xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย (8)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ผลการสรรหาหัวหน้าสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษาปรากฏว่า นายเชิดชัย อ๋องสกุล ได้รับการพิจารณาจากกรรมการสรรหา เนื่องเพราะคู่แข่งขันอีกคนคือ นางละเอียด สกุลรัตน์ อดีตเลขานุการ และรักษาการหัวหน้าสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษา ไม่ได้แสดงศักยภาพในการนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษาในฐานะส่วนงานอื่นของมหาวิทยาลัยทักษิณ ในขณะที่นายเชิดชัยมีความพร้อมในการนำเสนอเป็นเพาเวอร์พอยต์แสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการสถาบันทักษิณคดีศึกษาอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ขณะที่นางละเอียดมีเพียงปากเปล่าตอบคำถามคณะกรรมการสรรหาแบบขอไปทีเหมือนกับว่า “อยากรู้อะไรก็ถาม เพราะทำหน้าที่นี้มานานเท่าๆ กับอายุของสถาบันทักษิณคดีศึกษา” กรรมการบางท่านมีความเห็นว่า “เขาไม่พร้อมจะตอบคำถามกรรมการเลย”

เบื้องลึกเบื้องหลังของการสรรหาครั้งนี้ ผู้มีความปรารถนาดีต่อสถาบันทักษิณคดีศึกษาบางคนมีความเห็นร่วมกันว่า หากนางละเอียดได้เป็นหัวหน้าสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษาคงไม่เป็นผลดีต่อองค์กรอย่างแน่นอน เพราะบุคลิกส่วนตัวที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการนำพาสถาบันทักษิณคดีศึกษา สู่การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของประชาคม หรือธรรมาภิบาล ประกอบกับความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่ค่อยดีกับผู้อำนวยการคนปัจจุบัน

ส่วนนายเชิดชัย แม้จะมีบุคลิกส่วนตัวบางส่วนอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่โดยภาพรวมและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา น่าจะมีคุณต่อสถาบันทักษิณคดีศึกษาและสังคมภายนอกมากกว่า นับว่าเป็นบุญของสถาบันฯ และสังคมบุคลากรระดับแกนนำของสถาบันฯ เลยพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้นายเชิดชัยได้เป็นหัวหน้าสำนักงานเพื่อเอื้อประโยชน์แก่หน่วยงาน และก่อประโยชน์แก่สังคมภายนอกในอนาคต ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งแต่อย่างใด

หลังจากนั้น นางละเอียดก็ไปสมัครรับการสรรหาเป็นหัวหน้าสำนักงานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และได้รับการสนับสนุนจากบุคคลระดับคณบดี แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการสรรหาของคณะนิติศาสตร์ก็ไม่เลือกนางละเอียด แม้จะได้ข่าวว่ามีคนไปอ้างกับคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่า “อธิการบดีขอให้คณะนิติศาสตร์รับคุณละเอียดเป็นหัวหน้าสำนักงาน” แต่ข่าวว่าคณบดีคณะนิติศาสตร์ตอบว่า “แล้วแต่คณะกรรมการสรรหา”

ต่อจากนั้นไม่นาน นางละเอียดได้รับการสนับสนุนจากรองอธิการบดีท่านหนึ่งให้โอนไปสังกัดสำนักงานวิทยาเขตสงขลา โดยรองอธิการบดีท่านนั้นลงทุนคุยกับผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาเป็นการส่วนตัว

วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ระบบเส้นสายในมหาวิทยาลัยทักษิณมีความเข้มแข็งมากและมีการสืบทอดมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่รองอธิการบดีท่านหนึ่งที่ไปจากสถาบันทักษิณคดีศึกษากำลังเรืองอำนาจ กลุ่มผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์มีทั้งสตรีที่เป็นคนสนิท (เป็นกรณีพิเศษ) ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไต่เต้าไปเป็นรองอธิการบดีและคณบดี กวี/นักเขียน ที่ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และได้อานิสงส์จากเรื่องนี้ก้าวกระโดดจากระดับ 6 ไปเป็นระดับ 9 แม้ว่าจะมีผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 3 คนให้การปฏิเสธที่จะอ่านผลงานเพราะไม่เห็นด้วยใน 2 ประเด็นคือ 1) ผลงานไม่ตรงตามภารกิจ 2) เป็นการข้ามขั้นตอน และข้ามหัวคนอื่นโดยไม่เป็นธรรม แต่ด้วยระบบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็งยิ่งในที่สุดทุกอย่างก็เป็นไปตามที่ “ผู้มีอำนาจและวาสนา” ต้องการ

บุคคลเหล่านี้มีความเจริญก้าวหน้า เติบโตมาบนพื้นฐานของการวิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ โดยอาศัยช่องว่างที่เกิดจาก “ผู้มีอำนาจชอบใกล้ชิดคนถ่อยและห่างเหินปราชญ์” ตามสุภาษิตจีน คนเหล่านี้ไม่ต้องแสดงศักยภาพอะไรมาก เพียงแต่แสดงตนต่อผู้มีอำนาจให้เห็นว่าพวกเขามีความเคารพนับถือ และเชิดชูผู้มีอำนาจ มีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นกว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งต้นสังกัดของพวกเขา วางมาดให้คนทั่วไปโดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานเห็นว่า พวกเขาเป็น “บุคคลพิเศษ” ของผู้มีอำนาจ ไม่สนใจไยดีต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้น แต่พินอบพิเทาต่อผู้มีอำนาจสูงขึ้นไป ให้ร้าย กล่าวเท็จเพื่อให้ตนเองดูดีในสายตาผู้มีอำนาจทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย

แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีระเบียบกฎหมายว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากร แต่ด้วยโครงสร้างที่เป็นอยู่ และความอ่อนแอของการกำกับดูแลทิศทางการบริหารจัดการทำให้ศีลธรรมจรรยาบรรณเหล่านั้นเป็นเพียง “เศษกระดาษ” ที่ไม่ได้รับการปฏิบัติและหากใครไปเอาจริงเอาจังกับจรรยาบรรณเหล่านั้นก็กลายเป็นตัวตลกของสังคมไปโดยปริยาย และมีชีวิตอยู่อย่างน่าสมเพชเวทนายิ่งในสังคมที่อ่อนแอ ล้าหลังแต่อวดดีเช่นนี้

ทุกครั้งที่มีกระบวนการสรรหาในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย การสรรหาอธิการบดี คณบดี หัวหน้าสำนักงานและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ บรรยากาศของการสรรหาจะมีการซุบซิบนินทาต่างๆ นานา ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะว่า กรรมการเหล่านี้ “ผลัดกันเกาหลัง” และไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของประชาคม ระเบียบกฎเกณฑ์ที่นำมาปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันทางสังคม ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาคมโดยส่วนรวมและไม่ทั่วถึง

บุคลากรส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ในทำนองว่า “เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่แต่ก็ไม่กล้าตาย” สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของสถาบันแห่งนี้คือ “จิตสำนึกสาธารณะ” ค่อนข้างจะอ่อนด้อย ส่วนใหญ่ถ้าจะพอมีอยู่บ้างก็เป็นบุคลิกภาพส่วนตัว ไม่ใช่อัตลักษณ์ขององค์กร ผู้นำสูงสุดของมหาวิทยาลัยมักจะมาจากบุคคลภายนอก เนื่องจากคนในไม่ค่อยมีศักยภาพ และไม่ยอมรับกันและกัน เข้าลักษณะว่า “จระเข้หน้าที่ พระวัดเอง” นั่นแหละ

(อ่านต่อฉบับหน้า วันที่ 1 พฤษภาคม)
กำลังโหลดความคิดเห็น