xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย(18)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสถานภาพจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลามาเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นเอกเทศเมื่อ พ.ศ.2539 (และต่อมาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและเนื้อหาเชิงโครงสร้าง ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ในฐานะผู้สร้างทางให้กับสถาบันทักษิณคดีศึกษา สถาบันทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงในระดับอุษาคเนย์และโด่งดังไปทั่วภูมิภาคแถบนี้ ตลอดจนสถาบันที่จัดการศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียทั่วโลกให้ความสนใจ ได้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่และเป็นไปของสถาบันแห่งนี้เอาไว้ในต่างกรรมต่างวาระกันมากมาย ดังต่อไปนี้

เรื่องเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาไทยคดีศึกษาที่เป็นพันธกิจหลักอีกอันหนึ่งของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งกำลังจะถูกดึงไปอยู่ภายใต้การดูแลของคณะอนุกรรมการบัณฑิตศึกษาด้วยเหตุผลว่า สถาบันทักษิณคดีศึกษาไม่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิต(ปัจจุบันหลักสูตรนี้ตายสนิทแล้วในยุคมหาวิทยาลัยในกำกับที่สถาบันทักษิณมีสถานภาพเป็น “ส่วนงานอื่น” ไม่ใช่ส่วนงานวิชาการเทียบเท่าคณะอย่างแต่ก่อน) หน้าที่เน้นหนักไปที่การวิจัย (ปัจจุบันตำแหน่งนักวิจัยถูกยุบนักวิจัยแปรรูปเป็น “นักวิชาการ” เมื่อลาออกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย) และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่ง ศ.สุธิวงศ์มีความเห็นว่า

“…ผมไม่เห็นว่าจะขัดตรงไหนที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาจะรับผิดชอบการเรียนการสอนด้านนี้ แนวคิดและหลักสูตรนี้มีขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งสถาบันฯ ในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ให้สถาบันรับผิดชอบจัดการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาเฉพาะทางทั้งนั้น สภามหาวิทยาลัยก็ได้พิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วจึงมีมติให้สถาบันดำเนินการ ทั้งรองอธิการบดีและรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (สมัยนั้น) ก็พูดอย่างเป็นทางการหลายครั้งว่าดีใจและเห็นด้วยอย่างยิ่งที่สถาบันรับการผลิตมหาบัณฑิตทางไทยคดีศึกษามาจัดทำเพราจะเกิดผลดีทุกๆ กรณี ผมจึงคิดว่าถ้าจะมีคนคิดถึงการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบอีกคงมีแต่พวกไม่มีงานทำหรือคิดทำอะไรใหม่ๆไม่ออกเท่านั้น…” (กรุงเทพธุรกิจ 29 สิงหาคม 2539)

การที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาถูกโอนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒไปสังกัดมหาวิทยาลัยทักษิณแม้ ศ.สุธิวงศ์ จะคาดหวังว่า “…โดยหลักการเป็นสิ่งที่เหมาะสมหลายประการ…” แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่า “…ส่วนจะกระทบอย่างไรขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการ ระบบแม้ว่าจะดีสักปานใด เมื่อถูกใช้ในสังคมไทยมักไม่สำคัญเกินกว่าวิธีใช้ระบบและผู้ใช้ระบบ ผนวกด้วยวิสัยทัศน์และความรู้แจ้งในบทบาทหน้าที่ โครงสร้างและสถานภาพของสถาบันแห่งนี้

ผมได้ฟังคำปรารภของอธิการบดี (ในขณะนั้นคืออธิการบดีไพโรจน์) มหาวิทยาลัยทักษิณเกี่ยวกับสถาบันทักษิณคดีศึกษาว่า สถานภาพที่เป็นอยู่เหมือนต้นไม้ที่อยู่ในกระถางเล็กๆ จะต้องทุบกระถางเอาลงดินให้เจริญเติบโตกว่านี้…ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงและสามารถหาผู้มีพลังความสามารถมาทุบได้สำเร็จก็น่าชื่นชมยินดียิ่ง ผมอดวิตกไม่ได้ว่าถ้าหาผู้ทุบผิดคนหรือทุบผิดวิธีหรือไม่ใช้สติปัญญาทุบ แต่เดินสะดุดเอาหรือหกล้มทับเอาก็จะพานเสียหายทั้งกระถางและต้นไม้ แทนที่จะโตขึ้นก็จะกลับเฉาตาย แต่ก็เชื่อในความสามารถของผู้คิดและมีอำนาจเช่นนั้น…”

