คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ในบรรดาศาสตร์ หรือความรู้สาขาต่างๆ ในโลกนี้ต่างพัฒนาล้ำหน้าไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ อุทกศาสตร์ คณิตศาสตร์ แพทยศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ แต่ศาสตร์ที่กล่าวกันว่าล้าหลัง หรือก้าวหน้าน้อยกว่าเพื่อนคือ “รัฐศาสตร์” โดยเฉพาะสาขาที่ว่าด้วยการเมืองแบบตัวแทน ยังคงถกเถียงกันด้วยประเด็นที่อริสโตเติล พลาโต และใครต่อใครในประวัติศาสตร์เคยถกเถียงกันเป็นพันๆ ปีมาแล้ว
การเมืองไทยวันนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น ยังคงอยู่ในวังวนของความล้าหลังทั้งในส่วนของนักการเมืองผู้เสนอตัวรับใช้ประชาชน และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคการเมืองที่มีส่วนใหญ่ก็ไม่มีสถานภาพ และบทบาทเป็นพรรคการเมืองในความหมายของ “พรรคการเมือง” ตามต้นแบบในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย บางคนบอกว่า “เมืองไทยไม่มีพรรคการเมือง มีแต่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง” ด้วยซ้ำ
ว่ากันว่า “แม่ไม้การเมือง” ของนักการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ทำให้ “รัฐศาสตร์” เป็นวิชาที่ทันสมัย จนประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ใช่คอการเมืองผู้คร่ำหวอดจะตามทัน โดยเฉพาะนักการเมือง และพรรคการเมืองผู้ช่ำชองในกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ให้ฝ่ายตนเอง และมีศักยภาพยิ่งในการทำลายภาพลักษณ์ของคู่แข่งขันทางการเมือง โดยเฉพาะคนที่พวกเขากลัวว่าจะเอาชนะเขาได้ ถ้าไม่รีบทำลายให้ขาดความชอบธรรมหรือหมดความเชื่อถือเสียก่อน
ประชาชนคนทั่วไปคงไม่ทราบ หรือคาดไม่ถึงหรอกว่า กลวิธีที่จะสร้างความไม่ชอบธรรมให้แก่คู่แข่งขันทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การจ้างคนไปนั่งปล่อยข่าวตามร้านน้ำชาว่า นักการเมืองที่พวกเขากลัวว่าจะลงสมัคร และพวกเขาสู้ไม่ได้จะไม่ลงสมัครในสมัยหน้า โดยนักการเมืองคนนั้นไม่เคยพูด และประชาชนในเขตเลือกตั้งก็ไม่เคยมีใครได้ยินเขาพูด ครั้นพอถึงหน้าสมัครรับเลือกตั้ง นักการเมืองคนนั้นก็ลงสมัครตามปกติ สร้างความไม่พอใจให้แก่คอการเมืองที่เคยได้รับข่าวปล่อย หาว่าไม่รักษาสัจจะ นักการเมืองคนนั้นก็ขาดความชอบธรรม และไม่สง่างามไปโดยปริยาย ส่วนจะแพ้การเลือกตั้งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบารมี และผลสำเร็จของการปล่อยข่าว
ยุทธวิธีการจ้างคนปล่อยข่าวเพื่อทำลายคู่แข่งขัน และสร้างกระแสให้แก่ตัวเอง และพรรคที่ตนสังกัด นับเป็นแนวทางถนัดของนักการเมืองบ้านเรามานานแสนนาน ควบคู่กับยุทธการการฉีกโปสเตอร์ หรือทำลายป้ายหาเสียงของตัวเอง เพื่อให้ประชาชนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เป็นการกระทำของคู่แข่ง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องต่อสู้กับคู่แข่งที่มีโอกาสชนะเขามากกว่า แนวทางที่สร้างความชอบธรรม และเรียกคะแนนสงสารให้แก่ตนเอง และสร้างความไม่ชอบธรรม ความน่ารังเกียจเหยียดหยามให้แก่คู่แข่งได้มากและเร็วที่สุดคือ การทำลายป้ายหาเสียงของตนเอง ซึ่งวิธีการนี้ถูกหยิบยกมาใช้ในทุกยุคทุกสมัย ทั้งๆ ที่มีวิธีการอื่นอีกมากมายในการเอาชนะคู่แข่งแบบ “วิชามาร”
