xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของวันเกษียณอายุราชการ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ศ.พันตรีอาคม  พัฒิยะ  ผู้อาวุโสที่ผู้เขียนให้ความเคารพนับถือว่า เป็นผู้ใหญ่ที่ไหว้ได้เต็มไม้เต็มมือ เคยถามผู้เขียนว่า “รูญรู้ไหม คนที่เกษียณอายุแล้วมันกลัวอะไร”  ผู้เขียนบอกไม่รู้  อาจารย์รีบเฉลยว่า “มันกลัวคนไม่ไหว้”  คำถามนี้เกิดขึ้นในวันที่อาจารย์เกษียณอายุแล้วไม่นาน และอาจารย์ติดสอยห้อยตาม (ไปไหนไปกัน) ผูเขียนไปที่สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสงขลา (สมัยนั้น) เจอคนรู้จัก และดีใจที่มีคนยกมือไหว้ทักทายแล้ว  ๒  คน
 
อาจารย์อรรถาธิบายว่า ในสังคมอำนาจนิยม เมื่อเรามีอำนาจวาสนา มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตพอที่จะให้คุณให้โทษคนอื่นได้ ก็ย่อมมีคนให้ความเคารพกราบไหว้อย่างนอบน้อม จนแยกไม่ออกว่าเขาไหว้เราที่คุณความดี หรือไหว้ที่ตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถจะให้คุณให้โทษเขาได้  ครั้นเมื่อลงจากตำแหน่ง หรือถึงกาลเกษียณ  หมดอำนาจหน้าที่  ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับการเอาใจใส่เหลียวแลเหมือนตอนอยู่ในตำแหน่ง
 
ดังนั้น  หากใครยังไหว้เราอยู่หลังจากเราเกษียณอายุราชการ หรือพ้นจากตำแหน่งแล้ว แสดงว่าเขาไหว้คุณความดี หรือไหว้ที่ตัวเรามากกว่าที่ตำแหน่ง
 
สิ้นเดือนกันยานของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ข้าราชการส่วนหนึ่งทยอยกันอำลาชีวิตราชการที่ทำหน้าที่กันมาหลายทศวรรษ  เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของทุกคนที่เป็นข้าราชการไม่ต่างจากวันบรรจุใหม่  ต่างกันเพียงว่าวันนี้เป็นวันสิ้นสุดภาระหน้าที่ ขณะที่วันบรรจุใหม่เป็นวันเริ่มต้นชีวิตราชการ  งานเลี้ยงแสดงมุทิตาจิตในกาลเกษียณจึงมีความหมาย  มีความสำคัญอีกแบบหนึ่ง  เป็นงานที่คนอื่นจัดให้ด้วยความผูกพัน และประทับใจในการได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ที่ย่อมมีทั้งผู้ถูกใจ และไม่ถูกใจ  มีทั้งมิตร และศัตรูเป็นธรรมดา 
 
วันเกษียณของบางคนจึงอบอวลไปด้วยไมตรีจิตจากมิตรสหาย  เพื่อนพ้องน้องพี่  ลูกศิษย์ลูกหา  ในขณะที่บางคนไม่มีความสุขกับวันเกษียณ ถึงขนาดไม่มาร่วมงานที่ทางต้นสังกัดจัดให้ เพราะไม่ประทับใจกับผู้จัด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนั้นๆ  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
 
หน่วยงานบางหน่วยงาน  บุคลากรมีความรักใคร่กลมเกลียว  สมัครสมานสามัคคี เพราะวัฒนธรรมธรรมองค์กรเป็นองค์กรที่มีความเป็นธรรม  เที่ยงตรง  มีศักดิ์ศรี  เกียรติภูมิ  ส่งเสริมสนับสนุนกันด้วยความรู้ ความสามารถ  ไม่ใช่ด้วยความสนิทสนมรักใคร่ชอบพอเป็นการส่วนตัว  สร้างความอยุติธรรม  ไม่ตรงไปตรงมา  ทำให้เสื่อมถอยศรัทธาซึ่งกันและกัน  คนมีความรู้ความสามารถเป็นตัวของตัวเองถูกกลั่นแกล้งกีดกัน  ส่วนคนไร้ความสามารถ แต่มีความถนัดในเรื่องประสบสอพลอกลับได้ดิบได้ดี เพราะใกล้ชิดสนิทสนมผู้มีอำนาจ  หน่วยงานแบบนี้ย่อมยากที่จะสร้างความสมานสามัคคีในองค์กรได้  วันเกษียณของบุคลากรในหน่วยงานที่ขัดแย้งแตกแยกย่อมมีบรรยากาศเงียบเหงา  อึมครึม  ปั้นหน้าเข้าหากัน เพื่อรักษามารยาท  ไม่มีความอบอุ่น  ไม่มีความจริงใจต่อกัน  หลายคนจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมงาน
 
