จ.ตรัง จัดงาน “ประเพณีศีลกินผัก ปี 2555” ขึ้นระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม โดยวันแรกจะมีพิธียกเสาเต็งโก และอัญเชิญตะเกียงไฟพระฤกษ์ 9 ดวง ขึ้นสู่ยอดเสา หลังจากนั้นจะมีพิธีกรรมหลักๆ ที่ศาลเจ้าต่างๆ เช่น พิธีข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ พิธีเวียนธูปเวียนเทียน พิธีไต่บันไดมีด และขบวนพระออกแห่รอบตัวเมืองตรัง ของศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม ศาลเจ้าไต่เซี่ยฮุดโจ้ว และศาลเจ้าพ่อเสือ
จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย มีแม่น้ำตรังไหลผ่านลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากน้ำกันตัง ซึ่งเมื่อย้อนอดีตไปประมาณ 150-160 ปีที่แล้ว หรือเมื่อประมาณ พ.ศ.2390-2400 จะพบว่า ได้มีชาวจีนฮกเกี้ยนพากันอพยพโดยทางเรือเข้ามาตามสายน้ำดังกล่าว ซึ่งต่างก็มาลงหลักปักถิ่นทำมาหากิน ณ หมู่บ้านท่าจีน หรือตั้งอยู่พื้นที่ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง ในปัจจุบัน
หลังจากนั้นชาวจีนในจังหวัดตรังจึงได้ร่วมกันจัดงานถือศีลกินเจ หรือถือศีลกินผักขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ.2400 เพื่อสืบสานประเพณีโบราณที่กระทำสืบต่อกันมายาวนานแล้ว โดยการปลูกสร้างโรงพิธี เป็นโรงเรือนมุงหลังคาและฝาด้วยจาก แล้วอัญเชิญกระถางธูปของเทพเจ้าเก้าองค์เข้าไปไว้ และถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 จีน เป็นวันเริ่มต้น จนกระทั่งถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 อันเป็นวันสิ้นสุดของงานในปีนั้นๆ
สำหรับการถือศีลกินผักของจังหวัดตรังนั้น จะเริ่มเตรียมงานกันตั้งแต่วันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8 จีน ทั้งนี้ จะมีการหาฤกษ์เวลาที่ดีของปีปฏิทินจีน เพื่อตั้งโต๊ะบวงสรวงอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ ที่จะต้องเสด็จลงมาในวันเริ่มพิธีกรรม ซึ่งการตั้งโต๊ะบวงสรวงนี้คนจีนเรียกกันว่า “ป่ายตั่ว” ระหว่างนั้น ทางศาลเจ้าก็จะทำความสะอาดตัวศาลเจ้า แท่นบูชา เชิงเทียน ตะเกียงน้ำมัน และกระถางธูป
และเมื่อถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 จีน จะเป็นวันยกเสาธง หรือวันยกเสาเต็งโก หรือวันยกเสาเต็งกอ ซึ่งเรียกตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยนว่า คี่เต็งโก และปกติจะทำในตอนเช้าของวันดังกล่าว จากนั้นก็จะจัดการเคลื่อนย้ายกระถางธูป เชิงเทียน ตะเกียงน้ำมัน ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะบวงสรวงไปตั้งวางที่ศาลเทวดาฟ้าดินทั้งหมด
ส่วนในตอนกลางคืนของวันเดียวกันนี้ ทางศาลเจ้าก็จะได้ทำพิธีอัญเชิญไฟพระฤกษ์เข้าสู่แท่นบูชา ซึ่งเป็นไปตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ด้วยการเริ่มพิธีจุดตะเกียงน้ำมันมะพร้าว ณ แท่นบูชาของเทพเจ้าต่างๆ ทุกองค์ อันเป็นการเริ่มต้นพิธีถือศีลกินผักที่สมบูรณ์ทุกประการ
สำหรับผู้ที่ต้องการถือศีลกินผักจะต้องเริ่มปฏิบัติตน นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 จีน ไปจนถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 จีน เป็นอันเสร็จพิธี โดยเฉพาะการงดรับประทานอาหารคาว หรือเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งไข่ หอม กระเทียม และผักบางประเภทที่มีกลิ่นฉุนอย่างรุนแรง รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตนให้ครบในศีล 5 อย่างเคร่งครัดที่สุด เพื่อเป็นการซักฟอกมลทินออกจากตนเอง ทั้งกาย วาจา ใจ
ในวันที่ขบวนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือขบวนพระของศาลเจ้าต่างๆ ออกโปรดสาธุชน หรือมักเรียกกันว่าออกเที่ยว ไปตามพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดตรัง นอกจากจะมีลูกหลานเข้าร่วมขบวนอันยิ่งใหญ่ ในชุดนุ่งขาวห่มขาวกันเป็นจำนวนนับพันๆ คนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะมองดูแล้วน่าหวาดเสียวก็คือ การใช้อาวุธ ของมีคม หรือเหล็กแหลมต่างๆ ทิ่มแทงลงไปในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นตามใบหน้า ขอบตา ปาก จมูก หู หรือผิวหนัง แต่แปลกที่ผู้คนที่เข้าร่วมในพิธีกรรมเหล่านี้ หรือที่มักเรียกกันว่าม้าทรงนั้น กลับไม่แสดงออกถึงความเจ็บปวดใดๆ จนยิ่งช่วยเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาให้แก่ผู้คนมากขึ้น เพราะแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาร่วมงานต่างก็เกิดความรู้สึกประทับใจในประเพณีเก่าแก่ที่มีความขลังเช่นนี้
ทั้งนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังได้มีการจัดพิมพ์คู่มือถือศีลกินผักจังหวัดตรังขึ้น เพื่อให้ความรู้ถึงความเป็นมา และข้อมูลของศาลเจ้าต่างๆ จ่ายแจกให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย หรือสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานตรัง โทร.0-7521-5867 และเทศบาลนครตรัง โทร.0-7521-8017