xs
xsm
sm
md
lg

ระหว่าง “ศักดิ์สิทธิ์” กับ “อุบาทว์” เราควรจะเชื่อมั่นอะไรมากกว่า / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
สังคมไทย เป็นสังคมแห่งความเชื่อ มากกว่าเป็นสังคมแห่งความคิด หรือสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา คนไทยสมัยก่อนเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า จะสามารถดลบันดาลให้พบกับสิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว จึงมีประเพณี พิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเหล่านี้ ทั้งไทยพุทธ มุสลิมและจีน
 
ในขณะเดียวกัน คนไทยก็มีความเชื่อเกี่ยวกับอาเพศต่างๆ ที่จะได้รับจากการที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามประเพณี พิธีกรรมที่มีมาอย่างยาวนานจะถูกลงโทษจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นจนกลายเป็นอุบาทว์ มีแต่ให้โทษ โดยไม่เคยให้คุณ
 
ในทางสังคมของชาวใต้ “นาย” เป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอุบาทว์ในคนเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากสำนวนที่พูดกันติดปากและชินหูของคนใต้ที่ว่า “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา” หรือ “ไม่รบนาย ไม่หายจน” เป็นต้น
 
สำนวนเหล่านี้สะท้อนถึงความศักดิ์สิทธิ์และความอุบาทว์ของนายไปในขณะเดียวกัน หมายถึงว่า ถ้าปรนนิบัตินายดี เป็นคนรู้ใจนาย ไม่ใช่คนรู้ทัน ก็จะได้รับการส่งเสริมให้เจริญเติบโตในหน้าที่การงาน แต่หากไม่ทำตาม หรือทำตรงกันข้าม ก็จะได้โทษทัณฑ์ หรืออานิสงส์จากอุบาทว์แทนศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน
 
บางครั้ง “ศักดิ์สิทธิ์” ของคนกลุ่มหนึ่ง อาจจะกลายเป็น “อุบาทว์” ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกัน “อุบาทว์” ของคนกลุ่มหนึ่ง ก็อาจจะกลายเป็น “ศักดิ์สิทธิ์” ของคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับจุดยืน รสนิยม ค่านิยม หรือสันดานของคนแต่ละพวก แต่ละกลุ่ม
 
ปัจจุบันด้วย “ระบบนิเวศเดรัจฉาน” ที่กำลังมาแรงกว่า “ระบบนิเวศมนุษย์” ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “อุบาทว์” อาจจะล้ำหน้ากว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ไปหลายก้าวแล้ว จนบางคนถึงกับอุทานว่า “ศักดิ์สิทธิ์หายไปไหนหมด จึงปล่อยให้พวกอุบาทว์ครองบ้านครองเมือง” คล้ายกับที่เคยบ่นกันว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” อะไรทำนองนั้น คล้ายๆ จะตัดพ้อต่อศาสดาทุกพระองค์ว่า คำกล่าวของท่านไม่เป็นความจริง
 
แต่ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ยังเชื่อมั่นว่า “ศักดิ์สิทธิ์” จะต้องยั่งยืนจิรังกาลกว่า “อุบาทว์” อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา ซึ่งเดี๋ยวนี้เวรกรรมมันติดจรวด เทอร์โบ ดิจิตอล มาเร็วเกินคาดจนบางคนตั้งตัวไม่ติด
 
เพียงแต่สังคม “นิเวศเดรัจฉาน” อาจจะทำให้คนที่ปรับตัวเข้ากับ “เดรัจฉานนิเวศ” ไม่ทันมีความรู้สึกว่า พวกตนไร้ที่พึ่ง เพราะเจ้าใหญ่นายโตส่วนใหญ่หลงใหลในคารมของพวกสอพลอตอแหล ทำตัวใกล้ชิดกับคนถ่อย ห่างเหินปราชญ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีวุฒิภาวะทางจริยธรรม เป็นผู้ตรวจสอบจรรยาบรรณคนอื่นทั้งๆ ที่ตนเองไม่เคยมีจรรยาบรรณ เรากำลังอยู่ในยุค “โง่แต่ได้เป็นใหญ่” อะไรๆ จึงทำให้คนที่รู้เท่าทันคนพวกนี้มีความรู้สึกว่า ตนเองเสียโอกาสที่ไม่ได้เป็นพรรคพวกกับคนเลวพวกนี้ จนเกือบจะหลงลืมหรือละเลยกฎแห่งกรรม ลืมผิดชอบชั่วดี
 
ความจริงเรามาอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เมื่อเทียบกับอายุของจักรวาล อายุเรากระจิริดมาก ทำไมจะต้องแก่งแย่ง แข่งขัน แสวงหาอำนาจ เอารัดเอาเปรียบกัน จนลืมความตาย บางคนสร้างแต่ความชั่วช้าสามานย์ เพียงเพื่อตอบสนองกามตัณหาของตน ละเลยศีลธรรมจรรยา ผิดลูก ผิดผัว ผิดเมียเขาอยู่ร่ำไป
 
บางคนอาจจะเข้าทำนองที่ ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ เคยกล่าวว่า อาจจะทำให้พระจนปัญญาบนธรรมาสน์ในการเทศนาธรรมในงานศพคืนสุดท้าย เพราะไม่สามารถจะสรรหาคุณความดีของผู้ตายมาสรรเสริญเยินยอได้ จนพระต้องทุศีล หรืองานศพของบางคนอาจจะมีเพียง “หมากับเจ้าภาพ” เพราะไม่มีใครไปร่วมพิธีกรรมในวาระสุดท้ายของชีวิต
 
สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังเชื่อมั่นว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ย่อมอยู่เหนือ “อุบาทว์” ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากเราไม่มองกันแค่ความสำเร็จเพียงผิวเผินเฉพาะหน้า แต่มองกันในบริบทรอบด้านในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพียงแค่หยิบเอาความแตกต่างระหว่าง “นิเวศเดรัจฉาน” กับ “นิเวศมนุษย์” มาเปรียบเทียบกัน ก็ย่อมเห็นชัดเจนอยู่แล้ว
 
“อุบาทว์” อยู่ใน “ระบบนิเวศเดรัจฉาน” ขณะที่ “ศักดิ์สิทธิ์” อยู่ใน “ระบบนิเวศมนุษย์” ย่อมมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะ “เดรัจฉาน” กับ “มนุษย์” มันแยกภพ แยกโลกกันอยู่แล้วโดยปริยาย แม้ว่าปัจจุบัน “เดรัจฉาน” บางพวก บางเหล่าจะมีสภาพภายนอกคล้ายมนุษย์จนแยกกันไม่ออก แต่ถ้าพิจารณาถึงบริบทสำคัญๆ ของความเป็นมนุษย์ ก็สามารถแยกแยะได้ เว้นไว้แต่ว่าคนที่แยกแยะเป็น “เดรัจฉาน” หรือว่าเป็น “มนุษย์” เท่านั้น.
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น