บางหน่วยงานมีบุคลากรหลายระดับเกษียณอายุราชการพร้อมกัน  ทำให้ชั้นผู้น้อย  เช่น  ลูกจ้างประจำ  ตัดสินใจไม่เข้าร่วมงาน เพราะรู้สึกอึดอัดใจที่จะต้องไปปรากฏตัวบนเวทีร่วมกับอาจารย์ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีอะไรหลายอย่างแตกต่างกัน  เท่าเทียมกันอย่างเดียวคือ สูงอายุพอกันเท่านั้น  แต่อย่างอื่นแตกต่างกันหมด  รวมทั้งการได้รับการเอาใจใส่ดูแล  และที่สำคัญต้องพูดภาษาราชการที่ตัวเองไม่ถนัด และกลายเป็นตัวตลกของงาน
 
ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมงานแสดงมุทิตาจิตวันเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูมาหลายครั้ง  ครั้งล่าสุดคือ การเกษียณอายุราชการของเพื่อนรุ่นพี่ข้าราชการครูที่โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์  มีอาจารย์อุบล  อาจารย์พงษ์ศักดิ์  อาจารย์ยุพเยาว์  อาจารย์พรพรรณ และพี่เล็ก หรือยามเล็ก  รู้สึกอบอุ่น  ประทับใจแทนเจ้าตัว ถึงกับเปรยกับเพื่อนร่วมโต๊ะว่า “ผมอยากมาเกษียณอายุราชการที่พะตงประธานคีรีวัฒน์”  โรงเรียนที่ผมอยู่นานที่สุดในชีวิตการเป็นครู  แต่มันคงเป็นไปไม่ได้แล้ว
 
บรรยากาศของงานเกษียณอายุราชการของเพื่อนครูที่นั่นมีความอบอุ่น  ทั้งเพื่อนครูในปัจจุบัน และเพื่อนครูที่เกษียณไปก่อนหน้านี้แล้ว และเพื่อนครูที่ย้ายออกจากที่นั่นมานานอย่างผู้เขียน และเพื่อน (ธีระวัฒน์  สุกิจ อภิมน  มนัส  ฯลฯ) ต่างก็กลับมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ด้วยความรักความผูกพัน  ที่สำคัญคือ บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือมาจองโต๊ะจัดเลี้ยง ที่ทางโรงเรียนระดมเงินโดยการหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนครูทุกคน  ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม  ส่วนของขวัญก็มากมายก่ายกองยิ่งกว่างานปีใหม่  บรรยากาศเช่นนี้หาได้ยากมากในแวดวงวิชาชีพอื่นๆ หรือแวดวงวิชาชีพเดียวกัน  จึงอดชื่นชม “ชาวพะตงประธานคีรีวัฒน์” ไว้ในที่นี้ไม่ได้  เสียดายที่ผู้เขียนเดินออกจากที่นั่นมาเมื่อประมาณ  ๒๐  ปีที่แล้วด้วยความจำเป็น
 
สำหรับวันเวลาที่เหลือของผู้เกษียณอายุราชการแต่ละคน คงเป็นวันเวลาที่จะได้พักผ่อนจากสัมภาระที่หอบหิ้วมานาน  หรือไม่ก็สำหรับบางคนก็คงเป็นวันเวลาที่จะได้ท่องเที่ยว หรือทำอะไรที่อยากจะทำ โดยไม่มีใครมากำหนดบงการ  ไม่มีการลงเวลามาปฏิบัติหน้าที่  ลงเวลากลับ  มีการประเมินให้น่ารำคาญใจอีกต่อไป  แต่หลายคนอาจจะเป็นวันเวลาแห่งความเงียบเหงา  ว้าเหว่  กระวนกระวาย หรือเบื่อหน่ายที่ต้องหายใจทิ้งไปวันๆ
 
แต่สำหรับผู้เขียนวาดหวังว่า วาระกาลเกษียณอายุราชการน่าจะเป็นวันที่มีค่า  มีความหมายที่สุดสำหรับคนคนหนึ่งที่ทำงานมาค่อนชีวิตจนถึงบั้นปลาย  ทุกคนมีเกิด และตายได้คนละครั้งเดียวเท่ากัน แต่ที่มันต่างกันคือ ระยะเวลาระหว่างวันเกิดกับวันตายว่าแต่ละคนเลือกอยู่ เลือกเป็น และเลือกทำเช่นไร  เมื่อมาถึงวันนี้ใครทำอะไรไว้ ในวันวานจะดีหรือร้ายก็ไม่อาจจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว  ทำได้อย่างเดียวก็คือ รับผลของการกระทำอันนั้นตราบจนชีวิตจะหาไม่
 
และคอยหวาดผวาเหมือนที่อาจารย์อาคม  พัฒิยะ ตั้งคำถามไว้เหมือนเป็นการเตือนสติผู้เขียนให้เร่งทำความดี เพื่อจะได้ปลอดภัยใน  ๒  วาระสำคัญคือ วันเกษียณอายุราชการ และงานศพ ที่ผู้อยู่ข้างหลังจะได้ไม่ลำบากใจในการค้นหาความดีของผู้เกษียณ หรือผู้ตายมากล่าวสดุดี  เพราะหากไม่ทำดีไว้บ้าง  ผู้อยู่ข้างหลังก็จนปัญญาที่จะควานหา และหยิบยกคุณความดีของเรามากล่าวอ้าง  จนพระต้องผิดศีลเพราะต้องโกหกเพื่อให้ผู้ตายดูดีมีสาระ-อนิจจา.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น