xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย(15) : ปัจฉิมพากย์จาก ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

อายุย่างหกสิบสาม จึงถึงยามได้พักผ่อน
หมดภาระนิวรณ์ ให้หลวงเลี้ยงถึงวันตาย
ลูกเต้าเริ่มตั้งหลัก กังวลหนักก็ผ่อนคลาย
ลูกนันท์ผู้สืบสาย อักษรฯเทาเข้าก.ต.
ลูกแก้วพยาบาล เป็นอาจารย์ช่วยงานหมอ
ลูกอ้นจบภ.บ. ชอบย้ายงานผ่านหลายกรม
ลาวัณย์คู่ชีวิต พรั่งพร้อมมิตรญาติสุขสม
หมดทุกข์สุขอารมณ์ รับบำนาญเบิกบานใจ
นอนตายได้สนิท มิต้องคิดเป็นห่วงใย
เพราะคุณพระรัตนตรัย คุ้มครองมั่นนิรันดร

ยังห่วงเรื่องงานศพ เคยประสพมาแต่ก่อน
พระเทศน์เคยเดือดร้อน เสาะความดีมายกยอ
บางรายง่ายกับพระ เพราะเคยสะสมมากพอ
บางรายร้ายจริงหนอ พระลำบากยากเกือบตาย
ท่านอยากยกความดี พอเป็นที่อภิปราย
มีแต่เรื่องเลวร้าย หาความดีไม่มีเลย

จึงขอฝากญาติมิตร เพื่อนสนิทอย่าเพิกเฉย
ปล่อยตัวกันตามเคย ขอให้ตั้งระวังตน
ทำความดีไว้บ้าง เพื่อพระอ้างเป็นมรรคผล
อย่าให้ท่านอับจน กลางธรรมมาสน์อนาถครันฯ

ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ เป็นชาวอำเภอหาดใหญ่ เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2467 ที่บ้านหาดใหญ่ใน เป็นบุตรของนายเมี้ยน นางเฉี้ยว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 6 คน อาจารย์เป็นบุตรลำดับที่ 4 ของครอบครัว สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ ปริญญาตรีอักษรศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท D.P.A. จากประเทศนิวซีแลนด์ และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รับราชการครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาปี พ.ศ.2493 โอนไปเป็นอาจารย์ผู้ช่วยแผนกวิชาอักษรศาสตร์ กองการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ(จ.ป.ร.), อาจารย์ผู้ช่วยแผนกสังคมศาสตร์, อาจารย์ผู้ช่วยวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์, อาจารย์ผู้ช่วยกงวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์, อาจารย์ผู้ช่วยกองการศึกษา, อาจารย์ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นนายทหารยศพันตรี สังกัดกองทัพบก

ปี พ.ศ.2504 โอนไปรับราชการในตำแหน่งวิทยากรเอก สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากองวิจัยสังคมศาสตร์ ปี พ.ศ.2510 โอนไปรับราชการในตำแหน่งอาจารย์เอก คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่, เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์, อาจารย์ชั้นพิเศษ คณะสังคมศาสตร์ เป็นรองศาสตราจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์, รองศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์, ปี พ.ศ.2519 เป็นศาสตราจารย์ระดับ 9 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ก่อนจะเกษียณอายุราชการย้ายมาอยู่ ม.สงขลานครินทร์ตำแหน่งรองอธิการบดี จนเกษียณอายุราชการ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ(ม.ว.ม.)

หลังจากเกษียณอายุราชการเป็นรองประธานปรับปรุงสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.2529 และเป็นที่ปรึกษาสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2540 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์และพักฟื้นอยู่ที่บ้านจนถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน 2541 และได้บริจาคร่างกายให้กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางการแพทย์ต่อไป ครอบครัว ญาติมิตร ศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือพร้อมใจกันทำบุญอุทิศผสมส่วนบุญส่วนกุศลแด่อาจารย์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541

สิ้น “อาคม”อำดมคำนำความคิด คืนวันมันมืดมิดเหมือนปิดม่าน
โอ้ร่มโพธิ์ร่มไทรใหญ่ตระการ มาล้มลงแหลกลาญมิทันลา
รับรู้ข่าวร้ายในวันร้าว วันที่แดดหนาวและมืดหนา
โลกโหดร้ายจนเกินเหตุไม่เมตตา พรากอาจารย์ลับลาไปก่อนกาล
ยังจดจำคำอาจารย์จนฝังจิต นับเนื่องเนืองนิตย์สนุกสนาน
แลกเปลี่ยนเสวนากันในวันวาน ทีทรรศน์ปณิธานที่พึงเป็น
คือผู้เฒ่าทระนงและองอาจ คือนักปราชญ์ของแผ่นดินถิ่นแค้นเข็ญ
คือปูชนียบุคคลดับลำเค็ญ บัดนี้มิมีให้เห็นเป็นบุญตา
หลับตาลงให้สนิทศิษย์ตระหนัก ภารกิจอุปสรรคจักฟันฝ่า
เพื่อสืบทอดอุดมการณ์สานเจตนา สร้างกุศลเพื่อบูชาคุณอาจารย์

(‘รญ ระโนด. เกาะยอ สงขลา 17 กันยายน 2541.แด่…ศาสตราจารย์ของชาวบ้าน)

(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 19 มิ.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น