xs
xsm
sm
md
lg

ม.๑๑๒ ยังไม่ยุติ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ปัญหาเรื่องความขัดแย้งการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ยังไม่จบสิ้น และกลายเป็นปมให้มีการโจมตีกันระหว่างแกนนำนปช.กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำนปช.ออกมาโต้พรรคประชาธิปัตย์ที่กล่าวหาพรรคเพื่อไทยว่า อยู่เบื้องหลังสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ว่า เป็นการเห็นชัดว่ามีคนบางกลุ่มนำเอาสถาบันเบื้องสูงมาอ้างเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมายาวนาน จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันในสังคม

เขากล่าวว่าท่าทีของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลนั้นชัดเจนในเรื่องนี้อยู่แล้ว จนไม่ต้องอธิบายอะไรกันอีก และสภาฯ ยังมีทีท่าชัดเจนว่าไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขมาตรานี้

นายณัฐวุฒิยังชี้ด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่ดีที่สุดคือ ให้รับฟังทุกฝ่ายและยอมรับความจริงกันว่า ประเทศนี้ต้องปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แล้วทุกฝ่ายยุติการเอ่ยอ้างถึงสถาบันเบื้องสูงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.อีกคนหนึ่งก็กล่าวถึงบรรยากาศทางการเมืองขณะนี้ว่า มีกลุ่มที่สูญเสียอำนาจพยายามหยิบยกกรณีการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์กับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ ขึ้นมาอ้างเพื่อเป็นเหตุให้เกิดกรณีกระทำรัฐประหาร มีการออกมาประสานเสียงระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะมัดรวมรัฐบาลเข้ากับกลุ่มนิติราษฎร์ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงโดยสร้างจินตนาการว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการล้มสถาบัน ตนเชื่อว่าวิธีการนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่มุ่งให้เกิดการยุให้เกิดการรัฐประหารโดยคนกลุ่มหนึ่งที่สูญเสียอำนาจ

สำหรับการเคลื่อนไหวเรื่องความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับความเห็นเรื่อง ม.๑๑๒ก็ยังคุกรุ่น โดยอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในฐานะแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ยังคงปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ทางนายศิริพงศ์ อริยสุนทร ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยที่ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ม.๑๑๒ ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือว่า เป็นสถาบันเดี่ยวที่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นความงดงามในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็เข้าใจเหตุผลและความเป็นห่วงของผู้บริหาร แต่อยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ พร้อมขอรับฟังคำชี้แจงของผู้บริหารอีกครั้ง หากท้ายที่สุดแล้วไม่เปลี่ยนจุดยืนก็ต้องจำยอมถูกลิดรอนสิทธิ์ ทั้งนี้องค์กรนักศึกษาฯ มีความเห็นพ้องว่าความสวยงามในความเห็นที่แตกต่าง คือภาพสะท้อนแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แท้จริง

แต่ อมธ. หรือองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุคเพื่อแสดงจุดยืนต่อกรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่มติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ที่ห้ามไม่ให้คณะนิติราษฎร์ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ ว่า ขอให้ทางมหาวิทยาลัยทบทวนมติดังกล่าว เพราะกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยทาง อมธ.เคารพความคิดเห็นหลากหลายทางการเมืองของนักศึกษาทุกคน และขอให้อธิการบดีชี้แจงถึงมติดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ส่วนนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์กล่าวว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับคณะนิติราษฎร์ในหลายเรื่อง แต่เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นที่อยู่ในขอบเขตกฎหมาย เป็นสิ่งที่เราควรจะเคารพและคุ้มครอง ทั้งนี้ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นนั้น

สำหรับ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในนักวิชาการที่ลงชื่อสนับสนุนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ กล่าวว่า เห็นว่าคำแถลงการณ์มหาวิทยาลัยไม่ถูกต้องตามขนบประเพณีของธรรมศาสตร์ที่ยืนยันในหลักการ “เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ” ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยของผู้ประศาสต์การปรีดี พนมยงค์ ตลอดจน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งเคยกล่าวเป็นหลักการหนึ่งของมหาวิทยาลัยว่า “ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ทั้ง ๗ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้สถาบันกษัตริย์ของเรามั่นคงและเป็นสมัยใหม่นั้น สมควรที่จะได้รับการพิจารณาด้วยสติปัญญาและขันติธรรม ขอเสนอให้ท่านอธิการบดีและคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยให้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยน อภิปรายและดำเนินการหาทางออกให้กับสังคมและประเทศชาติของเราในยามนี้

อนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนคณะนิติราษฎร์ เริ่มขึ้นป้ายคัดค้านคำสั่งของอธิการบดี ที่บอร์ดอาคารเรียนรวมคณะสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีป้ายประกาศรณรงค์ให้แต่งชุดดำไว้อาลัยให้กับเสรีภาพที่หายไปด้วย ขณะที่กลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านการแก้ไข ม.๑๑๒ ก็เริ่มออกมาเขียนข้อความตอบโต้บนกระดานด้วยเช่นกัน โดยเรียกร้องให้เลิกดึงสถาบันเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น