คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ขณะที่ต้นฉบับนี้กำลังเผยแพร่ผู้เขียนกำลังเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ พร้อมบุคลากรของสถาบันทักษิณคดีศึกษาทุกระดับประมาณสามสิบกว่าคน รวมคนในครอบครัวด้วยประมาณสี่สิบคน ซึ่งกว่าจะได้ไปก็ต้องฝ่าวิบากกรรมโดยไม่คาดคิดนานาประการเนื่องจากมีมารผจญอันเกิดแต่ “แค้นฝังหุ่น” จาก “กรวดในรองเท้า”ที่คอยทิ่มตำให้รำคาญใจ
ก่อนเกษียณอายุราชการในปี 2539 ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในขณะนั้น ต้องฝ่าวิบากกรรมนานัปการจากการกลั่นแกล้งของผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ซึ่งเป็นคนที่ท่านเองและกัลยาณมิตรอย่าง ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ เป็นผู้ชักนำและสนับสนุนเข้าสู่อำนาจ เพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการบริหารมหาวิทยาลัยไปสู่ความจำเริญก้าวหน้าอย่างอารยะเขาเป็นกัน
เดิมพันสุดท้ายที่ ศ.สุธิวงศ์ ต้องเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ภายใต้ข้อบังคับใหม่ของมหาวิทยาลัยทักษิณที่ยกฐานะมาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตภาคใต้มาเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณเอกเทศในปี 2539 ปรากฏว่าบุคคลที่ท่านสนับสนุนโดยไปเชิญชวนมาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรพ่ายแพ้ในเกมการสรรหา โดยเสียตำแหน่งผู้อำนวยการให้กับ อ.ปก แก้วกาญจน์ อดีตรองผู้อำนวยการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยทักษิณในขณะนั้นมองว่าน่าจะง่ายต่อการปกครองดูแลมากกว่า
วันจัดงานแสดงมุทิตาจิตในวาระเกษียณอายุราชการของท่าน ศ.สุธิวงศ์ ผู้เขียนจำคำพูดของคนสองคนได้ติดหูจนทุกวันนี้ คนหนึ่งคือ ศ.สุธิวงศ์ที่พูดเหมือนกระซิบข้างหูขณะที่ผู้เขียนกราบคารวะรดน้ำขอพรว่า “ฝากสถาบันฯ ด้วย” และคำพูดของอดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาหลายสมัย หลายกรรมหลายวาระที่ประกาศบนเวทีแสดงมุทิตาจิตว่า “ถ้าหมาตัวไหนมันเห่าอาจารย์สุธิวงศ์ ผมจะเตะหมาเอง”
หลังจากนั้นไม่นานฝักฝ่ายของ ศ.สุธิวงศ์ก็ประสบชะตากรรมอันไม่น่าจะเกิด คือในวันนัดพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อเตรียมการมอบงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาแก่ อ.ปก แก้วกาญจน์ อ.ไพบูลย์ ดวงจันทร์ ขันอาสาไปรับ ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ ที่ปรึกษาสถาบันทักษิณคดีศึกษามาจากบ้านบริเวณบ้านโคกสูง ขณะอาจารย์กำลังรดน้ำต้นไม้ ไปร่วมปรึกษาหารือที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งริมเกาะยอหลังสถาบันทักษิณคดีศึกษา
ตกดึก อ.ไพบูลย์ก็ทำหน้าที่ไปส่ง ศ.พันตรีอาคม แต่เมื่อเบ๊นซ์ของ อ.ไพบูลย์มาถึงกลางสะพานติณสูลานนท์ช่วงจะข้ามมาทางพะวงก็เกิดประสานงานกับรถยนต์อีกคันทำให้ อ.ไพบูลย์ผู้ขับขี่ขาหัก อ.อาคมผู้โดยสารไหปลาร้าหักและทั้งสองคนบาดเจ็บเล็กน้อยอีกหลายแห่ง ต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
หลังจากนั้นไม่นาน อ.ไพบูลย์ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันในการเดินไปไหนมาไหน และข่าวว่าถูกกลั่นแกล้งให้เขย่งไปลงชื่อมาปฏิบัติราชการที่ชั้นบนสุดของอาคารเรียน และต่อมาก็ขอย้ายกลับไปอยู่ประสานมิตรต้นสังกัดเดิม ขณะที่ อ.อาคมพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านไม่นานก็เสียชีวิตลงท่ามกลางความโศกเศร้าของญาติมิตรและศิษยานุศิษย์
นับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลที่สำคัญของสถาบันทักษิณคดีศึกษาและแวดวงนักวิชาการอาวุโสของภาคใต้ ที่มีแนวคิดและจุดยืนที่เป็นตัวของตัวเอง คอยเป็นหลักให้ยึดเหนี่ยวสำหรับผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม เป็นคนที่มีส่วนในการจุดประกายให้ผู้เขียนได้เริ่มต้นเขียนบทความชิ้นแรก และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันโดยที่บรรณาธิการกับผู้เขียนไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน บทความชิ้นนั้นชื่อว่า “ความผิดของอาจารย์ป๋วย” ซึ่งมติชนรายวันให้เกียรตินำชื่อบทความชิ้นนี้มาขึ้นปกหน้าบนสุด
ที่มาของบทความชิ้นนี้เกิดจากคำพูดของ อ.อาคม ที่กล่าวขณะเปิดประตูรถและก้าวขึ้นนั่งเคียงข้างผู้เขียนที่เป็นคนขับรับอาจารย์ที่หน้าบ้าน เพื่อไปสอนนิสิตบัณฑิตศึกษาสาขาไทยคดีศึกษารุ่นที่ผู้เขียนเรียนอยู่ด้วย ช่วงนั้นบ้านเมืองกำลังมองหาผู้เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ตำแหน่งที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเป็นมาก่อนหน้านี้และมีตำนานเป็นที่ร่ำลือถึงความทระนงองอาจและไม่หวั่นเกรงอำนาจทางการเมืองหรือเผด็จการ
อาจารย์เปรยขึ้นมาแบบทีเล่นทีจริงให้ผู้เขียนได้ยินว่า “มันเป็นความผิดของอาจารย์ป๋วย” ผู้เขียนถามว่า “ทำไมอาจารย์จึงว่าอย่างนั้น" อาจารย์ตอบว่า “เพราะอาจารย์ป๋วยทำไว้ดีเกินไปจึงทำให้บ้านเมืองไทยวันนี้หาคนมาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่เหมาะสมยาก”
เมื่อ อ.ปก เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา อาจารย์ก็พยายามดูแลภารกิจของสถาบันให้เป็นไปตามที่ ศ.สุธิวงศ์ได้วางแนวทางไว้ทุกประการ แต่เนื่องจากอาจารย์อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง ศ.สุธิวงศ์ กับอธิการบดีในขณะนั้น ท่านจึงถูกกดดันจากทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอธิการบดีที่พยายามให้ อ.ปกหาทางกดดันให้ ศ.สุธิวงศ์ ย้ายออกจากสถาบันทักษิณคดีศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น ติดมิเตอร์ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าหน้าห้องทำงานของ ศ.สุธิวงศ์ ให้เจ้าหน้าที่ย้ายที่ทำงานลงมาห้อมล้อมห้องทำงานของ ศ.สุธิวงศ์ เป็นต้น
ในที่สุด ศ.สุธิวงศ์ ต้องมอบหมายให้เบญจวรรณ บัวขวัญ หาบ้านเช่าข้างนอกเพื่อเป็นสำนักงานโครงการโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา และโครงการปรับปรุงสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ทั้งๆ ที่โครงการทั้งสองต่างเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันทักษิณคดีศึกษาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผู้เขียนมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าถ้า ศ.สุธิวงศ์อยู่ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาที่ตนเองสร้างมากับมือไม่ได้ ก็ไม่ควรจะต้องไปเช่าบ้านทำสำนักงาน ถ้าไม่กลับบ้านก็ต้องใช้สถานที่ราชการอื่นๆ ที่เหมาะสม จึงได้ขันอาสาไปติดต่อพี่หนู (พรรณิภา โสตถิพันธุ์) ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องพร้อมแสดงความยินดีที่อาจารย์จะไปอยู่ด้วย
นับว่า ศ.สุธิวงศ์ถูก “หมาเห่า” ตามความหมายของ อ.ไพบูลย์แล้ว แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ข่าวว่าจะมีใคร “เตะหมา” สักเอ๋งเดียว มิหนำซ้ำคนที่ ศ.สุธิวงศ์ เคยชูชุบอุปถัมภ์มาทั้งหญิงชายแทนที่จะคัดค้านการย้ายออกจากสถาบันทักษิณคดีศึกษาของ ศ.สุธิวงศ์ แต่เขาและหล่อนกลับเป็นห่วงเรื่องสมบัติประเภทภาพถ่ายของสถาบันที่อยู่ในการครอบครองของ ศ.สุธิวงศ์ โดยถามผู้เขียนว่าอาจารย์เอาไปด้วยหรือเปล่า หรือไม่ก็วิตกว่าแอร์ที่ติดตั้งในห้องทำงานส่วนหนึ่งเป็นของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ไม่ใช่ของ ศ.สุธิวงศ์ เป็นต้น