คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอทัย
แล้วในที่สุดรัฐบาลรักษาการก็เดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งของพี่น้องประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน เพราะเกรงว่าบ้านเมืองจะเกิดความว่นวายจนไม่สามารถจะจัดการเลือกตั้งได้ แต่รัฐบาลก็ออกมาข่มขู่ให้ กกต.ดำเนินการเลือกตั้งตามหน้าที่ ไม่ต้องมาแสดงความคิดเห็นนอกเหนือหน้าที่ของ กกต.
การรับสมัครผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อวันแรก ถูกประชาชนคัดค้านการทำหน้าที่ จนต้องไปตรวจสอบหลักฐานผู้สมัครกันที่สถานีตำรวจนครบาลแทนสถานที่รับสมัคร คือ สนามกีฬาเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง และในที่สุดนำไปสู่ความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และเสียชีวิต ๒ ราย โดยไม่มีใครทราบชัดเจนว่าใครเป็นผู้ใช้กระสนจริงยิงทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ภาพจากเหตุการณ์แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความจงใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งใจทำร้ายประชาชน ไม่ใช่การปรามเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือ กกต. ไม่ว่าจะเป็นการยิงแก๊สน้ำตาที่ไม่ทำตามขั้นตอน และวิธีการตามหลักสากล การใช้กระสุนยางยิงในระดับแนววิถีกระสุนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และการใช้กระสุนจริง
นอกจากนั้น ภาพข่าวที่เผยแพร่ออกมาหลังจากการปะทะสิ้นสดยุติลง ปรากฏว่าตำรวจในชุดเครื่องแบบปราบจลาจลออกมาทุบทำลายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุม ในลักษณะเหมือนเป็นการกระทำของอันธพาล ไม่ใช่คนที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อควบคมฝูงชนแบบหน่วยปราบจลาจล
ที่สำคัญที่สุดคือ การบิดเบือนภาพข่าว และข้อมูลของฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่ ผอ.ศอ.รส. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารณสุข และโฆษก ศอ.รส. ที่ออกมาบิดเบือนข้อมูลจากขาวเป็นดำ จนมีผู้ออกมาแฉความจริงอีกด้าน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่เข้าข้างรัฐบาล
ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ การสร้างความขัดแย้งแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยกับมวลมหาประชาชน จนนำไปสู่การชุมนุมเพื่อแสดงพลังปกป้องศักดิ์ศรีของตำรวจที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า และการประกาศของผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ว่า “ตำรวจจะไม่ตายเปล่า”
หลังเหตุการณ์ปะทะที่ดินแดงมีการสร้างความรุนแรงโดยการลอบยิงการ์ดของ คปท.เสียชีวิตไปอีก ๑ คน และบาดเจ็บอีกหลายคน วันต่อมา มีการโยนประทัดยักษ์ใส่ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ และคืนต่อมาก็มีการยิงใส่ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ มีการไล่ล่าเพื่อหวังอุ้มฆ่าทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ มีการบุกจับกุมนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำคนสำคัญ
ขณะเดียวกัน สถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตทั่วประเทศก็ถูกประชาชนที่ต้องการให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แสดงเจตจำนงคัดค้านการสมัครรับเลือกตั้ง จนถึงวันนี้มีหลายเขตหลายจังหวัดในภาคใต้ไม่สามารถจะรับสมัครได้ จนรัฐบาลต้องเสนอให้ กกต.ไปรับสมัครในค่ายทหาร ซึ่ง กกต.ส่วนกลางบางคนไม่เห็นด้วย และรัฐบาลมีท่าทีข่มขู่ ตำหนิติเตียนการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ว่าเหมือนจะจงใจให้การรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นไปตามที่ กปปส.ต้องการ
สรุปว่า รัฐบาลนี้ และผู้สนับสนุนบูชาการเลือกตั้ง และไม่เห็นทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการดันทุรังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง ตามความเชื่อ ความเห็นของตน แล้วก่นด่าประณามอีกฝ่ายที่บอกให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพกติกา พยายามนำความเห็นของนานาชาติที่บอกว่าสนับสนุนให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง มาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมต่างๆ นานา
บัดนี้คนในบ้านเมืองของเราเกิดความแตกแยกขัดแย้งจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากเราคุยกันไม่รู้เรื่อง และเพราะเราคุยกันคนละเรื่อง กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งบอกว่าประชาธิปไตยของเรามีปัญหา เสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของเราไม่มีความชอบธรรม จึงต้องปฏิรูปก่อนไปเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับประณามว่าฝ่ายนั้นไม่ต้องการประชาธิปไตย ต้องการเผด็จการ เป็นพวกอนุรักษนิยม ปฏิเสธการเลือกตั้งที่ประเทศในสากลเขายอมรับ
กลไกของรัฐ ผู้นำรัฐขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ เพราะไม่มีความเป็นมิตรกับประชาชน ประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่มีศรัทธาต่อผู้นำ โดยเฉพาะการออกมาบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีประชาชนของตนวันแล้ววันเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นตัวตลกในสายตาประชาชน
การเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่งของการคัดสรรบุคคลเข้าสู่อำนาจ แทนการแต่งตั้งและการสรรหา ประสิทธิภาพของการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับกระบวนการในการจัดการเลือกตั้งว่า ต้องเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำจากทุกด้าน บุคคลที่เข้าสู่กระวนการเลือกตั้งจะต้องมีความน่าเชื่อถือ มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม พรรคการเมืองที่เป็นต้นสังกัดของผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีแนวนโยบาย และทำหน้าที่ตามบทบาทของพรรคการเมือง ตามที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะพึงมีพึงเป็น
แต่การเลือกตั้งที่รัฐบาลรักษาการกำลังบีบบังคับให้ กกต.ดำเนินการ ข่มขืนใจให้ประชาชนไปทำหน้าที่ และผู้สมัครรับเลือกตั้งกับผู้จะไปทำหน้าที่เลือกตั้งกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน มันจะเป็นการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองหลังการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลรักษาการอ้างได้อย่างไร
หรือรัฐบาลนี้จะต้องทำทุกอย่างตามที่พวกตน และเจ้านายของตนผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงต้องการ แม้ว่าสิ่งนั้นจะขัด หรือตรงกันข้ามกับความต้องการของประชาชนก็ตาม เพราะคิดว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ไม่ใช่ประชาชนของรัฐบาล เพื่อยืนยันในคำประกาศของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณที่ว่า “จะดูแลคนที่เลือกเราก่อน” อย่างนั้นหรือ - เวรกรรม.