xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย(1)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันทักษิณคดีศึกษา
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

“บ้านอ่าวทราย” เป็นชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลเกาะยอ อำเภอเมือสงขลาอยู่ในท้องที่หมู่ที่1 ทางฝั่งตะวันออกของเกาะยอ เป็นที่ตั้งของสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณที่ย้ายมาจากมหาวิทยาลัยริมเขารูปช้างสมัยยังเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา หรือภาคใต้เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว

ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ อดีตผู้สถาปนาและผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันแห่งนี้ มีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันอย่างแยกกันไม่ออก ว่ากันว่าเมื่อพูดถึงประวัติ ความเป็นมาของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ก็คือประวัติความเป็นมาของ ศ.สุธิวงศ์ เมื่อถึงประวัติความเป็นมาของ ศ.สุธิวงศ์ ก็คือประวัติความเป็นมาของสถาบันทักษิณคดีศึกษา

ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ อดีตที่ปรึกษาสถาบันทักษิณคดีศึกษาผู้ล่วงลับ เคยกล่าวอย่างติดตลกในหมู่เพื่อนร่วมงานและศิษย์ผู้ใกล้ชิดสนิทสนมว่า “อาจารย์ประดับ(ภรรยา ศ.สุธิวงศ์) คือภรรยาน้อย สถาบันทักษิณคดีศึกษาคือภรรยาหลวงของ ศ.สุธิวงศ์” เนื่องจากไม่ว่าจะไปราชการที่ไหน ไปกี่วันเมื่อมาถึงสงขลา ศ.สุธิวงศ์ ต้องไปที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาก่อนกลับบ้านไปหาภรรยาและลูกๆ

หากท่านได้อ่านหนังสือ “คราบน้ำตาบนทางชีวิตและงานของ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจัยเชิงคุณภาพว่าเป็นตำราระดับ “มาสเตอร์พีช” ของงานวิจัยเชิงคุณภาพ ย่อมทราบดีว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ผู้สถาปนาต้องฝ่าวิบากกรรมต่างๆ นานา สองข้างทางตลอดเวลาประมาณสามทศวรรษมีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

ทั้งคำสรรเสริญเยินยอในระดับชาติและระดับอาเซียน และคำสบประมาทเย้ยหยันจาก “ศิษย์เนรคุณ” “ผู้บังคับบัญชาอยุติธรรม” และ “มิตรทรยศ” มากมาย ซึ่งหลายฉากหลายตอนผู้เขียนจะนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อให้ทราบทั่วกันว่า เบื้องลึกและเบื้องหลังของความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของใครต่อใคร มันยังมีคราบน้ำตาและความเจ็บปวดที่หลายคนไม่เคยได้รับรู้

แต่ผู้เขียนกับท่านอาจารย์สุธิวงศ์ต่างรับรู้อยู่เต็มอก ในฐานะ “องครักษ์พิทักษ์สุธิวงศ์” (ฉายาที่ภรรยาผู้เขียนมอบให้) และบัดนี้ ศ.สุธิวงศ์ ล้มป่วยจากการกรำงานหนักเกินวัยไม่อยู่ในสภาพที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนแต่ฝ่ายเดียวที่จะทำหน้าที่เขียน “คราบน้ำตาบนทางชีวิตของสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ภาคพิสดารต่อไป

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่า ศ.สุธิวงศ์ ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์สมัยที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา มีรองอธิการบดีเป็นชาวมุสลิมและมีผู้ช่วยรองอธิการบดีเป็นลูกเขยนายอำเภอและเป็นนักปฏิบัติการจิตวิทยาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่นเดียวกับที่ไม่รู้ว่าทำไม ศ.สุธิวงศ์ต้องย้ายที่ทำงานหลังเกษียณอายุราชการออกจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา บนพื้นที่ประมาณ 24 ไร่ หลายพันตารางเมตรไปนั่งทำงานที่ศูนย์ศรีเกียรติพัฒน์ของพี่หนู (พรรณิภา โสตถิพันธุ์) อันอัตคัดคับแคบ (ด้วยสถานที่) จนผู้เขียนต้องเดินตะแคงข้างทุกครั้งที่แวะเวียนไปคารวะอาจารย์ที่นั่น

วันที่ผู้เขียนไปติดต่อขอที่อยู่ให้กับอาจารย์ที่ถูกกดดันให้ย้ายออกจากสถาบันที่ท่านสร้างมากับมือและทุ่มเทให้มันทั้งชีวิต พี่หนูตอบรับทันทีอย่างไม่ลังเลว่า “พี่รู้สึกเป็นเกียรติที่อาจารย์จะมาอยู่ที่นี่ แต่ไม่สบายใจอย่างเดียวคือที่นี่มันอาจจะคับแคบไปสำหรับอาจารย์” ผู้เขียนบอกว่า “ไม่เป็นไรพี่ คับที่อยู่ได้แต่คับใจอยู่ยาก” วันนี้ถ้าไม่มาที่นี่อาจารย์ก็ต้องเช่าบ้านทำสำนักงานอย่างแน่นอน

