xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย (9)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

วันหนึ่งของกลางปี 2554 อธิการบดี และคณะได้มาประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา และเชิญคณะกรรมการประจำสถาบันฯ โดยตำแหน่งเข้าร่วมรับฟัง และปรึกษาหารือถึงทิศทางในการบริหารจัดการสถาบันทักษิณคดีศึกษาด้วย ในตอนท้ายของการประชุม อธิการบดีในฐานะประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกในที่ประชุมแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถาบันทักษิณฯ โดยเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นในลักษณะเดียวกันว่า…

ตามที่ไปเห็นมา ไม่ว่าจะเป็นที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา, พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่กาฬสินธุ์, พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และที่อื่นๆ จะมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้หน่วยงานเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ที่มีผู้อำนวยการเป็นคนใต้ ชาวอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ได้รับการพัฒนาจนเติบโตถึงระดับจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการศึกษาซากฟอสซิลถึงระดับปริญญาเอกร่วมกับนานาชาติ

ดังนั้น สถาบันทักษิณฯ หรือมหาวิทยาลัยทักษิณน่าจะทูลเชิญ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยี่ยมชมสถาบันทักษิณฯ เป็นการส่วนพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงถามถึง ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ กับบุคลากรของสถาบันฯ ทุกครั้งที่ทรงเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการของสถาบันฯ ในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และทรงตรัสว่า “นานแล้วไม่ได้ไปสถาบันทักษิณคดีศึกษา”

ปรากฏว่า อธิการบดี และสมาชิกในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ต่างหารือกันว่าจะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จเยี่ยมชมสถาบันทักษิณฯ ในโอกาสอะไร ผู้เขียนเสนอความเห็นว่า ๑) เรากำลังดำเนินการจัดสร้าง “ห้องศาสตราจารย์สุธิวงศ์ รำลึก” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา 2) มีผู้มีความประสงค์จะขายวัตถุโบราณจำนวนหนึ่งให้แก่สถาบันทักษิณฯ ในราคาประมาณ 2 ล้านบาท น่าจะใช้โอกาสนี้ให้เจ้าของวัตถุโบราณดังกล่าวได้ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล

อธิการบดีกดโทร.สอบถามไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสด็จพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระเทพฯ ภาคใต้ในช่วงเดือนสิงหาคมทันที ตกลงว่าวันที่ 19 สิงหาคม 2554 เวลาตอนเย็นประมาณ 5 โมงเย็น พระองค์จะเสด็จสถาบันทักษิณฯ เป็นการส่วนพระองค์

เมื่อเป็นเช่นนั้น อธิการบดีตอบตกลงเห็นด้วย และอนุมัติด้วยวาจาสำหรับเงินที่จะจัดซื้อวัตถุโบราณจำนวน 2 ล้านบาท โดยตั้งกรรมการประเมินราคาขึ้นมาคณะหนึ่ง เมื่อตกลงราคาและทำสัญญากับเจ้าของวัตถุดังกล่าวแล้ว ก็ตั้งกรรมการตรวจรับวัตถุดังกล่าว โดยมีผู้เขียนเป็นประธานกรรมการตรวจรับร่วมกับบุคลากรของสถาบันทักษิณฯ คือ นายบุญเลิศ จันทระ

หลังจากนั้น อธิการบดีได้อนุมัติงบประมาณจำนวนล้านกว่าบาท เพื่อการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้มีความเหมาะสมเตรียมรับเสด็จฯ มูลนิธิทักษิณคดีศึกษาที่ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ร่วมก่อตั้งและผลักดันมาแต่ต้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทั้งปวงของสถาบันทักษิณคดีศึกษา เช่นเดียวกับมูลนิธิศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้บริจาคเงินจำนวน 1 แสนบาท เพื่อสมทบการจัดสร้างห้องศาสตราจารย์สุธิวงศ์ รำลึกให้พอเป็นรูปร่างพร้อมรับเสด็จฯ

ผู้เขียนรับผิดชอบรวบรวมผลงาน รางวัล ครุยวิทยฐานะ และอื่นๆ ของอาจารย์สุธิวงศ์ไปจัดแสดงในห้องดังกล่าวร่วมกับผู้อำนวยการ (นายพิทยา บุษรารัตน์) หัวหน้าสำนักงาน (นายเชิดชัย อ๋องสกุล) และหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนงาน (น.ส.อารยา ดำเรือง) พร้อมทั้งรับหน้าที่เขียนบทนิทรรศการให้ นายธีระ จันทิปะ ไปจัดทำอาร์ตเวิร์ก และจัดพิมพ์มาดำเนินการติดตั้งต่อไป จนทุกอย่างแล้วเสร็จ

วันที่ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จ คนที่ทำงานหนักและเหนื่อยยากมาตลอดกลับถูกกันออกไปอยู่นอกวง ส่วนคนที่สวมสูตร ผูกไทมาเสนอหน้า (ส่วนหนึ่ง) รวมทั้งเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการจัดคิวคนเข้าร่วมถ่ายรูปกับสมเด็จพระเทพฯ (คนที่ได้รับเกียรติและโอกาสด้วย) ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเตรียมการก่อนวันเสด็จ แต่เนื่องจากมีตำแหน่งทางการบริหารและ “ผู้จัดคิว” ต้องการแสดงศักยภาพในการจัดการ (ต่อหน้านาย) ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสนั้น ขณะที่คนทำงานจริงกลับไม่ได้รับสิ่งนี้ เข้าทำนอง “ปิดทองหลังพระ” อย่างที่ในหลวงทรงตรัสเป็นประจำ

แต่ที่น่าเจ็บปวดกว่าการแย่งซีนครั้งนั้น คือ ได้ข่าวว่าบรรดารูปถ่ายที่อัดแจกให้แก่ “ผู้มีเกียรติ”เหล่านั้นคนละรูปสองรูปรวมเป็นเงินประมาณ 4-5 พันบาท ที่ผู้อำนวยการแสดงน้ำใจ “จัดให้”ต้องหาเงินนอกงบประมาณมาจ่ายแทน เนื่องจากเกรงใจผู้ทรงเกียรติไม่กล้าเอ่ยขอค่ารูปถ่ายจำนวนดังกล่าว

กว่างานรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ บุคลากรสถาบันทักษิณฯ (ส่วนใหญ่)เหนื่อยยากกันพอดู ทั้งโดยสมควร และไม่สมควร ที่สมควรก็คือ เพื่อเป็นการรับเสด็จพระองค์ท่านให้สมพระเกียรติ ถึงเหน็ดเหนื่อยพสกนิกรก็ยินดี และหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเมื่อพระองค์ทรงสนพระทัยทรงเสด็จ และประทับอยู่ที่สถาบันฯ นานประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ในหมายกำหนดการจะทรงอยู่ที่สถาบันฯ ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
 
แต่ที่ไม่สมควรต้องเหนื่อยยากลำบากใจ คือ การหยิบยืมโต๊ะเก้าอี้สำหรับทรงประทับลงพระนามในห้องศาสตราจารย์สุธิวงศ์รำลึก ที่ผู้อำนวยการขอยืมจากเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่ไม่ได้รับความอนุเคราะห์ ต้องรบกวนให้ นายธรรมปพล ธรรมเดช ไปขอยืมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โน่น (เวรกรรม)

(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม)
กำลังโหลดความคิดเห็น