คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
เย็นวันเสาร์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๗ ข้าพเจ้าออกเดินทางจาหาดใหญ่โดยสายการบินนกแอร์ โดยการอำนวยการของ วันชัย พุทธทอง จุดหมายปลายทางคือ สถานที่ชุมนุม คปท.ข้างทำเนียบรัฐบาล การเดินทางครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากอธิการบดี และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่อนุญาตให้บุคลากรและนิสิตในสังกัดสามารถเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ถือเป็นวันลา หรือเป็นการขาดเรียน เพียงแต่บันทึกถึงผู้บังคับบัญชา หรืออาจารย์
ข้าพเจ้าเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมืองล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม ๑ ชั่วโมง ก่อนขึ้นเครื่องบินที่หาดใหญ่ เจอคนรู้จัก และมีเป้ามหายการเดินทางอยู่ที่การชุมนุมของกองทัพธรรม ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันกับ คปท. เธออาสาจะพาข้าพเจ้าไปยังที่ชุมนุมโดยแท็กซี่ แต่เธอเดินทางโดบสายการบินนกแอร์ และออกจากหาดใหญ่ก่อนข้าพเจ้านิดหนึ่ง ครั้นถึงดอนเมืองข้าพเจ้านั่งรอเธอที่ประตูทางออกพักใหญ่ๆ เมื่อไม่มีวี่แววก็ขึ้นบันไดเลื่อนชั้นสาม ของท่าอากาศยานไปรอเรียกแท็กซี่ประมาณ ๑ ชั่วโมง ไม่มีคันไหนยอมรับไปส่งนางเลิ้งเลย
โชคดีที่มีคนมีน้ำใจถามว่าจะไปไหน เมื่อบอกจุดหมายปลายทาง ท่านก็บอกว่าแถวนี้แท็กซี่มันไม่ไปหรอก มันต้องการให้จ้างเหมา ท่านบอกว่าเดี๋ยวไปกับท่าน ท่านจะไปส่งแถวสุทธิสาร แถวนั้นแท็กซี่เยอะ เมื่อถึงแถวสุทธิสารท่านก็จอดให้ลง และเรียกแท็กซี่ให้ด้วยความมีน้ำใจ ข้าพเจ้าสอบถามชื่อเสียงเรียงนามของท่าน กล่าวขอบคุณทั้งสองสามีภรรยา พร้อมส่งนามบัตรที่เตรียมมากล่าวว่า “ขอบคุณครับ หากผ่านทางไปสงขลา หรือหาดใหญ่ อย่าลืมให้ผมได้ตอบแทนน้ำใจในครั้งนี้นะครับ”
แท็กซี่พาข้าพเจ้าขึ้นทางด่วนมาส่งตรงแยกใกล้ๆ ที่ชุมนุมบนถนนพิษณุโลก บอกว่าเขาไม่ให้เข้าในพื้นที่ชุมนุม ข้าพเจ้าเหลือบดูมิเตอร์ค่าโดยสารอยู่ที่แปดสิบบาทกว่าๆ จึงยื่นแบงก์ร้อยให้แท็กซี่ กล่าวขอบคุณ และบอกว่า “ไม่ต้องทอน”
ข้าพเจ้าตวัดสะพายเป้ และกระเป๋าสัมภาระข้ามถนนไปยังทางเข้าสถานที่ชุมนุม ขณะเวลาล่วงเลยมาเกือบสี่ทุ่มแล้ว เพิ่งมาทราบกับบรรจง นะแส ที่มาอยู่ในที่ชุมนุมก่อนแล้วหลายวันว่า ที่นี่หลังสามทุ่มแล้วเป็นช่วงเวลาของการซุ่มยิงของหมาลอบกัด
ข้าพเจ้าผ่านการตรวจค้นของการ์ด คปท.เรียบร้อยด้วยวาจาอันสุภาพ ท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นกันเอง เดินเข้าสู่บริเวณด้านหลังเวทีอันเป็นกองบัญชาการของแกนนำ คปท.ประกอบด้วย ทนายนกเขา หรือนิติธรณ์ ล้ำเหลือ อุทัย ยอดมณี อมร อมรรัตนานนท์ บรรจง นะแส สุรยัน (หมี) ทองหนูเอียด ฯลฯ
บรรจง นะแส กุลีกุจอต้อนรับด้วยอาหารมื้อค่ำอย่างง่ายๆ เป็นกันเองด้วยความอบอุ่น ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนตัวเองมาอยู่ในสนามรบ มากกว่าในที่ชุมนุมบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เพราะรอบๆ ตัวข้าพเจ้ามีบังเกอร์กระสอบทราย ล้อยางรถยนต์ และผู้คนแต่งกายแบบนักรบในสนามรบ แกนนำ และการ์ดบางคนสวมเสื้อเกราะตลอดเวลา ตอนขึ้นเวทีเพื่อพบปะกับพี่น้องประชาชนก็มีคนขึ้นขนาบข้างตลอดเวลา
