คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ในที่สุดการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมโดยปริยายตามความคาดหมาย ทำไมมวลชนส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยกับแกนนำทุกกลุ่มที่ยกระดับมาขับไล่รัฐบาล
หากทบทวนถึงความขัดแย้งในสังคมไทยนับตั้งแต่สมัยการปฏิวัติเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นต้นมา จนถึง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และ ๑๗-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ไม่เคยมีครั้งไหนที่ประชาชนคนไทยถูกแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ประจันหน้าเข้าหากัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามาทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นการปกป้องประชาธิปไตย อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า มาขับไล่รัฐบาลที่โกงกินคอร์รัปชัน และทำทุกอย่างเพื่อโคตรตระกูลตัวเองเป็นสำคัญ
อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้สร้างความบาดหมาง ความขัดแย้งให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติในทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่า เกิดการแบ่งพวกแบ่งฝ่ายเข้าทำลายล้างกัน โดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง นำไปสู่ความเกลียดชังของคนในชาติจนยากที่จะเยียวยาให้เกิดการปรองดอง ตามที่ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนากรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศท่องบ่น (แต่มักทำตรงกันข้าม)
เมื่อประชาชนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งในส่วนของกระบวนการยกร่างที่ไม่ชอบมาพากล และเนื้อหาสาระที่เอื้อต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณอย่างชัดเจน จนเลยเถิดไปจากการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับอื่นๆ ที่เคยทำกันมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓
แทนที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ และสภาผู้แทนราษฎรที่กระทำการตามความต้องการของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ จะออกมาแสดงสปิริตรับผิดชอบ และขอโทษต่อพี่น้องประชาชน กลับกล่าวหาว่าประชาชนถูกบิดเบือนถูกใช้เป็นเหยื่อทางการเมือง
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังปล่อยให้พวกลิ่วล้อสาวกเลวออกมากล่าวหา ข่มขู่ คุกคาม ใส่ร้ายป้ายสีพี่น้องประชาชนต่างๆ นานา จนทำให้มีประชาชนออกมาชุมนุมหนาแน่นขึ้น ทั้งในส่วนกลาง และต่างจังหวัด
บัดนี้ รัฐบาลขาดความชอบธรรมในการมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ได้ใช้เสียงข้างมากทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ แต่ใช้ไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พี่ชาย และวงศ์ตระกูลของตนเองเป็นสำคัญ
แต่ปัญหาในสังคมการเมืองไทยขณะนี้ คือ บ้านเมืองกำลังถึงทางตัน เหมือนก่อนจะเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั่นคือ การลุแก่อำนาจของเผด็จการเสียงข้างมากที่ทะนงตนว่า หากยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ พรรคพวกของตนก็คงได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลอีก
การยุบสภา หรือลาออกตามกระบวนการของระบบรัฐสภา คงใช้แก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองของประเทศไทยไม่ได้ เพราะกระบวนการเลือกตั้งของสังคมการเมืองไทยไม่อาจจะจำแนกคนดีออกจากคนไม่ดีได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ การกดดันให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออก จึงอาจจะไม่ใช่ทางออกทางดีสำหรับสังคมการเมืองไทยในขณะนี้ ขณะที่การปฏิวัติรัฐประหารก็เป็นเรื่องที่ล้าหลังเกินกว่าจะนำมาใช้ในสังคมไทยได้อีกต่อไป เพราะการปฏิวัติรัฐประหารในสังคมไทยไม่ค่อยมีใครทำเพื่อปฏิรูปการเมืองไทย แต่ทำเพราะต้องการเปลี่ยนมืออำนาจโดยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญเท่านั้น
หลายคนถามหาทางออกที่เหมาะสมของสังคมไทยในขณะนี้ ที่ไม่ใช่การยุบสภา หรือลาออกเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่มีทางออกอื่นให้เลือก ผู้เขียนจึงทดลองนำเสนอทางออกที่อาจจะดูตื้นเขิน คือ การใช้ประชามติแทนการเลือกตั้ง เพื่อมีรัฐบาลแห่งชาติตามความต้องการของมวลมหาประชาชน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มวลมหาประชาชนเป็นผู้ลงประชามติ มีภารกิจหลัก คือ การมาร่วมกันปฏิรูปการเมืองไทยให้ออกจากวงจรอุบาทว์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้
รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ไหนๆ ในโลก ไม่มีรัฐบาลไหนทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ขณะที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เรียกร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านรัฐบาล แต่นายกยิ่งลักษณ์ กลับยอมให้กลุ่ม นปช.หลอกคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมในลักษณะข่มขู่ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางการเมืองโดยสุจริต ปราศจากอาวุธ เพื่อร่วมคัดค้านกระบวนการร่างกฎหมายที่พวกเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรม
ปราชญ์จีนเคยกล่าวว่า “หากผู้มีอำนาจใกล้ชิดปราชญ์ บ้านเมืองย่อมสงบสุข แต่หากผู้มีอำนาจใกล้ชิดคนถ่อย บ้านเมืองย่อมไม่สงบสุขอบ่างแน่นอน” ปัจจุบันนี้เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า “ผู้มีอำนาจใกล้ชิดคนถ่อย มากกว่าใกล้ชิดปราชญ์” แทนที่จะเรียกว่า “รัฐบาล” จึงอาจจะถูกเรียกว่า “รัฐพาล”
(อ่านต่ออังคารหน้า)