คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ผู้ที่รู้จักมักคุ้นสถาบันทักษิณคดีศึกษามาแต่ต้น โดยเฉพาะสมัยที่ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาและย้ายที่ตั้งมายังเกาะยอปัจจุบัน คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักผู้อาวุโสอารมณ์ดีมีอารมณ์ขันที่ชื่อ “ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ และอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้เขียนมีโอกาสสนิทสนมกับอาจารย์อาคม เมื่อผู้เขียนลาศึกษาต่อระดับปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สงขลา เมื่อปี 2538 เนื่องจากอาจารย์เป็น 1 ในคณาจารย์ที่สอนหลักสูตรนี้ร่วมกับผู้ใหญ่ที่น่าสนใจอีกหลายท่าน เช่น ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ฯลฯ
ด้วยความเป็นผู้อาวุโสที่ใจดี และไม่มากเรื่อง ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง มีอารมณ์ขันอยู่ทุกกาลทุกเมื่อ อาจารย์อาคมจึงเป็นที่รักใคร่เคารพนับถือของทุกคนที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดสนิทสนม อาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วบ้านทั่วเมืองในหลายวงการ เช่น ในวงการทหารก็มีลูกศิษย์ที่ชื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” อดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และอดีตนายกรัฐมนตรี ในวงการปกครองก็มีลุกศิษย์อย่าง นายสุนทร ฤทธิภักดี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีผู้ล่วงลับ ในวงการศึกษาก็มีลูกศิษย์อย่าง อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ นักแปลวรรณกรรมแนวสังคมนิยมผู้มีฝีมือเป็นที่ยอมรับในแวดวงวรรณกรรม เป็นต้น
ในช่วงที่อาจารย์อาคมยังสอนหลักสูตรไทยคดีศึกษาของ มศว สงขลา ในสมัยที่อาจารย์สุธิวงศ์เป็นผู้ดูแลหลักสูตรนี้อยู่ ผู้เขียนมีหน้าที่รับ-ส่งอาจารย์ในวันที่มีคาบสอน เพราะผู้เขียนพักอยู่หาดใหญ่ บ้านอาจารย์อยู่ระหว่างทางจากหาดใหญ่ไปสงขลาคือ บริเวณบ้านโคกสูงเยื้องๆ กับวัดโคกสูง จึงได้ฉายาว่า “คม โคกสูง” ในแวดวงกวี
วันหนึ่งในช่วงที่ประเทศไทยกำลังค้นหาบุคคลที่เหมาะสมมาเป็น “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ผู้เขียนต้องขับรถไปรับอาจารย์ที่หน้าบ้านที่โคกสูงตามปกติ ทันทีที่ก้าวขึ้นรถหลังจากยกมือรับไหว้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อผู้เขียนเคลื่อนรถออก อาจารย์ก็เปรยขึ้นมาแบบทีเล่นทีจริงว่า “เรื่องนี้มันเป็นความผิดของอาจารย์ป๋วย” ผู้เขียนย้อนถามว่า “เรื่องอะไรอาจารย์ อาจารย์พูดเรื่องอะไร อาจารย์ป๋วยผิดเรื่องอะไร” อาจารย์พูดพลางหัวเราะพลางว่า “อาจารย์ป๋วยผิดที่สร้างมาตรฐานของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไว้สูงเกินไป รัฐบาลปัจจุบันจึงหาคนที่เหมาะสมมาเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่ได้”
จากคำพูดทีเล่นทีจริงของอาจารย์ในวันนั้น ผู้เขียนเกิดความคิดจะนำคำว่า “ความผิดของอาจารย์ป๋วย” มาเป็นชื่อบทความเพื่อเขียนส่งให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนรายวันพิจารณาตีพิมพ์ จึงกลับไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทอาจารย์ป๋วยสมัยเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ลงมือเขียนแล้วส่งไปให้ บก.มติชน (เสถียร จันทิมาธร) ทันที หลังจากนั้นไม่นานก็เห็นข้อความ “ความผิดของอาจารย์ป๋วย” พร้อมภาพถ่ายอาจารย์ป๋วยสวมแว่นที่คุ้นตาปรากฏบนหัวหน้าหนึ่งของ นสพ.มติชนรายวัน ผู้เขียนตื่นเต้นเหมือนตอนที่ได้ตีพิมพ์บทกวี หรือเรื่องสั้นชิ้นแรกๆ สมัยเรียนปริญญาตรีที่ มศว เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ผลงานด้านบทความได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ระดับคุณภาพที่เผยแพร่ทั่วประเทศ และที่สำคัญ เป็นผลงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้จากอาจารย์ที่ผู้เขียนเคารพนับถืออย่างสนิทใจ
หลังจากนั้น ผู้เขียนกับอาจารย์อาคมมีความผูกพันแนบแน่นยิ่งขึ้น เมื่อตอนที่อาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาสถาบันทักษิณคดีศึกษา และรองประธานปรับปรุงสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ปี 2542 สมัยอาจารย์สุธิวงศ์เป็นผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา และเป็นประธานโครงการปรับปรุงสารานุกรมวัฒนธรรมไทยดังกล่าว
ทุกวันที่มาทำงานที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา อาจารย์จะมานั่งๆ นอนๆ อยู่ข้างโต๊ะทำงานของผู้เขียน ชวนพูดคุยเรื่องราวต่างๆ สัพเพเหระ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมือง การปกครอง และการศึกษา เมื่อถึงเวลาพักกลางวัน อาจารย์ก็จะชวนไปกินอาหารที่ร้านข้างนอกในละแวกใกล้เคียง เช่น เขาเขียว โรงแรมหาดแก้ว ร้านแต้ในเมืองสงขลา เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนมีกิจธุระที่สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสงขลาที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ อาจารย์ก็ขอติดสอยห้อยตามไปด้วย แม้ผู้เขียนจะบอกว่า “ผมไปธุระหลายที่นะอาจารย์” แต่อาจารย์ยังยืนยันว่า “รูญไปไหนผมไปนั่นแหละ ค่อยไปส่งผมที่หน้าวัดโคกสูง ผมจะไปคุยกับเจ้าอาวาสหน่อย”
เมื่อลงจากสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสงขลา อาจารย์ตรงเข้ามากอดคอผู้เขียนพร้อมถามด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะว่า “รูญรู้ไหมคนเกษียณแล้วอย่างผมมันกลัวอะไร” ผมตอบว่า “ไม่ทราบครับ ผมไม่เคยเกษียณ แล้วอาจารย์กลัวอะไร” “มันกลัวคนไม่ไหว้มันนะ แต่ผมไม่เป็นไรแล้วเพราะเมื่อกี้มีคนไหว้ผมสองคนแล้ว รอดไปอีกวันแล้วหละ”
(อ่านต่อฉบับหน้า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555)