ส่วนพี่น้องประชาชนรอบๆ เวทีส่วนใหญ่ไปจากภาคใต้ ต่างพูดคุยทักทายเป็นกันเอง แววตาของแต่ละคนมีความมุ่งมั่น ไม่มีใครหวั่นเกรงภัยรายใดๆ เมื่อแกนนำถามว่า “สู้ไม่สู้” จะมีเสียงตอบรับว่า “สู้” อย่างพร้อมเพรียง ตามด้วยเสียงนกหวีด เมื่อจ้องมองแววตาของแต่ละคนข้าพเจ้ารู้สึกด้วยสัมผัสที่หกว่า พวกเขาเอาจริงตามที่พูดครับ
หลังจากทานมื้อค่ำเสร็จ ข้าพเจ้าก็ออกเดินสำรวจบริเวณรอบๆ ที่ชุมนุม พบคนรู้จักมักคุ้นบางคน เช่น หนังวรรณ ศิริวัฒโณ น้องชายของกร ศิริวัฒโณ เพื่อนนักเขียนกลุ่มนาครที่เคยอยู่ด้วยกันที่ร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช สอบถามได้ความว่า เขามาพร้อมคณะโนราผสมโรงระหว่างควนเนียงกับนครศรีธรรมราช มาแสดงโนราคาบครก และคาบเรือหารายได้ช่วยเหลือครัวราชดำเนิน และครัว คปท.
ข้าพเจ้ามาที่นี่พร้อมนายหนังรุ่งวิเชียร ตะลุงเสียงทอง หรือพี่วิเชียร เกื้อมา จากวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง พี่ชายของหนังวิชัย ตะลุงเมธี เพื่อนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบัน ข้าพเจ้าเป็นผู้ประสานงานหนังวิเชียรให้มาแสดงในสถานที่ชุมนุมเป็นเวลาสองคืน
เวลาประมาณหลังเที่ยงคืน ข้าพเจ้าได้รับคิวขึ้นปราศรัยพบปะพี่น้องประชาชนเป็นคนสุดท้ายของคืนวันที่ ๑๑ มกราคม หลังจากนั้น ก็เป็นรายการแสดงทอล์กโชว์หนังตะลุง โดยหนังตะลุงวิเชียร ตะลุงเสียงทอง ได้รับความชื่นชอบจากพี่น้องผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนใต้ และมีความใกล้ชิดกับศิลปะการแสดงสาขาหนังตะลุง ประกอบกับนายหนังได้ดัดแปลงเนื้อหาการแสดงให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างลงตัว ทั้งในเรื่องบทกลอน บทสนทนา และการผูกเรื่องราว แม้ว่าจะใช้เวลาไม่มากเหมือนการแสดงหนังตะลุงเต็มรูปแบบ แต่ก็จุใจผู้ชมที่ตื่นขึ้นมารับอรรถรสแบบพื้นบ้านกันทั่วหน้า
คืนนั้นข้าพเจ้าเข้านอนในที่พักหลังเวทีเมื่อเวลาประมาณตีสามกว่าๆ หลับๆ ตื่นๆ ลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำรถสุขาหน้าทำเนียบรัฐบาล จนเวลาตีห้าก็ตื่นเต็มตัวมากินข้าวต้มไก่ที่มีคนใจดีนำมาบริการแต่เช้ามืด แม้ว่าจะเหลือเพียงก้นหม้อ แต่ก็อร่อยและประทับใจ ตามด้วยกาแฟดำถ้วยที่สามของวันนี้
แล้วบรรจง นะแส ก็ชวนไปเดินดูบรรยากาศของสถานที่ชุมนุม พบว่ามีร้านน้ำชากาแฟมาให้บริการผู้ร่วมชุมนุมทุกครั้งที่มีการชุมนุม รอบๆ บริเวณที่ชุมนุมมีพี่น้องจากภาคใต้ จากหลายพื้นที่มาร่วมชุมนุมเหมือนมาทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองด้วยความเต็มใจ
จากการได้พบเห็นบรรยากาศของการชุมนุม ทำให้ข้าพเจ้าอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “นี่หรือพวกติดยาเสพติด พวกอันธพาล พวกว่างงาน ฯลฯ” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ออกมากล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีประชาชนของตนครั้งแล้วครั้งเล่า
(อ่านต่อตอนที่ 2)