เรื่องเกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยเฉพาะส่วนที่สัมพันธ์กับสถาบันทักษิณคดีศึกษาอันส่งผลต่อความเป็นมา ความเป็นอยู่และความเป็นไปของสถาบันทักษิณคดีศึกษา สถาบันที่เกิดขึ้นจากความอุ้มชูของสังคมและอยู่ในความคาดหวังของสังคมหรือประชากรภายนอกองค์กร ศ.สุธิวงศ์ ได้เปิดเผยถึงความไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบางเรื่องว่า "...“ผมพอจะบอกถึงความรู้สึกส่วนตัวให้ได้ เพราะเป็นการได้ประจักษ์มากกว่าความรู้สึกและเป็นเรื่องที่มีหลักฐานให้พิสูจน์ได้ สาวหาความจริงได้ ทั้งยังได้เคยซักถาม ท้วงติงบางเรื่องต่อผู้รับผิดชอบโดยตรงตามลำดับตามควรแก่กรณี แม้กระทั่งต่อสภามหาวิทยาลัยทักษิณ จนบางเรื่องผู้ที่ควรให้คำตอบกลับชี้นำให้ผมทำเรื่องยื่นต่อ อ.ก.ม.วินัย ทบวงมหาวิทยาลัย…”(ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

“…ผมไม่สบายใจที่ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันทักษิณคดีศึกษาซึ่งเคยใช้มาแต่ครั้งขึ้นกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลับแก้ไขให้เป็นตรงกันข้ามเมื่อมาสังกัดมหาวิทยาลัยทักษิณ สงสัยว่าทำไมมหาวิทยาลัยสองแห่งนี้จึงมีวิสัยทัศน์และนโยบายต่างกันอย่างหน้ามือกับหลังมือ..”

“…ผมไม่สบายใจอย่างแรงที่คุณบุญเกียรติ รัตนเลิศ ผู้ซึ่งเคยอุปการะสถาบันทักษิณคดีศึกษาและมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดโทรศัพท์ถามผมว่า เหตุใดอธิการบดี (ไพโรจน์) จึงแจ้งให้ท่านรื้อสุสานประจำตระกูลออกนอกเขตมหาวิทยาลัยตามมติที่ประชุมกรรมการของมหาวิทยาลัย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือตั้งแต่ครั้งท่านปรีชา สังขโรทัย เป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา อนุญาตให้สุสานแห่งนี้อยู่ ณ ที่เดิมได้ เพราะสร้างมาก่อนที่มหาวิทยาลัยเข้ามาใช้ที่นี่นานแล้ว และจะเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน คู่กับบ้านทรงจีนที่ตระกูลนี้สร้างให้สถาบันฯ และที่ที่จะทำถนนก็ได้วางแผนกันไว้แล้ว การที่ไปทำลายน้ำใจผู้ที่เคยอุปการคุณต่อมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องมาร่วม 20 ปี เคยให้ทุนมาไม่น้อยกว่า1,000,000 บาท น่าจะมีการประนีประนอมกันมากกว่านี้ เพราะยังมีทางเลือกที่ดีกว่านั้น และที่สำคัญผมเคยให้ข้อมูลทุกอย่างต่ออธิการบดีไปแล้ว ผมไม่สบายใจที่มีการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่โดยไม่อาทรต่อประวัติศาสตร์เก่าอันจะทำให้ผู้ศรัทธาต่อสถาบันและบังเอิญเป็นเรื่องที่ผมร่วมรับรู้ถึงความเป็นมาโดยตลอด”

“ผมไม่สบายใจในข้อมูล CD-ROM ห้องการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่ง บริษัทเอกธนกิจ จำกัด บริจาคไว้ ราคาร่วม 600,000 บาท เป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยม และผมเองได้เขียนบทและให้ทำระบบข้อมูลจนเสร็จสมบูรณ์และใช้ประโยชน์ได้แล้วถูกรื้อถอนออกไปใช้ในห้องอื่น โดยอ้างว่ากระแสไฟฟ้าติดขัด และเงินที่เขาบริจาคไว้ 1,000,000 บาทนั้น ส่วนที่เหลือยังไม่ได้พัฒนาห้องนี้ให้ก้าวหน้าเกินกว่าที่ผมดำเนินการไว้แม้แต่น้อย…”

(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม)
กำลังโหลดความคิดเห็น