xs
xsm
sm
md
lg

๔๐ ปี ๑๔ ตุลา ๓๗ ปี ๖ ตุลา : วันเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนแปลง(๒) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่านหนึ่งกล่าวว่า “คำถามยอดนิยมคือ ผ่านมาตั้ง ๔๐ ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน ทำไมการเมืองไทยยังเฮงซวยอยู่ อุดมการณ์ของพวก ๑๔ ตุลาหายไปไหนหมด ผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งจำเป็นต้องเกิด ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์แล้วจะเกิดขึ้น ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดขึ้นจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากรตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม

สังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลง ๒๔๗๕ ไม่มีใครได้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน นักการเมืองจำนวนหยิบมือ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลาง เสรีภาพของคนไทยเหมือนส้มหล่น ใช้กันอย่างเพลิดเพลิน สังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ ส่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่มาก วัฒนธรรมการเมืองของสังคมไทยเป็นแบบอุปถัมภ์หรือสังคมขี้ข้าที่คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจ เส้นสาย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงแต่คนหนุ่ม เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ ถ้าผมจะยังมีความหวังในความฝันอยู่ผมยากจะหวังอย่างเดียวคืออยากให้ทุกส่วนช่วยกันมองปัญหาให้ถูกจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องได้”(ธีรยุทธ บุญมี. ๒๕๕๖)

“สาเหตุที่ประชาธิปไตยยังไม่สามารถปักหลักมั่นคงได้ในสังคมไทยเพราะ ๑) อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจปกครองมาก่อน ๒) ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ๓) สภาพกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา กลุ่มชนชั้นนำใหม่ คนชนบทและคนจนในเมืองเป็นผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันประชาธิปไตย แสวงหาพื้นที่ทางการเมือง การเกิดขึ้นของทุนใหม่ โลกาภิวัตน์ที่ต้องการมาแทนที่อำนาจเก่าด้วยการสร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการชุบชีวิตระบบรัฐสภาและเป็นหุ้นส่วนที่เหลือเชื่อในทางการเมือง

ข้อเสนอต่อขบวนเคลื่อนไหวหรือพลังประชาธิปไตย ๑) พลังประชาธิปไตยต้องรักษากลไกและระบบอื่นๆ นอกเหนือจากรัฐบาลให้ทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบด้วยไม่ใช่มุ่งปกป้องแต่พรรคใดหรือรัฐบาลใด ๒) เพื่อเสถียรภาพของระบอบจำเป็นต้องขยายแนวร่วมไปยังชนชั้นหรือบุคคลกลุ่มต่างๆให้มากที่สุดเพราะในยุคโลกาภิวัตน์ประชาชนมิได้เป็นก้อนเดียว พร้อมทั้งต้องยึดถือหลัก “เสรีนิยมทางการเมือง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีคู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ การเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิมก็เป็นพลังประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่จำเป็นต้องให้พื้นที่ในการเรียกร้องวิจารณ์รัฐบาลซึ่งเป็นกลไกทำให้ระบบดีขึ้นไม่ได้ขัดแย้งกับพลังมวลชนที่ชื่นชอบพรรค

๓) ขบวนประชาธิปไตยควรเรียนรู้การใช้อำนาจอ่อนในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ซึมลึกในสังคมไทย นำเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ผู้คนเท่าเทียมกันนั้น เป็นสิ่งน่าหวงแหน โดยจังหวะก้าวที่ระมัดระวังไม่ทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกสูญเสียที่ฝืนในความคิด ความเชื่อ เพราะความขัดแย้งประเด็นทางวัฒนธรรม บางอย่างละเอียดอ่อนและมีแนวโน้มนำสู่ความรุนแรงได้ง่าย เจตนารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ เจตนารมณ์เดือนตุลาคมคือสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคน ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคของมนุษย์จะปรากฏเป็นจริงด้วยวิธีไหน หากไม่ใช่สิทธิเสียงที่เท่ากันในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง คนเราจะบรรลุความเป็นเสรีชนได้อย่างไร หากไม่สามารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจและบอกโลกได้ว่าตัวเราเองต้องการอะไร”(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. ๒๕๕๖ )

๔๐ ปี ๑๔ ตุลา เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่สถานภาพแตกต่างกันไปตามสภาพการรับรู้และจุดยืนทางประวัติศาสตร์ของแต่ละคน สำหรับบางคนมันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของจิตสำนึกที่รักความเป็นธรรม สำหรับบางคนเป็นเรื่องน่ารำคาญที่ใครบางคนจัดงานรำลึกให้ความสำคัญ สำหรับบางคนมันเป็นที่มาของชื่อเสียงลาภยศสรรเสริญอันนำมาซึ่งตำแหน่งหน้าที่การงานและการอาศัยเหตุการณ์นี้เป็นช่องทางในการตักตวงผลประโยชน์แม้แต่การมีโอกาสได้เคลมบรรดาสาวสมัยที่คลั่งไคล้หลงใหลคนดัง คนมีชื่อเสียง แต่สำหรับข้าพเจ้าในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ครั้งนี้และอีกหลายครั้งที่มีที่มาในลักษณะเดียวกันมันเป็นประวัติศาสตร์ไทยที่ข้าพเจ้ารู้สึกใกล้ชิดและรับรู้มันมากกว่าประวัติศาสตร์ช่วงอื่นใด เพราะมันมีอิทธิพลถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ มันมีคุณูปการต่อข้าพเจ้ามากกว่าหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่ข้าพเจ้าเคยศึกษามาโดยเฉพาะในด้านว่ด้วยความเป็นมนุษย์

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วหรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านระดับอาเซียน เหตุการณ์ทำนองนี้คงมีความสำคัญอย่างน้อยต้องเป็นวันหยุดหรือวันสำคัญที่คนในชาติจะต้องมีกิจกรรมร่วมกัน แต่สำหรับประเทศไทย ประเทศที่ไม่มีความแน่นอนแม้แต่วันชาติว่าเป็นวันไหนและสัมพันธ์กับความเป็นชาติอย่างไร เหตุการณ์นี้จึงมิอาจมีสถานภาพดังว่าได้ จึงไม่แปลกที่เยาวชนและคนไทยที่เกิดหลังเหตุการณ์นี้หรือมีอายุยังน้อยในวันที่เกิดเหตุการณ์นี้เมื่อปีที่แล้วจึงไม่อาจจะซึมซับรับรู้ถึงความหมาย ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของขบวนการนักศึกษาประชาชนอันเป็นต้นธารของการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

ขอสดุดีวีรชนผู้มีจิตใจเสียสละ ไม่ยอมอดทนต่อความอยุติธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น โดยเฉพาะวีรชนนิรนามที่ไม่ค่อยมีใครได้กล่าวขานถึงอย่างโดดเด่นเป็นการจำเพาะมากนัก ขอขอบพระคุณคนเดือนตุลาคมทั้งหลายแม้ว่าหลังจากนั้นจนถึงวันนี้ท่านจะอยู่กับฝ่ายไหนก็ตาม แต่การกระทำของท่านครั้งนั้นก็มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้แล้ว ขอยกย่องสรรเสริญคนรุ่นหลังที่ยังสำนึกรำลึกถึงคนเดือนตุลาด้วยสำนึกในบุญคุณและขอแสดงความเศร้าสลดใจต่อผู้เนรคุณและไร้เดียงสายิ่งต่อบรรพชนผู้มีพระคุณต่อชาติบ้านเมืองทั้หลายทั้งมวล.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น