xs
xsm
sm
md
lg

แม่ไม้การเมือง 2 : การนับญาติและการทำให้เป็นอื่น / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
 คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมจารีตนิยม  ท้องถิ่นนิยม และมีระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ  ทั้งญาติโดยสายโลหิต และญาติโดยการผูกเกลอ  ผูกดอง  ผูกเสี่ยว  หรือการ “สาวย่านนับโยด”  ดังนั้น  เมื่อมีกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในทุกระดับจึงเป็น “ฤดูนับญาติ” ของแต่ละฝ่ายที่ลงแข่งขันชิงชัยกันในสนามเลือกตั้ง
 
การนับญาติชั้นแรกคือ นับคนที่มีนาสกุล หรือใช้นามสกุลเดียวกัน ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ของผู้สมัคร  รวมทั้งของคู่สมรสของเครือญาติทั้งหลาย  ชั้นที่สอง ก็นับคนบ้านเดียวกัน  ท้องถิ่นเดียวกัน  ละแวกเดียวกัน  เรียนโรงเรียนเดียวกัน  ทั้งระดับประถม  มัธยม และอุดมศึกษา  จากนั้นก็เป็นเครือข่ายที่ทำงาน  อาชีพ  ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่ความเป็น “พรรคพวก” หรือ “คนของเรา” และนำไปสู่คะแนนเสียงที่เป็นรูปธรรม
 
ในขณะเดียวกัน  การทำให้คู่แข่งขัน “เป็นคนอื่น” ในบ้านเกิดของตัวเองก็ถือว่าเป็นแม่ไม้การเมืองอีกอันหนึ่ง ที่นำไปสู่การเผด็จศึกได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  วิธีการก็คือ การ “เล่านิทานโกหก” แบบทีเล่นทีจริงบนเวทีปราศรัย  ปล่อยข่าวตามร้านน้ำชา หรือชุมชนที่เป็นฐานเสียงของตัวเอง  สร้างความเสียหาย  มัวหมอง ให้แก่คู่แข่งจนกลายเป็นตัวตลก และกลายเป็น “คนอื่น” ในความรู้สึกของคนบ้านเดียวกัน  จังหวัดเดียวกัน
 
นักการเมืองภาคใต้มีความช่ำชองในเรื่องการพูดจาปราศรัย  โน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองพูด  เพราะเขารู้ว่าในทางการเมือง  เรื่องที่นำมาพูดไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงทั้งหมด  เพียงแต่จริงบางส่วน และประชาชนเชื่อก็สำเร็จแล้ว
 
ยุคหลังๆ การเมืองแบบ “นักเล่านิทานโกหก” ใส่ร้าย ใส่ความแบบทีเล่นทีจริงคลายความเข้มข้นลง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี  2540  และฉบับล่าสุด 2550  ไม่เอื้อให้นักการเมืองใช้วาทกรรมทำลายคู่แข่งขันแบบมักง่ายได้อีกต่อไป และมีความผิด และโทษถึงขั้นถูกใบแดง และยุบพรรคได้  แต่วัฒนธรรมการเมืองแบบคับแคบ+ไพร่ฟ้า ก็ยังทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างได้ผลในระดับหนึ่ง
 
เนื่องจากการเมืองในระบบยังชี้ขาดกันที่ผลการแพ้ชนะกันในสนามเลือกตั้ง มากกว่าการพัฒนาประชาธิปไตย และการเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่ในทางการเมืองของทุกฝ่าย  ประกอบกับคุณภาพของประชากรยังขาดวุฒิภาวะทางความคิด  ความรู้เท่าทัน  แม่ไม้การเมืองแบบเดิมๆ  โบราณๆ จึงยังใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่นับวันจะคลายมนต์ขลังลงไปเรื่อยๆ  เหมือนภูตผีปีศาจที่เคยมีอย่างชุกชุมในยุคที่บ้านเมืองยังไม่มีไฟฟ้าสว่างไสวบนถนนหนทาง  ครั้นบ้านเมืองมีความเจริญไปทั่วทุกหัวระแหง  ภูตผีที่เคยหลอกหลอนอยู่ทั่วไป ทั้งที่ต้นไม้ใหญ่  ในบ้านร้าง  วัดร้าง  ป่าช้า  ฯลฯ  ก็เริ่มหดหายไปจากสังคม
 
แม่ไม้การเมืองแบบนับญาติ และการทำให้เป็นอื่น  นับว่าเป็นแม่ไม้ที่ยังพอรับไหวกว่าแม่ไม้การเมืองของการใช้อำนาจอิทธิพลนอกระบบของระบอบประชาธิปไตยมาใช้  ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่  คุกคาม  กลั่นแกล้ง  ทำลายล้างต่างๆ นานา  เพียงเพราะคนเหล่านั้นไม่สนับสนุนฝ่ายตน หรือไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม  เพราะอันนี้เป็นแม่ไม้การเมืองของคนคับแคบ  ผูกขาดความชอบธรรมแต่ถ่ายเดียว
 
แต่จะอย่างไรก็ตาม  เราสมควรเรียกร้อง และสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบ “วัฒนธรรมประชาธิปไตย”  คือ การเมืองของประชาชน  โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  เป็นการเมืองที่ยึดหลักการเหตุผล  ควบคู่กับการยอมรับเสียงส่วนใหญ่  เคารพในการตัดสินใจของเสียงส่วนน้อย  ดำเนินการทางการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย  ไม่ใช่สำหรับฝ่ายที่สนับสนุน และเป็นพวกเดียวกับตนเท่านั้น
 
ขอให้คิดว่า “การเลือกตั้ง” เป็นเพียงเครื่องมือในการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองเพื่อความผาสุกของมวลชน  ไม่ใช่ติดกับดักยึดการเลือกตั้งเป็นสรณะ โดยไม่มองความสมเหตุสมผลอย่างอื่น  เช่น  ความเที่ยงธรรม  ความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการจัดการเลือกตั้ง  กระบวนการตรวจสอบ  กระบวนการถอดถอน  ฯลฯ
 
คงเป็นหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการติดตามแม่ไม้การเมืองของนักการเมืองแต่ละยุคสมัยด้วยความรู้เท่าทัน  ไม่ปล่อยให้นักการเมืองตบตา ฉ้อฉล ชักนำ หรือครอบงำ เพื่อความสำเร็จเฉพาะตนเพียงระยะสั้น  แต่สร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง และอนาคตของลูกหลานยาวนาน  จนบางครั้งอาจจะนำไปสู่ “ความสิ้นชาติ” ก็เป็นได้เช่นกัน.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น