xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย (4)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ประมาณปี 2544 ผลงานวิจัยในโครงการโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนาภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมธีวิจัยอาวุโสสาขาสังคมศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เริ่มรายงานผลการวิจัยในทีประชุมสัมมนาทั้งที่จัดโดยโครงการฯ เอง และหน่วยงานอื่นจัดแล้วเชิญนักวิจัยในโครงการบางคนเข้าร่วมเสนอผลงานและผลงานเหล่านั้นตีพิมพ์ออกเผยแพร่

ปรากฏว่าผลงานวิจัยเรื่อง “หัวเชือกวัวชน” ของ อ.อาคม เดชทองคำ จากสถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช) ได้รับการกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช, นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี, นายนิพนธ์ บุญภัทโร ฯลฯ เนื่องจากผู้วิจัยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงอุปนิสัยใจคอของคนใต้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า โดยข้อสรุปดังกล่าวไปกระทบความรู้สึก ความเชื่อ สถานภาพ บทบาทของผู้คนเหล่านั้น จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทำให้หัวหน้าโครงการฯ และเพื่อนร่วมงานต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วยโดยไม่ได้คาดหมาย

ผู้วิจัยถูกประธานหอการค้านครศรีธรรมราช และผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชในเวลานั้น ร้องทุกข์กล่าวโทษแบบยื่นคำขาดต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผู้บังคับบัญชาของผู้วิจัยตั้งคณะกรรมการสอบสวน และเอาผิดทางวินัยต่อผู้วิจัย ผู้วิจัยต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อตั้งหลักเตรียมตัวสู้กับข้อกล่าวหาว่าดูหมิ่นเหยียดหยามน้ำใจของคนใต้

หัวหน้าโครงการวิจัยต้องรีบสั่งการแกมร้องขอให้ผู้เขียนเชิญสื่อมวลชนที่เป็นที่นิยมของผู้เสพข่าวสารบ้านเมืองในขณะนั้น คือไอทีวี (ITV) และทีวีอีกช่องหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าช่อง 3 หรือช่อง 5 มาสัมภาษณ์ความเห็นเพื่ออธิบายทำความเข้าใจถึงที่มาของโครงการวิจัย สิ่งที่ค้นพบจากการวิจัย ตลอดจนปมที่เป็นปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้มาจากผลการวิจัยไปค้นพบอะไรใหม่เกี่ยวกับบุคลิก อุปนิสัยใจคอของคนใต้
 
ความจริงทัศนะต่อคนใต้ที่ผู้วิจัยนำมาเสนอในการค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นความเห็นที่ปรากฏในบทความของ อ.ชวน เพชรแก้ว ในหนังสือรวมบทความเล่มหนึ่งของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่ตีพิมพ์เผยแพร่มานานแล้ว แต่ที่กลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา เพราะผู้วิจัยนำข้อสรุปดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับนักการเมืองภาคใต้ในยุคนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่และกำลังมีปัญหาภายใน และภายนอกพรรค สอดคล้องกับประเด็นที่ผู้วิจัยกล่าวถึง และด้วยลีลาท่าทีที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้วิจัย จึงทำให้เรื่องดังกล่าวบานปลายไปเป็นการดูหมิ่นดูแคลนนักการเมืองภาคใต้ และบรรพบุรุษของคนใต้

ผู้เขียนทำหน้าที่ร่างและบันทึกบทสัมภาษณ์หัวหน้าโครงการในหลายประเด็น เพื่อให้ได้เนื้อหาที่เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นความขัดแย้งต่างๆ แล้วขอความกรุณาจาก อ.สถาพร ศรีสัจจัง รองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในสมัยนั้น ช่วยมีหนังสือปะหน้าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวไปยังพี่เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ในขณะนั้น ช่วยตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับความกรุณาด้วยดี

