xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมทางการเมืองของคนมหาวิทยาลัยทักษิณ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ก่อนการเลือกตั้งตัวแทนของบุคลากรสายอาจารย์และสายสนับสนุนในสภามหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ เพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนิทสนมต่างบอกว่า “อาจารย์นอนมา” หรือ “ไม่น่ามีปัญหา” แต่ข้าพเจ้าแย้งว่า “ไม่แน่ ถ้าความเป็นคณะนิยม พรรคพวกนิยม ตึกนิยม ฯลฯ โดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์ คุณภาพ บุคลิกภาพและศักยภาพของบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงในสภามหาวิทยาลัยทักษิณ สภาที่ร่ำลือกันว่าไม่ค่อยมีคนกล้าพูดมากนัก”
 
คนที่มั่นใจว่าข้าพเจ้าน่าจะ “นอนมา” อาจจะเพราะเห็นว่าในบรรดาผู้สมัครทั้ง ๖ คน ข้าพเจ้าเป็นเพียงคนเดียวที่เคยมีบทบาท ประสบการณ์ในสภามหาวิทยาลัยมาใน ๒ สถาบันคือ อดีตกรรมการสรรหานายกสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา อดีตกรรมการสรรหานายกสภาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ที่มาจากการเลือกตั้งของบุคลากรสายสนับสนุนมหาวิทยาลัยทักษิณเมื่อไม่นานมานี้ แม้ไม่สามารถเขย่าฐานอำนาจเก่าในสภามหาวิทยาลัยทักษิณได้ แต่จนถึงวันนี้เป็นเวลา ๙ เดือนแล้ว กรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการสรรหาที่ไม่ชอบธรรมก็ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ
 
นอกจากนั้น ข้าพเจ้าเคยมีประสบการณ์ในการทำประชาพิจารณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐ และเป็นกรรมาธิการวิสามัญจังหวัดสงขลารับฟังความคิดเห็นรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จึงน่าจะเป็นดีกรีรับรองคุณภาพของการเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนเพื่อนพ้องน้องพี่ในสภามหาวิทยาลัยได้
 
แต่หลังจากปิดหีบและเริ่มนับคะแนนหลังเวลา ๑๕.๓๐ น. ปรากฏว่าการณ์ไม่เป็นดังคาด โดยเฉพาะคะแนนเสียงจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวน ๓๒ คน แต่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ๓๐ คนปรากฏว่า ๑๒ คนไม่เลือกข้าพเจ้า โดยในจำนวนนี้ ๕ คนไปเลือกหมายเลข ๑ อีก ๔ คนไม่ประสงค์จะเลือกใคร ๒ คนไปเลือกหมายเลข ๔ และอีก ๑ คนไปเลือกหมายเลข ๓ ข้าพเจ้าจึงมีคะแนนเสียงจากต้นสังกัดเพียง ๑๙ เสียง
 
ในการเลือกตั้งครั้งก่อน มีผู้ไม่เลือกข้าพเจ้าเพียง ๔ คน แต่ครั้งนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น ๘ คนเพราะอยู่ในช่วงการ “ผลัดแผ่นดิน” เปลี่ยนขั้วอำนาจ และขั้วอำนาจคนใหม่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิดและจุดยืนกับข้าพเจ้า เลยทำให้เพื่อนพ้องน้องพี่บางคนเริ่มเปลี่ยนสีแปรธาตุอย่างน่าเสียใจ
 
ในส่วนของวิทยาเขตสงขลาแผ่นดินใหญ่ เป็นถิ่นของหมายเลข ๑ เขาย่อมได้เปรียบข้าพเจ้าอยู่แล้ว ประกอบกับที่นั่นข้าพเจ้ามีทั้งมิตรและศัตรู ทั้งศัตรูที่ไปจากเกาะยอ และพรรคพวกที่รวมหัวกับผู้บริหารระดับสูงช่วยกันสกัดไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าสภามหาวิทยาลัยให้ได้ เช่นเดียวกับที่แนวร่วมในสถาบันทักษิณคดีศึกษาได้ขยายผลสำเร็จเป็นสองเท่าของครั้งที่แล้ว
 
ข่าวว่ามีผู้บริหารระดับรองอธิการบดีที่วิทยาเขตสงขลา ลงทุนหาเสียงให้หมายเลข ๑ เช่นเดียวกับที่คณบดีท่านหนึ่งลงทุนพิมพ์โปสเตอร์และไวนิล ตลอดจนบัตรแนะนำตัวให้กับผู้สมัครในคณะของตน และนำไปหาเสียงเลี้ยงสังสรรค์กันถึงวิทยาเขตพัทลุง
 
ในที่สุดข้าพเจ้าก็แพ้หมายเลข ๑ ไป ๑๐ คะแนน คือเขาได้ ๑๐๑ คะแนน ข้าพเจ้าได้ ๙๑ คะแนน
 
แม้ว่าข้าพเจ้าจะแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้ไปทำหน้าที่ตัวแทนสายสนับสนุนในสภา เช่นเดียวกับอาจารย์ดำรงศักดิ์ แก้วเพ็ง ที่เดินหาเสียงเคียงคู่กันมาทั้งในสงขลาและพัทลุง แต่ข้าพเจ้าก็อบอุ่นใจยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนพ้องน้องพี่อย่างท่วมท้นจนเกินคาด
 
