โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
และแล้ว วันที่ 13 กันยายน 2541 อ.อาคมก็ละสังขารจากพวกเราไปอย่างสงบ หลังจากรักษาตัวจากอุบัติเหตุ และโรคประจำตัวที่แทรกซ้อนอยู่นาน เนื่องจากอาจารย์บริจาคร่างกายให้แก่คณะแพทย์ ม.สงขลานครินทร์ จึงไม่มีพิธีบำเพ็ญกุศลศพ และฌาปนกิจ มีเพียงพิธีรดน้ำศพอย่างเงียบๆ ง่ายๆ แล้วมอบร่างกายของอาจารย์ให้แก่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ไปแล้วทางบ้านมาทำบุญร้อยวันที่วัดกลาง หรือวัดมัชฌิมาวาส
ในวันทำบุญร้อยวัน ผู้เขียนอาสาครอบครัวของอาจารย์จัดทำหนังสืองานศพเล่มเล็กๆ ขนาดสิบหกหน้ายก หนาเพียงแปดหน้า ข้อเขียนที่นำมาจัดพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นผลงานของอาจารย์ที่เขียนไว้เพื่อใช้พิมพ์ในงานศพของตัวเอง (ภรรยาอาจารย์บอกว่าอย่างนั้น) ผู้เขียนค้นพบพร้อมภรรยาของอาจารย์ที่จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าอาจารย์เคยเขียนไว้นานมาแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเขียนดังกล่าวสะท้อนอัตลักษณ์ของอาจารย์เป็นอย่างดี จึงนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในวันทำบุญร้อยวันของอาจารย์ โดยใช้ชื่อผลงานว่า “คำปรารภของผู้ตาย” ความมีดังนี้
>
คำนำ
ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
เกิดแก่เจ็บตายยัง ช่วยชี้
เห็นเห็นอยู่ยังหวัง เป็นอื่น
เพียงท่านเห็นสัจจ์นี้ จักพ้นทุกข์ใจ
กรรมใดเคยก่อเกื้อ กันมา
ดีชั่วขอขมา ผิดพลั้ง
ใคร่จำจำเวลา งามต่อกันนา
ใดโหดโทษโปรดยั้ง ยุติถ้อยกระทงความ
เดินตามขนบเนื่อง งานศพ
ยกประวัติคำรพ อวดอ้าง
ล้วนดีงามครันครบ เสริมต่อ
ส่วนชั่วน้อยมากบ้าง ท่านห้ามพรรณนา
ถือว่าผู้หมดสิ้น ชนมา ยุเอย
ย่อมยุติก่อเวรา สืบเนื่อง
ไม่อาจสร้างโทษ นุโทษ
จึงควรยอมปลดเปลื้อง ว่างเว้นมลทิน
โดยระบิลถือเนื่อง กันมา
ผู้อื่นสร้างสรรหา ประวัติให้
เสริมดีตัดชั่วพา กันตกแต่งเอย
จนผู้ตายหากได้ อ่านแล้วงวยงง
บรรจงประดิษฐ์ถ้อย พรรณนา
หนึ่งเพื่อกล่าวอำลา พวกพ้อง
หนึ่งเพื่อชีวิตปรา-กฎอยู่
แม้ชีพดับแต่น้อง พี่เพื่อนทรงจำ
จักร่ำจักเล่าเรื่อง โดยตน เองนา
ดีกว่าวางใจคน อื่นสร้าง
ตนเองจักได้ยล เสียก่อน ตายเฮย
เรื่องตนตนเองอ้าง เอ่ยได้ถูกใจ
ผู้ใดได้ยลแล้ว โปรดอย่า หยามเฮย
นึกเพียงเป็นวาจา เอ่ยเอื้อน
ทักทายสนทนา หลังดับ ชีพะนอ
เป็นปัจฉิมพากย์เพื่อน พี่น้องคุยกัน
(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 5 มิ.ย.)