนายพีระคือคู่แข่งขันทางการเมืองท้องถิ่นอย่างแน่นอน จึงขออำนาจศาลออกหมายจับมือปืน และผู้บงการคือ นายกิตติ ชูช่วย ซึ่งล่าสุด ได้ข่าวว่าหลบหนีไปกบดานที่ประเทศสิงคโปร์แล้ว เหลือแต่มือปืน และคนอื่นๆ อีก 5 คนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังติดตามเพื่อจับกุมตัวมาดำเนินคดี แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้คือ ประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีใครค่อยกล้ามาเป็นพยาน เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย หรือกลัวอำนาจมืด และอิทธิพลของกลุ่มมือปืน และผู้บงการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย โดยเฉพาะฝ่าย “คนดี” แต่เป็นจุดแข็งของฝ่ายที่เรียกว่า “คนร้าย” เพราะคนดีจะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างตาย แต่คนร้ายจะรวมกลุ่ม และช่วยเหลือ ปกป้องกันอย่างสุดความสามารถจนมีกฎเหล็กในหมู่มือปืน หรือผู้รับจ้างฆ่าคนว่า “ทำงานให้สำเร็จ อย่าให้จับได้ ถ้าจับได้อย่ารับ ถ้าจำเป็นจะต้องรับเพราะจำนนด้วยหลักฐานก็อย่าซัดทอด ถ้าซัดทอดจะตาย แต่ถ้าไม่ซัดทอดจะสบายทั้งตัวเอง และลูกเมียที่อยู่ข้างนอก เพราะผู้บงการ หรือจ้างวานจะช่วยเหลือเอง”
ปัจจัยที่นำมาซึ่งความรุนแรงในสังคมไทยมาจากไหน โดยเฉพาะความรุนแรงในสนามการเมืองท้องถิ่น คิดว่ามาจากรากเหง้าของสังคมอำนาจนิยมที่มีระบบอุปถัมภ์ภายใต้วัฒนธรรมที่ยอมรับในอิทธิพลผลประโยชน์ทั้งอำนาจใน และนอกระบบ ผสมผสานกับวัฒนธรรมทุนนิยมบริโภคนิยมของสังคมอุตสาหกรรมที่แพร่ขยายเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม เป็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกที่ให้ความสำคัญกับคุณค่า และจิตวิญญาณมากกว่ามูลค่า และวัตถุนิยมแบบตะวันตก
โครงสร้างของความรุนแรงมาจากอำนาจของอิทธิพลในระบบราชการร่วมกับอำนาจอิทธิพลนอกระบบราชการของสังคมอำนาจนิยมในวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ที่ยึดโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล อำนาจมืด หรือเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล เจ้าของอำนาจนอกระบบที่คุ้มหัวผู้มีอำนาจในระบบ
แนวทางในการยับยั้งยุติความรุนแรงป่าเถื่อนล้าหลังดังกล่าวในระยะยาว และระยะสั้น คือ การเสริมสร้างวัฒนธรรม และสังคมประชาธิปไตย สังคมที่ให้ความสำคัญและยกย่อง ปกป้องคนดี กดดันคนชั่ว ผู้นำต้องใกล้ชิดปราชญ์ห่างเหินคนถ่อย สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยอันเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ วัฒนธรรมแห่งหลักการเหตุผลตามหลักธรรมาภิบาล สร้างระบบ และกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผล อำนวยความยุติธรรมแทนกระจายความอยุติธรรม เป็นที่พึ่งหวังของคนดีได้บ้าง ร่วมกันขจัดอิทธิพลอำนาจมืด กลุ่มผลประโยชน์ทั้งใน และนอกระบบราชการ
โดยเฉพาะพวกสอพลอ ควบคุมการครอบครองอาวุธ หรือเครื่องมือประหัตประหารโดยเฉพาะอาวุธสงครามไม่ให้ตกอยู่ในมือของอาชญากร สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ” ดังที่ท่านพุทธทาสบอกว่า
“ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ/มนุษยชาติจะเลวร้ายกว่าเดรัจฉาน/มัวหลงเรื่องกินกามเกียรติเกลียดนิพพาน/ล้วนดื้อด้านไม่เหนี่ยวรั้งบังคับใจ/อาชญากรรมเกิดกระหน่ำลงในโลก/มีเลือดโชกแดงฉานแล้วซ่านไหล/เพราะบ้ากินบ้ากามทรามเกินไป/บ้าเกียรติก็พอไม่ได้ให้เมาตน/อยากครองเมืองครองโลกโยกกันใหญ่/ไม่มีใครเมตตาใครให้สับสน/ขอศีลธรรมได้กลับมาหาหมู่คน/ให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทันเวลา”