xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย (6)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

การสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในครั้งนั้น ผลออกมาผิดคาดคือ อ.ไพบูลย์ ดวงจันทร์จาก มศว ประสานมิตร กลับมาเป็นผู้อำนวยการอีกครั้งหลังจากประสบมรสุมลูกใหญ่พัดกระหน่ำกระจัดกระจายกันไปไม่นาน

วันแรกที่ผู้อำนวยการคนใหม่ (หน้าเก่า) ปรากฏตัวที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ดูเหมือนจะมาพร้อม “ความหวังใหม่” ของชาวสถาบันฯ (เช่นทุกครั้งที่ผ่านมาในฤดูผลัดแผ่นดิน) คือผู้อำนวยการเรียกประชุมชาวสถาบันพร้อมประกาศว่า ใครอยากได้อะไร อยากได้ใครเป็นรองผู้อำนวยการ และอยากได้บรรยากาศการทำงานแบบไหนให้เขียนใส่กระดาษมอบให้ผู้อำนวยการ ท่านจะรับไปพิจารณาดำเนินการ

หลังจากนั้น ประชาคมชาวสถาบันฯ เฝ้ารอด้วยใจจดใจจ่อว่าสิ่งที่เขียนขอไปจะได้รับตอบสนองจริงหรือไม่ ผลปรากฏว่าทั้งหมดเป็นเพียง “ลมปาก” ที่โชยผ่านเหมือนลมบกลมทะเลที่ผัดพ่านย่านเกาะยออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รองผู้อำนวยการ และสิ่งที่ชาวสถาบันฯ ต้องการ ไม่ได้รับการตอบสนองตามปากว่า ทุกสิ่งทุกอย่างยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนน้ำเน่าแบบเดิมๆ จนแม้ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่สนับสนุน อ.ไพบูลย์ เป็นการไถ่บาปที่เคยพามาตกระกำลำบากในวันก่อน ก็ยังเคยบ่นกับผู้เขียนบ่อยครั้งว่า “ไม่เห็นมันทำตามที่มันว่าสักอย่าง”

อยู่มาไม่นาน ขณะที่ประชาคมชาวสถาบันฯ กำลังถูกปลุกให้ฮึกเหิมด้วยเลือดรักชาติ รักองค์กรด้วยความคึกคักเข้มแข็ง ข่าวร้ายกลับโชยมาอย่างไม่น่าเชื่อว่า “อ.ไพบูลย์กำลังจะไปรับตำแหน่งรองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง” และในที่สุดข่าวก็กลายเป็นความจริงอย่างเป็นทางการ

สถาบันทักษิณคดีศึกษากลายเป็นเรือที่ไม่มีนายท้าย หรือกองทัพที่ไม่มีผู้นำ ทหารชั้นผู้น้อยถูกทิ้งเคว้งคว้างอยู่กลางสนามรบ มองหาแม่ทัพไม่เจอ “หัวเราะก็ไม่ได้ ร้องไห้ก็ไม่ออก” หรือ “ไปก็ไม่ถึง กลับบ้านก็ไม่ได้”

ต่อมาไม่นาน ก็มีการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ คราวนี้ อ.พรศักดิ์ ต้องขับเคี่ยวกับคู่กรรมคู่เวรคือ อ.สถาพร ศรีสัจจัง ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอดอยู่ในที มองจากสายตาคนนอกอาจจะดูว่าสองคนนี้เป็นเพื่อนซี้ มือซ้ายมือขวาของ ศ.สุธิวงศ์ แต่สำหรับคนในย่อมรู้ดีว่าคู่นี้เป็นน้ำกับน้ำมัน ไม่อาจจะเข้ากันอย่างกลมกลืนได้ในชาตินี้ เพราะมีวิธีคิดบางเรื่องแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในสถานการณ์นี้ อ.พรศักดิ์ย่อมคิดหนักเพราะการเสนอตัวในครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว หากพลาดอีกก็ไม่น่าดู ตอนแรกๆ อ.พรศักดิ์คิดจะยกธงขาวยอมแพ้ต่อชะตากรรมของการก้าวย่างขึ้นเป็นผู้นำขององค์กรที่ตนเองร่วมสร้างมากับมือ และไม่เคยจากที่นี่ไปไหน แต่ทนรบเร้าจากผู้เขียนไม่ได้ เพราะผู้เขียนให้เหตุผลว่าครั้งนี้น่าจะเป็น “สงครามและความพ่ายแพ้ครั้งสุดท้าย” ที่จะวัดใจ “อาจารย์” ที่พวกเราเคารพนับถือว่าจะฝากมรดกทางวิชาการไว้ที่ใคร

คนหนึ่งมีชื่อเสียงระดับประเทศในฐานะนักเขียน นักกิจกรรมทางสังคม และนักเคลื่อนไหวทางความคิดของสังคมชนชั้นปัญญาชน แต่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับนักในแวดวงข้าราชการโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่าง “ฝีมือกับฝีปาก” และการเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการรักษาระเบียบวินัยในที่ทำงาน แต่อีกคนหนึ่งไม่มีในสิ่งดังกล่าวแต่สามารถจะรักษาระเบียบแบบแผนทางสังคมแวดวงวิชาการ และระบบราชการที่ดีได้ และที่สำคัญ ราคาคุยกับฝีมือในการทำงานไม่ต่างกันมากนักในสายตาของเพื่อนร่วมงาน

ในที่สุด หวยก็ออกอีกด้านของความคาดหวังของชาวสถาบันฯ สร้างความผิดหวังอีกระลอก และยิ่งผิดหวังมากขึ้นอีกเมื่อผู้อำนวยการคนใหม่ที่ดูดีมีวิสัยทัศน์กลับเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวทางการนำในระบอบประชาธิปไตย เช่น ไม่เคยประชุมชาวสถาบันฯ โดยให้เหตุผลว่า “เรื่องอะไรจะประชุมให้เพื่อนด่า” มอบหมายให้เลขานุการสถาบันฯ ไปศึกษาว่ามีอำนาจหน้าที่ใดบ้างของผู้อำนวยการที่สามารถมอบหมายให้เลขานุการสั่งการแทนได้

ผลจากการบริหารสถาบันฯ แนวใหม่ทำให้เลขานุการสถาบันฯ ตีความว่ามีอำนาจเกือบ 20 เรื่องที่เลขานุการสถาบันสามารถใช้อำนาจแทนผู้อำนวยการได้ และรองผู้อำนวยการไม่สามารถจะใช้อำนาจดังกล่าวแทนผู้อำนวยการได้ กล่าวคือ ผู้อำนวยการไม่สามารถจะมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการได้แม้แต่เรื่องเดียว คนที่ทำการแทนผู้อำนวยการได้มีแต่เลขานุการสถาบันฯ เท่านั้น

ต่อมาไม่นาน ผู้อำนวยการท่านนั้นได้ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ แต่ผู้บังคับบัญชาเบื้องต้นกลับยับยั้งเรื่องไว้ โดยให้เหตุผลว่า ให้รอออกพร้อมกับผู้บังคับบัญชาที่ใกล้จะครบวาระ (อีกหลายปี) สถาบันทักษิณฯ จึงมีผู้อำนวยการตัวจริงรักษาการอยู่นานจนถึงวันที่ได้ออกจากตำแหน่งจริงๆ หลังจากมีการรักษาการโดยรองอธิการบดี 2 คน คนละ 6 เดือน โดยอาศัยการตีความกฎหมายแบบการฝากขังผู้ต้องหาในคดีอาญาว่า รองอธิการบดีแต่ละคนรักษาการในตำแหน่งอื่นได้ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน (แทนที่จะตีความว่าต้องสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 180 วัน)

ผลของการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการของรองอธิการบดี 2 ท่านเป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ บวกกับการรักษาการของผู้อำนวยการตัวจริงที่อาสาเข้ามาแล้วถอดใจลาออกกลางคันอีก สถาบันทักษิณคดีศึกษาที่กำลังจะไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยทักษิณต้องสะดุดหยุดลงในหลายเรื่อง เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยในระบบราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบที่จะต้องออกแบบโครงสร้างใหม่ และไม่มีใครเป็นปากเป็นเสียงแทน สุดท้ายสถาบันทักษิณคดีศึกษาภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัยทักษิณ-มหาวิทยาลัยในกำกับถูกเปลี่ยนสถานภาพมากมายจนน่าใจหาย กระทบทั้งสถานภาพ โครงสร้าง และบุคลากร

จากวัดกลายเป็นสำนักสงฆ์ จากส่วนงานวิชาการเทียบเท่าคณะกลายเป็นส่วนงานอื่นเทียบเท่าสำนักคอมพิวเตอร์ หรือหอสมุด ถูกยุบตำแหน่งนักวิจัยเหลือตำแหน่งนักวิชาการ ลดฐานะจากส่วนงานบริหาร หรือส่วนงานวิชาการเป็นส่วนงานบริการ บุคลากรของสถาบันฯ กลายเป็นประชาชนชั้นสอง ชั้นสาม ของมหาวิทยาลัย ไปสัมมนาแต่ละครั้งต้องนั่งรถตู้เช่าเหมาไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์ และสารพัดความต่ำต้อยอันพึงมีในแวดวงวิชาการของประเทศด้อยพัฒนาแห่งนี้

(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 17 เมษายน)
กำลังโหลดความคิดเห็น