หลังจากนั้น ผู้เขียนและ อ.สุภาคย์ อินทองคง จากมหาวิทยาลัยทักษิณก็ช่วยกันเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง “หัวเชือกวัวชน” ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันอีกคนละชิ้น สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปด้วยดี ผู้วิจัยก็ได้รับอานิสงส์มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในหลายวงการ และสุดท้ายก็ได้รับรางวัลทางด้านงานวิจัยจากสภาสถาบ้านราชภัฏ และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับหัวหน้าโครงการฯ (อ.สุธิวงศ์) ทราบว่า ถูก นายชวน หลีกภัย สั่งการให้ นายนิพนธ์ บุญภัทโร เลขานุการส่วนตัวตรวจสอบถึงความเป็นมาเป็นไป และการใช้จ่ายงบประมาณที่ สกว.อนุมัติให้เมธีวิจัยอาวุโสว่าทำไม สกว.จึงให้งบประมาณแก่นักวิจัยที่เอาผลงานวิจัยมาด่ารัฐบาล

ส่วนผู้เขียนก็พลอยฟ้าพลอยฝนกับเขาไปด้วย ไม่ว่าในฐานะของผู้ใกล้ชิดหัวหน้าโครงการฯ และเป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนอย่างไอทีวี ทีวีเชิงข่าวในขณะนั้น และในฐานะของเพื่อนสนิทของผู้วิจัย ตลอดจนในฐานะผู้เขียนบทสัมภาษณ์ และบทความกระแสทรรศน์ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ผู้เขียนได้รับจดหมายด่าจากผู้ไม่ประสงค์จะออกนามจริง แต่ใช้นามแฝงว่า จาก “คนใต้ที่ถูกพวกมึงด่า” เพื่อโต้แย้งบทความของผู้เขียน (คล้ายๆ กับที่ผู้เขียนได้รับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทความที่กำลังนำเสนออยู่ในผู้จัดการออนไลน์ในขณะนี้ ที่ผู้แสดงความคิดเห็นใช้นามแฝง ไม่กล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะใช้ชื่อจริงและเปิดเผยตัวตน ต่างออกมาดูหมิ่นดูแคลนว่า “เป็นบทความที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา”บ้าง “ตอแหลบ้าง”และล่าสุดบอกว่า “เป็นเรื่องส่วนตัว ชาวบ้านอย่างเขาจะได้อะไรบ้าง” ต่างกับผู้เขียนที่ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง และมีที่อยู่ที่ยืนยันชัดเจน เพราะพร้อมจะรับผิดชอบในความคิดความเห็นของตนตามจรรยาบรรณของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างอารยะเขาทำกัน)

ปรากฏการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ และทุกเรื่องที่เขียนมา ตลอดจนเรื่องราวในตอนต่อๆ ไป มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของนายจรูญ นายสุธิวงศ์ นายอาคม และใครต่อใครที่ถูกเอ่ยอ้างถึง แต่มันคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคนคนหนึ่ง (ซึ่งในรอบร้อยปีไม่แน่ใจว่าจะมีสักกี่คน หรือมีอีกหรือไม่) กับคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในภารกิจที่มีเกียรติ นั่นคือ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ผู้เขียนเก็บมานำเสนอเพื่อให้ผู้ที่ยังไม่รู้ (หรือรู้ไม่จริง)ได้สำเหนียกว่า บนเส้นทางสร้างสรรค์ของคนคนนี้ มันมีวิบากกรรมอะไรบ้าง
 
และนี่คือการถอดบทเรียนให้มนุษย์ (ที่ไม่ใช่เดรัจฉาน) ได้เรียนรู้ว่าคนเหล่านั้นเขาได้ผ่านบทเรียนอะไรมาบ้างในการทำงานสร้างสรรค์ กว่าที่โลกจะขานรับถึงผลงานของพวกเขา แต่หากมีบางคนมองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว และไร้ประโยชน์สำหรับเขา ก็ถือว่าเป็นเคราะห์กรรมของผู้เขียนที่ไม่มีศักยภาพพอที่จะทำเรื่องสำคัญเช่นนี้ให้เป็นจริงได้ในสายตาของบางคน แต่นั่นแหละ ผู้เขียนพอจะทำใจได้เมื่อคิดถึง “ดอกบัวสี่เหล่า”หรือ “เวไนยสัตว์กับอเวไนยสัตว์”ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น