ในอดีตเคยเล่ากันในแวดวงอยู่ครั้งหนึ่ง หมายเลข ๕ เป็นผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และถ้าไม่ใช้วิชามารขั้นเทพผู้สมัคร หมายเลข ๕ ต้องชนะแน่นอน แม่ไม้การเมือง หรือไม้ตายไม้สุดท้ายที่พรรคการเมืองพรรคนั้นใช้คือ การสั่งการให้หัวคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งออกปฏิบัติการพ่นสีสเปรย์เลข ๕ ทุกบ้านที่เจ้าของบ้านหวงแหน โดยเฉพาะบ้านที่เพิ่งสร้างใหม่ๆ ในคืนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในเช้าของวันต่อมา เมื่อเจ้าของบ้าน และเพื่อนบ้านตื่นขึ้นมาเห็นหมายเลข ๕ ถูกสเปรย์ไปทุกบ้านก็ต่างรุมกันสาปแช่งผู้สมัครหมายเลข ๕ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงหารู้ไม่ว่า ผู้สมัครคนนั้นไม่ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อรับรู้ก็รู้ว่าคู่แข่งเป็นฝ่ายกระทำ แต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้แล้ว
นอกจากนั้น ในยามปกติที่ไม่ใช่หน้าหาเสียง นักการเมืองผู้จัดเจนเหล่านี้จะมีลูกเล่น แม้แต่การไปร่วมงานของชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง ถ้าเป็นนักการเมืองกลุ่มเดียวกันกับตน หากนักการเมืองคนนั้นยังไม่ทราบข่าวงานตาย งานแต่ง งานบวช หรืองานใดๆ ของชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง นักการเมืองที่ทราบข่าวและไปร่วมงานก็จะบอกเจ้าภาพว่า นักการเมืองท่านนั้นติดภารกิจมาไม่ได้ แต่ได้ฝากซองมาทำบุญแล้ว ส่วนนักการเมืองที่อยู่คนละกลุ่มกับตน และยังไม่ทราบเรื่องก็จะถูกนักการเมืองที่ไปร่วมงานบิดเบือนว่า จะมาร่วมงาน เพราะเจอกันก่อนหน้าที่ตนจะมางาน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนักการเมืองที่ถูกอ้างถึงยังไม่รู้เรื่อง และในที่สุดก็คงไม่ได้มาร่วมงาน เพราะยังไม่รู้ว่ามีงาน ก็จะถูกเจ้าภาพตำหนิด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ
เหล่านี้ล้วนเป็นบางส่วนของแม่ไม้การเมือง ที่นักการเมืองบ้านเราเคยนำมาใช้ ในปัจจุบันนี้ก็เชื่อว่ายังถูกใช้อยู่ และนับวันจะมีความซับซ้อน พลิกแพลงจนเกินกว่าที่ชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำ และด้อยสติปัญญาในทาง “ฉลาดแกมโกง” จะรู้เท่าทันได้ จึงมักตกเป็นเหยื่อให้นักการเมืองน้ำเน่าเหล่านี้หลอกสมัยแล้วสมัยเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า
ปัจจุบัน การเมืองภาคประชาชนได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากแล้ว ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนของภาคประชาชน เปลี่ยนจากการเมืองแบบตัวแทน ไปสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วม จากการเมืองแบบมีสิทธิ ไปสู่การเมืองแบบมีส่วน จากรัฐธรรมนูญโดยรูปแบบ สู่รัฐธรรมนูญแบบเนื้อหาสาระ ประชาธิปไตยในความหมายของประชาชนคือ สิทธิในการรับบริการจากรัฐที่เท่าเทียม มีคุณภาพ แนวนโยบายแห่งรัฐที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ ที่มีผลต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของตน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น แต่นักการเมืองกลับมีวิสัยทัศน์ โลกทัศน์ และวิธีคิดที่ล้าหลัง ตามปัญหา และความต้องการของประชาชนไม่ทัน นักการเมืองหลายคนจึงถูก “กงล้อแห่งการพัฒนาของประชาชน” ทับตายไปมากต่อมาก.