หลายคนคงไม่เคยรู้ว่าอาจารย์คับแค้นใจจนถึงขั้นปรึกษากับผู้เขียนว่า ให้ช่วยหาทนายให้ท่านจะฟ้องร้องบางคนที่เป็นลูกศิษย์แท้ๆ แต่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์และกล่าวร้ายท่านครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่น่าให้อภัย ผู้เขียนทัดทานท่านว่า แม้ผู้เขียนจะมีเพื่อนที่พอจะเป็นทนายว่าความให้อาจารย์ได้แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่อาจารย์จะมาแต่งทนายฟ้องลูกศิษย์ เพราะไม่ว่าจะแพ้หรือชนะคดีความอาจารย์ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ให้เสียหาย

พร้อมกันนั้น ผู้เขียนเคยสัพยอกอาจารย์ว่า “ก็คนที่เป็นปัญหากับอาจารย์ก็ล้วนเป็นคนที่อาจารย์ให้การสนับสนุนพวกเขามาทั้งนั้น” อาจารย์ตอบรับอย่างไม่มีข้อแม้ว่า “พระอธิการร่วงอดีตเจ้าอาวาสวัดวารีปาโมกข์ (ปากบางตะเครียะ) ทำนายไว้แล้วว่าผมทำดีไม่ขึ้น”
(แฟ้มภาพข่าวประชาสัมพันธ์ มอ.หาดใหญ่) รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะผู้บริหารเข้ามอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปราชญ์และนักวิชาการผู้ริเริ่มโครงการเพื่อความรู้ความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในท้องถิ่นภาคใต้ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ที่บ้านในอำเภอเมืองสงขลา
จะมีใครคาดคิดบ้างว่า คนที่ได้รับการยกย่องจากอาเซียนให้ได้รับรางวัลทางวัฒนธรรม เจ้าของต้นแบบเอ็นไซโคลปีเดียทางวัฒนธรรมชุดแรกของโลก (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้) และเจ้าของปริญญากิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน แต่กว่าจะได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันอุดมศึกษาที่ตนเองเคยสังกัดจนถึงวันเกษียณอายุราชการจะต้องฝ่าวิบากกรรม ถูกเย้ยหยันในที่ประชุมตอนลับหลังจากอธิการบดีที่ตนเองและคณะไปชักชวนมาเป็นอธิการบดีครั้งแรก (มือใหม่หัดขับ) ที่นี่

วันนี้ หลายคนที่เคยนับถือท่านกล่าวผรุสวาทด้วยถ้อยคำหยาบคายที่ผู้เขียนไม่อาจจะนำมากล่าวในที่นี้ได้ หลายคนมีความทรงจำอันเลวร้ายกับบุคลิกเอางานแต่ไม่เอาคนของท่าน หลายคนได้ดิบได้ดีมีความเจริญก้าวหน้า เพราะขยันท่องบ่นชื่อหรืออกนามท่านต่อหน้าผู้มีอำนาจที่เชื่อมั่นศรัทธาในตัวท่าน (ตามคนอื่นหรือเพื่อให้ดูดีมีวิสัยทัศน์ก็อีกเรื่องหนึ่ง) ทั้งๆ ที่ลับหลังคนเหล่านั้นคนพวกนี้ก็แทบจะถ่มน้ำลายใส่อาจารย์เพื่อประกาศกับสวากว่า “กูไม่แคร์คนอย่างอ้ายหัวครกนั่นหรอก”

ทำไงได้ เราและท่านเกิดมาในสังคมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ที่มั่นคงเข้มแข็ง ผู้คนรอบข้างผู้มีอำนาจเต็มไปด้วยพวกผู้ชายสอพลอ ผู้หญิงตอแหลและแพศยา อาจารย์เองก็เคยปรารภกับผู้เขียนถึงใครหลายคนทุกครั้งที่โทร.หาผู้เขียนเพื่อไปทานข้าว และถามข่าวถึงสถาบันทักษิณคดีศึกษาด้วยความเป็นห่วง

ประโยคที่ผู้เขียนมักจะได้ยินบ่อยๆคือ “ผมไม่เคยเห็นมันทำตามที่พูดสักเรื่อง” (มันในที่นี้คืออดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่ท่านไปชักชวนมาอยู่สถาบันทักษิณคดีศึกษาในยุคหนึ่ง) “คุณ…(อดีตคนใกล้ชิดท่านในยุคบุกเบิก) เขาอยู่ได้ทั้งนั้นแหละขอให้ได้ประโยชน์” “…(ชื่ออดีตผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย) มันผลักดันให้…(อดีตผู้อำนวยการและรองอธิการบดี) เป็นผู้อำนวยการเพื่อต้องการสนับสนุนให้…(อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา) ได้เป็นรองผู้อำนวยการ” เป็นต้น

(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 13 มีนาคม)
กำลังโหลดความคิดเห็น