xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย(12)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

วันหนึ่งของการกินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารในสถานีบริการน้ำมันคาร์ลเท็กซ์ “ดาวเขาเขียว” เชิงสะพานติณสูลานนท์ช่วงเกาะยอ-เขาเขียว ขณะผู้เขียนกับ อ.อาคม กำลังเอร็ดอร่อยกับอาหารพื้นบ้านเมืองสงขลา นายอำเภอสุนทร ฤทธิภักดี นายอำเภอสิงหนคร เข้ามาทักทายอาจารย์และรับเป็นเจ้ามือจ่ายค่าอาหารเที่ยงของอาจารย์และผู้เขียน นั่งลงบอกเล่าข่าวคราวความเป็นมา ความเป็นอยู่และความเป็นไปของเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนจำความได้ว่าลูกศิษย์อาจารย์บางคนที่เป็นนายอำเภอที่มี “ค่าน้ำมัน” พอก็ได้รับตำแหน่งเป็นนายอำเภอในอำเภอขนาดใหญ่ เช่น อ.หาดใหญ่ อ.เมือง แต่บางคน “น้ำมันหมด” แค่ปากพะยูน ป่าบอน ระโนด กระแสสินธุ์ ฯลฯ

ทานข้าวเสร็จ นายอำเภอสุนทรเอ่ยเชิญชวนอาจารย์ไปเที่ยวที่ที่ว่าการอำเภอสิงหนคร อาจารย์หันมาถามผู้เขียนผู้ขับรถหรือเจ้าของรถด้วยแววตาขี้เล่นว่า “รูญไปไหม แล้วแต่รูญ” ซึ่งผู้เขียนรู้ใจว่าอาจารย์อยากไปเพราะอาจารย์เป็นคนชอบเที่ยวซอกแซก แต่เกรงใจผู้เขียนผู้เป็นเจ้าของรถและคนขับที่ต้องกลับไปทำงานที่ค้างอยู่ จึงแบ่งรับแบ่งสู้ โยนอำนาจการตัดสินใจมาที่ผู้เขียนด้วยรู้ดีว่าคำตอบคือ “ไป” เช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

ผู้เขียนนำอาจารย์ไปถึงหน้าที่ว่าการอำเภอสิงหนครภายในเวลาไม่กี่นาที เพราะระยะทางจากร้านอาหารไปยังอำเภอน่าจะไม่เกิน 5 กม. แต่ไม่เจอนายอำเภอมีแต่แม่บ้านกุลีกุจอมาต้อนรับเราพร้อมแจ้งให้ทราบว่า “นายอำเภอฝากให้เรียนอาจารย์ว่าท่านต้องขออภัยที่ไม่อาจจะอยู่ต้อนรับอาจารย์ได้ เพราะมีเรื่องด่วนต้องไปต้อนรับ พลเอกเปรม องคมนตรีที่มาไกล่เกลี่ยเรื่องความขัดแย้งกรณีสำนักสงฆ์หาดแก้ว”

อาจารย์หันมาสบตาผู้เขียนพร้อมกล่าวพอได้ยินกันสองคนว่า “นายอำเภอน่าจะฝากไปบอกป๋าเปรมว่าขออภัยไม่ว่างจะมาต้อนรับ เพราะติดภารกิจต้อนรับอาจารย์อาคม” กล่าวจบเปิดยิ้มกว้างอย่างอารมณ์ดี

หลังจากจิบกาแฟที่แม่บ้านนายอำเภอนำมาต้อนรับด้วยท่าทีนอบน้อมแล้ว ผู้เขียนก็ชวนอาจารย์กลับที่ทำงานที่เกาะยอ เมื่อมาถึงที่ทำงานก็พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องราวต่างๆมากมายตามปกติ

คราวเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองโดยการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2535 หรือรัฐธรรมนูญฉบับ รสช. (คณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทั้งฉบับ สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา และ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีตามลำดับ เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ยกร่างเสร็จแล้วก็มาถึงช่วงทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