หากข้าพเจ้าไม่ถูกตัดสินจากเพื่อพ้องน้องพี่ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา สถาบันที่ข้าพเจ้าสำคัญผิดคิดว่า การลุกขึ้นเป็นปากเสียงปกป้องเกียรติภูมิ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ในช่วงขาลง และเป็นปากเสียงแทนพวกเขาในหลายกรรมหลายวาระ จะมีคุณค่าเพียงพอให้เขาเห็นความสำคัญของการให้การสนับสนุนไปทำหน้าที่อันมีเกียรติ (แต่หนักหนาสาหัส) ในสภามหาวิทยาลัย แต่พวกเขาส่วนหนึ่งกลับเลือกยืนตรงกันข้ามกับข้าพเจ้า อย่างเจตนาประกาศตัวเป็นศัตรูกันอย่างชัดเจน และบางส่วนก็เลือกที่จะไม่สนับสนุนใคร ซึ่งก็เท่ากับเขาไม่เอาข้าพเจ้าเช่นกัน
 
ข้าพเจ้าต้องขอบคุณเพื่อนพ้องน้องพี่ ๑๙ เสียงที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ๖๐ เสียงที่วิทยาเขตสงขลา และ ๑๒ เสียงที่วิทยาเขตพัทลุง แม้เราจะแพ้ในสนามการเลือกตั้ง แต่เราก็มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรี เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องฐานเสียง ผลประโยชน์ ไม่ได้เป็นนอมินีของใครอย่างที่บางพวกเขาเป็นกัน
 
ว่าไปแล้วภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งของชาวมหาวิทยาลัยทักษิณในครั้งนี้ ยังเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ-ไพร่ฟ้า แบบไพร่ฟ้า-มีส่วนร่วม และคับแคบ-มีส่วนร่วม นั่นคือ ระบบพรรคพวกเพื่อนฝูงยังเป็นปัจจัยชี้ขาด มากกว่ากระบวนการมีส่วนร่วม ดังจะเห็นได้ว่าวิทยาเขตสงขลาเทเสียงให้เบอร์ ๑ ขณะที่วิทยาเขตพัทลุงทุ่มให้เบอร์ ๓ เป็นส่วนใหญ่ และสถาบันทักษิณทุ่มให้เบอร์ ๒ เป็นต้น อันนี้สะท้อนวัฒนธรรมการเมืองแบบคับแคบ-ไพร่ฟ้า
 
ขณะที่ส่วนที่เลือกเบอร์ ๒ จากวิทยาเขตสงขลาและวิทยาเขตพัทลุง โดยเฉพาะวิทยาเขตสงขลาที่เลือกเบอร์  ๒ ถึง ๖๐ เสียงทั้งๆ ที่เบอร์ ๒ ไม่ใช่คนในวิทยาเขตสงขลา แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วม-แบบไพร่ฟ้า คือเลือกเพื่อไปทำหน้าที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย
 
ในขณะที่การเลือกตามวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ-ไพร่ฟ้า เลือกเพียงเพราะนายบอกให้เลือก หรือเลือกเพราะรู้จักมักคุ้นสนิทสนมกัน อยู่หน่วยงานเดียวกัน ตึกเดียวกัน ฯลฯ แต่ไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมเรื่องประสบการณ์ วุฒิภาวะ จุดยืน วิธีคิด จิตสำนึก อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ล้าหลังยิ่งนอกรั้วมหาวิทยาลัย แต่เข้มแข็งยิ่งในรั้วมหาวิทยาลัย
 
ตราบใดที่วัฒนธรรมทางการเมืองของคนมหาวิทยาลัยทักษิณยังเป็นแบบคับแคบ-ไพร่ฟ้าเช่นนี้ คงอีกนานที่ประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณจะได้พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และรอดพ้นจากความเป็นแดนสนธยา ดินแดนแห่งนี้ยังจะถูกครอบงำจากคนนอกที่ขาดความรับผิดชอบ และคนในที่มักได้ไร้ศักดิ์ศรี แสวงหาผลประโยชน์ด้วยโอกาสและอำนาจที่พวกตนมีไปวันๆ แล้วจากไปอย่างไร้จิตสำนึกความรับผิดชอบ
 
ดังเช่นบางคนที่ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ ก็กล้าที่จะดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ เช่น การสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ อย่างไม่สนใจใยดีต่อคำทักท้วง ด้วยลุแก่อำนาจ กอปรกับมีลิ่วล้อคอยส่งเสริมอย่างใกล้ชิด และบางคนกำลังจะหมดอำนาจครบวาระไม่กี่วัน ก็ยังนั่งเป็นกรรมการสรรหาในทุกคณะอย่างหน้าตาเฉย เรื่องไม่เหมาะไม่ควรเหล่านี้จะเกิดได้เฉพาะในสังคมที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ หรือแบบไพร่ฟ้าเท่านั้น
 
แต่ที่มันน่าสลดใจ เพียงเพราะสิ่งนี้มันเกิดใน “มหาวิทยาลัย” ถ้ามันเกิดในโรงเรียนขยายโอกาสขนาดใหญ่ มันคงไม่น่าอเนจอนาถใจเช่นนี้อย่างแน่นอน.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น