xs
xsm
sm
md
lg

สังคมไทยสมัยปัจจุบัน / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย 
 
สังคมไทยในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ สมัยเมื่อประมาณกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นสังคมจารีตนิยม ประเพณีนิยม ที่ยึดมั่นในคำสอนทางศาสนาผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม โดยสถาบันสำคัญทางสังคมคือ   สถาบันครอบครัว  สถาบันการศึกษา  สถาบันศาสนา  สถาบันการเมืองการปกครอง และสื่อพื้นบ้าน หรือศิลปะวรรณกรรม  ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างสมาชิก หรือคนดีให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และสังคม  แต่หลังจากสถาบันทางสังคมเหล่านี้ประสบความล้มเหลวล่มสลาย  โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว  สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนาที่อ่อนแอไปตามสถานภาพ และบทบาทที่เปลี่ยนไป ด้วยกระแสเชี่ยวกรากของวัฒนธรรมพลัดถิ่นที่หลั่งไหลเข้ามา พร้อมๆ กับกระบวนทัศน์การพัฒนาทำให้เป็นตะวันตก หรือเป็นสมัยใหม่  สังคมไทยก็ประสบกับวิกฤตทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นลำดับ  จนระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง
 
สถาบันครอบครัวที่เคยทำหน้าที่หลักในการให้การอบรมบ่มเพาะ และถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ  โดยเฉพาะประเพณีทางศาสนา  ได้แก่  ประเพณีสงกรานต์  ประเพณีทอดกฐิน  ประเพณีเข้าพรรษา-ออกพรรษา  ประเพณีชักพระ  ประเพณีสารทเดือนสิบ  ประเพณีตรุษจีน  ประเพณีการถือศีลอด  ฯลฯ  ปัจจุบัน ครอบครัวไม่สามารถจะทำหน้าที่ตามสถานภาพ และบทบาทที่เคยมีอย่างเคร่งครัด  เนื่องจากพ่อแม่ไม่อยู่ในฐานะที่จะอบรมสั่งสอนลูกหลานได้อย่างแต่ก่อน ด้วยข้อจำกัดมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิต หรือวิถีคิดที่เปลี่ยนไป  องค์ความรู้ที่สังคมสมัยใหม่ต้องการ  และที่สำคัญคือ การศึกษาในระบบที่ไม่สอดคล้องกับวิถีที่เป็นจริงสังคม
 
สถาบันการศึกษาที่เคยมีสถานภาพ และบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดมวลประสบการณ์ และปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามแก่เยาวชน  ด้วยการขัดเกลาอุปนิสัยใจคอของเด็ก และเยาวชนด้วยวิชาหน้าที่ศีลธรรม  เปลี่ยนมาถ่ายทอดมวลประสบการณ์ที่ห่างไกลจากชีวิตจริงของผู้เรียน  เป้าหมายสำคัญเพื่อให้เด็กเป็นผู้ชนะในการแข่งขันเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น  สอนข้อสอบ มากกว่าจะสอนความรู้ หรือบอกวิธีการเรียนรู้ และใช้กระบวนการเรียนรู้ในการขัดเกลาจิตใจให้เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว  เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนท้องถิ่น  เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ
 
สถาบันศาสนา สูญเสียบทบาท และสถานภาพของการเป็นสถาบันกล่อมเกลา อบรมบ่มนิสัยและถ่ายทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ผ่านสำนักช่างสิบหมู่ที่มักแสดงฝีไม้ลายมือไว้ในวัด  คนที่บวชเรียนแล้วเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์ และเข้าสู่วัยของการครองรักครองเรือนหรือมีคู่สมรสได้  ปัจจุบัน สถาบันศาสนาไม่สามารถจะกลับไปทำหน้าที่เหล่านั้นได้อย่างเต็มภาคภูมิอีกแล้ว  เพราะข้อจำกัดของสถาบันเอง  และข้อจำกัดของศาสนิกอันเป็นผลิตผลของสังคมพันทาง หรือสังคมไร้รากเหง้า  โดยเฉพาะรากเหง้าทางศาสนาที่มีเป้าหมายสร้างคนดีให้แก่สังคม
 
สถาบันการเมืองการปกครองก็เต็มไปด้วยความไม่สมประกอบต่างๆ นานา  สร้างความเบื่อหน่ายเกลียดชังให้แก่ประชาชนเป็นส่วนใหญ่  การเมืองที่สกปรก  ระบบการปกครอง และระบบราชการที่อยุติธรรม ทำให้ประชาชนไม่เลื่อมใสศรัทธาในการเมืองการปกครอง  กลายเป็นปัญหาในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย  โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน  การซื้อสิทธิขายเสียง  การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ  และการเข้าถึงการบริการของรัฐที่ไม่เท่าเทียม
 
สถาบันการสื่อสาร  ศิลปะ  บันเทิงคดี  ล้วนถูกครอบงำด้วยอำนาจเงิน  อิทธิพล ผลประโยชน์  ไม่สามารถให้ความรู้  ความคิด  ความบันเทิง  และเป็นปากเสียงแทน  หรือปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภค  และเป็นเจ้าของทรัพยากรการสื่อสารที่แท้จริง  สื่อพื้นบ้าน หรือการแสดงพื้นเมืองที่เคยมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในระดับชุมชนท้องถิ่น  ปัจจุบันสูญเสียบทบาท และสถานภาพนั้นไปจนเกือบจะสิ้นเชิง  ไม่มีการส่งเสริม  สนับสนุน หรือสืบทอดให้คงอยู่อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน  นับวันจะรอการล้มหายตายจาก หรืออยู่ไปตามยถากรรม
 
ตรงข้ามกับวัฒนธรรมพลัดถิ่น  โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาติตะวันตกที่เผยแพร่เข้ามาผ่านทางระบบการศึกษา  ระบบราชการและเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ  โดยเฉพาะการติดต่อค้าขายกับต่างชาติเจ้าอาณานิคมทางวัฒนธรรม  สร้างปัญหาเชิงสังคมและวัฒนธรรมแก่สังคมไทยได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ  ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมการแต่งกาย  วัฒนธรรมการกิน  วัฒนธรรมด้านศิลปะบันเทิง  วัฒนธรรมด้านการสื่อสาร  และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม
 
ดังนั้น  เพื่อกระตุกกงล้อทางสังคมไทยไม่ให้ไหลเข้ารกเข้าพง หรือลงเหวเร็วเกินไป  เราต้องรื้อฟื้นบทบท และสถานภาพของสถาบันทางสังคมดังกล่าวกลับคืนมาทำหน้าที่ให้จงได้  โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวจะต้องทำหน้าที่มากกว่าการผลิตสมาชิกเพิ่มให้แก่สังคมเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูเตรียมสมาชิกที่ดีให้แก่สังคม  สถาบันการศึกษาจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีรากเหง้าอยู่กับสังคมจารีตประเพณี  แต่ทอดยอด หรือกิ่งก้านสาขาไปสู่สากล เพื่อทันโลกทันเหตุการณ์  สถาบันศาสนาก็ต้องทำหน้าที่ให้ความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณี และพิธีกรรม  รวมทั้งอบรมบ่มเพาะจริยธรรม  คุณธรรม และศีลธรรมแก่ประชาชน  สถาบันอื่นๆ ก็ต้องทำหน้าที่มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้  ถ้าไม่เช่นนั้นคงเป็นไปตามที่พระเดชพระคุณพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ” อย่างแน่นอนครับ.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น