xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยด้อยค่า : เหตุเรียกหาปฏิวัติ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะนี้ เสียงบ่นเบื่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นรูปแบบเบื้องต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเริ่มดังขึ้นอีกครั้ง และทุกครั้งที่คนเบื่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุใด จะต้องตามมาด้วยการเรียกนักปฏิวัติให้เข้ามาขจัดนักการเมืองน้ำเน่าให้พ้นไปจากวงการเมือง

ในครั้งนี้ก็ทำนองเดียวกัน จะเดินไปทางไหน และพูดคุยกับใคร ถ้าลองได้เอ่ยถึงปัญหาการเมืองเกือบทุกคนที่ได้พูดคุย ยกเว้นผู้ที่นิยมชมชอบนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่กำลังเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ จะต้องได้ยินคำว่า เบื่อการเมือง และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเบื่อก็ทำนองเดียวกัน คือ

1. ไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณธรรม และมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพวกพ้อง โดยไม่สนใจปัญหาโดยรวมของประเทศ เช่น ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และความอยู่ดีกินดีมีความสุขเท่าที่ฐานะทางการเงินของประเทศจะพึงอำนวย โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ดำเนินการ

2. ในการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง พูดทุกอย่างที่เห็นว่าจะทำให้ประชาชนเชื่อ และเลือกตัวเองเพื่อหวังชนะการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงว่าจะทำได้หรือไม่ และถึงแม้ว่าจะทำได้โดยอาศัยเสียงข้างมาก ในทำนองพวกมากลากไป ออกกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นเครื่องมือบริหารเอื้ออำนวยให้เกิดผลสำเร็จทางการเมือง หรือแม้กระทั่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องดังที่พรรคเพื่อไทยกำลังดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้

3. นอกจากมีพฤติกรรม 2 ประการข้างต้นแล้ว นักการเมืองจากพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลในขณะนี้ ยังมีพฤติกรรมซ่อนเร้นในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 โดยทำแนวร่วมกับขบวนการนอกสภา ทั้งที่มาจากแวดวงนักวิชาการ และมาจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นิยมระบอบทักษิณมาเป็นกลไกขับเคลื่อนให้มีการแก้กฎหมาย และจากประเด็นของการแก้กฎหมายนี้เอง ดูเหมือนจะเป็นเหตุสำคัญในอันที่ทำให้คนเบื่อการเมืองมากขึ้น และมากขึ้นทุกที

ยิ่งเบื่อการเมืองในระบอบเลือกตั้งมากเท่าใด เสียงเรียกร้องให้กองทัพออกมาทำการโค่นล้มการเมืองในระบอบนี้ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อมีโอกาสเป็นฝ่ายรัฐบาลบริหารประเทศ ส่วนใหญ่จะตกเป็นเป้าโจมตีในข้อหาทุจริตแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุว่าในการสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เลือกตั้งในชนบทจะใช้เงินมากในลักษณะลงทุนทางการเมือง ดังนั้นเมื่อได้โอกาสก็ฉวยโอกาสถอนทุน และไม่ถอนเพียงส่วนที่ลงทุนแต่ได้บวกส่วนที่เป็นกำไรเข้าไปหลายเท่าตัว และนี่เองคือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมัวหมอง เป็นที่เสื่อมศรัทธา และเป็นเหตุอ้างประการหนึ่งทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร

การปกครองในระบอบเผด็จการซึ่งได้มาจากการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีข้อดี และข้อเสียอย่างไรเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

เพื่อให้มองเห็นภาพการเมืองในอดีตถึงปัจจุบัน โดยเริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ก็จะพบว่าประเทศไทยได้มีระบบการปกครองทั้งระบอบเผด็จการ และประชาธิปไตยสลับกันไป แต่โดยเฉลี่ยแล้วการปกครองในระบอบเผด็จการจะยาวนานมากกว่าประชาธิปไตย แต่การปกครองในระบอบเผด็จการก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทุกด้าน ตรงกันข้าม หลายๆ ด้านดีกว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาประเทศนำความเจริญมาสู่ประเทศเป็นอย่างมากในด้านการศึกษา ด้านสังคม ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันธพาลที่เคยออกอาละวาดเกะกะระรานชาวบ้านตามตรอกซอกซอยถูกจับกุมคุมขังเกือบหมด และที่เป็นเช่นนี้ได้ก็ด้วยผู้นำคือจอมพล สฤษดิ์ ได้นำคนดีมีความรู้ มีความสามารถมาใช้งานเป็นอันมาก เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ดร.อำนวย วีรวรรณ และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น

แต่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่มียุคใดโดดเด่นในด้านดีเมื่อเทียบกับรัฐบาลเผด็จการยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่มีความโดดเด่นในด้านเสียในยุครัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีทั้งการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง รวมไปถึงมีพฤติกรรมเป็นเผด็จการรัฐสภา คือใช้สภาเป็นเครื่องมือออกกฎหมายเอื้ออำนวยต่อการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฎหมายเรื่องการควบคุมอาคารสูงในบางพื้นที่ เป็นต้น และนอกจากนี้ยังตกเป็นจำเลยทางสังคมในข้อหาจาบจ้วงเบื้องสูง จนเป็นเหตุให้ถูกนำไปเป็นเงื่อนไขปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ดังนั้น การจะบอกว่าระบอบใดดีและไม่ดีไม่ควรจะยึดติดเพียงรูปแบบ แต่ควรลงลึกในด้านเนื้อหาว่าระบอบใดให้ประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนโดยรวม และถ้ามองในแง่นี้ก็จะพบว่าระบอบการปกครองเป็นเพียงเครื่องมือ แต่ตัวการในการขับเคลื่อนให้กลไกการปกครองเกิดประโยชน์แก่ประเทศโดยรวมขึ้นอยู่กับคนคือ ผู้ปกครองนั่นเอง

แต่ขณะนี้และเวลานี้ตัวบุคคลคือนักการเมืองเป็นบ่อเกิดแห่งความเสื่อมศรัทธา และก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายมากขึ้นถึงขั้นคนออกมาเรียกร้องหาการปฏิวัติแล้ว และเชื่อได้ว่าถ้าพฤติกรรมของนักการเมืองยังคงเป็นเช่นนี้ การปฏิวัติคงจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้คงจะหนีสัจธรรมข้อที่ว่า เผด็จการที่เป็นธรรม และมีความเข้มแข็งทำเพื่อประชาชน ย่อมดีกว่าประชาธิปไตยที่ไม่ยุติธรรม อ่อนแอ และทำเพื่อตนเอง ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ส่วนว่าเมื่อใดนั้น ถ้าจะคาดเดาก็ต้องอาศัยโหราศาสตร์ซึ่งอนุมานได้ว่าคงจะเป็นช่วงที่ดาวอังคารและดาวเสาร์เดินผิดปกติ คือกลางเดือนมีนาคม หรือไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคม 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น