วันหนึ่งอาจารย์อาคมเอ่ยกับผู้เขียนขึ้นมาว่า “ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมฯ ผ่านสภา” ผู้เขียนค่อนข้างงงๆ กับความคิดเห็นของอาจารย์ที่สวนกระแสสังคมที่ต่างต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของสภาไปให้ได้ จนถึงกับออกมารณรงค์กดดันสมาชิกรัฐสภาโดยการใช้ “ธงเขียว” เป็นสัญลักษณ์ขับเคลื่อนในนามองค์กรทางสังคมต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่มาของความคิดที่ไม่เหมือนใครของอาจารย์ผู้เขียนก็เข้าใจและค่อนข้างจะเห็นด้วยกับอาจารย์และลงมือเขียนบทความในชื่อเดียวกับที่อาจารย์เปรยให้ฟังว่า “ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา”

อาจารย์ให้เหตุผลว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านสภาไปง่ายๆ ก็จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ารายละเอียดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอย่างไรบ้าง แต่ถ้าไม่ผ่านประชาชนก็จะอยากรู้ว่าทำไมจึงไม่ผ่าน มีการนำเอาร่างรัฐธรรมนูญมาถกเถียงทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางทั่วถึงเป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้รายละเอียดในสาระบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว้างขวาง ทั่วถึงและลึกซึ้ง

วันที่บทความชิ้นนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ผู้เขียนดีใจมากรีบเดินทางไปที่ทำงานที่เกาะยอเช้าเป็นพิเศษเพื่อจะได้เอาหนังสือพิมพ์ฉบับที่ตีพิมพ์บทความชิ้นนั้นให้อาจารย์ดู แต่เมื่อไปถึงที่ทำงาน เพื่อนที่ที่ทำงานลุกลี้ลุกลนออกมาถามว่า

“ไปเยี่ยมอาจารย์อาคมที่โรงพยาบาลแล้วยัง” ผู้เขียนตกใจแทบช็อค แต่ทำใจดีสู้เสือถามออกไปว่า “อาจารย์เป็นอะไรถึงไปอยู่โรงพยาบาล”

“ถูกรถชนเมื่อคืน บาดเจ็บสาหัสทั้งอาจารย์ไพบูลย์คนขับและอาจารย์อาคมคนที่อาจารย์ไพบูลย์ไปส่ง” “แล้วอาการเป็นอย่างไรบ้าง”

“อาจารย์ไพบูลย์ขาหัก อาจารย์อาคมไหปลาร้าหัก เจ็บหน้าอก แต่ทั้งสองคนยังรู้สึกตัว”

ผู้เขียนรีบบึ่งรถกลับไปยังโรงพยาบาลสงขลาที่เชิงสะพานเกาะยอตามเส้นทางที่เพิ่งผ่านมาทันที ด้วยความวิตกกังวล ใจหนึ่งก็อยากไปถึงโรงพยาบาลเร็วๆ เพื่อจะได้เห็นสภาพที่เป็นอยู่ของอาจารย์เสียที แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากไปถึงเร็วเกินไปเพราะเกรงว่าถ้าเจอกับสภาพที่คาดไม่ถึง อาจจะทำใจไม่ได้ ตั้งรับไม่ทัน

ในที่สุดผู้เขียนก็มายืนกุมมืออาจารย์และสอบถามถึงอาการ ความรู้สึกของอาจารย์ที่นอนทุรนทุรายอยู่บนเตียงคนไข้ของโรงพยาบาล ส่งเสียงครางเบาๆเป็นระยะๆ พลางใช้มือข้างที่ไม่มีเข็มสายน้ำเกลือชี้ไปที่น่องและสีข้างตลอดเวลา เป็นการสื่อสารโดยไม่พูดให้รู้ว่ามีปัญหาบริเวณน่องและสีข้างที่ฟกช้ำดำเขียวชัดเจนนั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า วันที่ 29 พฤษภาคม)
กำลังโหลดความคิดเห็น