xs
xsm
sm
md
lg

นิคมหอบหลักฐานแจงสนช. ขอเพิ่มพยานยื้อคดีถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง การพิจารณาสำนวนถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในวันนี้ (27พ.ย.) ว่า จะมีการแยกพิจารณาเป็นสองสำนวน เริ่มจากกรณีที่ นายนิคม ยื่นให้มีการสอบพยานเพิ่มเติม โดยจะให้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงเหตุผลที่ขอระบุพยานเพิ่ม ซึ่งเท่าที่ทราบ นายนิคมจะเดินทางมาด้วยตนเอง แต่ถ้าจะให้คนอื่นแถลงแทนต้องมีหนังสือมอบอำนาจที่ชัดเจน จากนั้นให้ ป.ป.ช.แถลงว่าจะคัดค้านหรือไม่ ก่อนที่สมาชิกจะตัดสินใจลงมติเป็นรายประเด็น ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.และข้อบังคับของ สนช. ที่กำหนดว่าต้องเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ ป.ป.ช.ไม่ทราบว่ามีอยู่ หรือทราบว่ามีแต่ป.ป.ช.ไม่อนุญาต หากเข้าตามหลักเกณฑ์ ก็ต้องอนุญาตให้มีการเพิ่มเติมพยานหลักฐานเข้ามา
นายสุรชัย ให้เหตุผลที่กำหนดการแถลงเปิดสำนวนคดีในเดือนมกราคมว่า เป็นเพราะ สนช.ต้องการผลักดันกฎหมายสำคัญให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม เช่น กฎหมายภาษีการให้ ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ ดังนั้น เรื่องการถอดถอน จึงเห็นว่าควรจะเริ่มหลังปีใหม่
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันนี้ (27 พ.ย.) ตนจะเดินทางไปชี้แจงต่อที่ประชุมด้วยตัวเอง พร้อมเอกสารเพิ่มเติม คือบันทึกการประชุม เทปบันทึกการประชุมความยาว 120 ชั่วโมง และเทปบันทึกการประชุมฉบับย่อ 4 ชั่วโมงไปชี้แจงด้วย รวมทั้งได้ทำหนังสือคัดค้านการพิจารณาสำนวนของ สนช. 16 คน ที่เป็นอดีตส.ว. ที่ยื่นคำร้องถอดถอนตน เพราะถือเป็นคู่ขัดแย้ง และมีส่วนได้เสีย เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม
ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีความกังวล และมีความพร้อมที่จะชี้แจง เพราะมั่นใจในความบริสุทธ์ของตัวเอง นอกจากนี้จะทำหนังสือเพิ่มเติมถึงประธาน สนช. ขอให้แจกเอกสารให้กับสมาชิก สนช. ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา และรายงานของคณะกรรมาธิการ พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ ถูกยกเลิกไป แต่ยังมีคำฟ้องอยู่ในสำนวนของป.ป.ช. ที่ส่งไปให้สนช.ด้วย
ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. ในฐานะวิปสนช. กล่าวว่า ขณะนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ได้ยื่นพยานเอกสารมายังสนช. แล้ว ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบันทึกการประชุมระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม และจะต่อสู้ในประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญ ปี2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่า นายสมศักดิ์ จะเดินทางเข้าชี้แจงต่อประชุม สนช. ด้วยตนเอง
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. กล่าวถึงกรณีที่ นายนิคม จะทำหนังสือคัดค้าน สนช.16 คน ซึ่งเป็นอดีตส.ว. ที่เข้าชื่อร้องต่อ ป.ป.ช.กล่าวหา ไม่ให้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาถอดถอนว่า ก็เป็นสิทธิของนายนิคมที่จะคัดค้าน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดโอกาสให้ส.ว.สามารถเข้าชื่อเสนอถอดถอนได้ และเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นสิทธิ์ของตนที่จะคัดค้านด้วย โดยจะเสนอในที่ประชุมด้วยเหตุด้วยผล แต่ที่แปลกใจทำไมคัดค้านเฉพาะ 16 สนช. ทำไมไม่คัดค้าน พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สนช. และอดีตส.ว.ด้วย เพราะตัวเองได้ประโยชน์ ใช่หรือไม่
" อยากให้นายนิคมย้อนไปดูการกระทำของของตัวเอง ว่าทำอะไรลงไป ไม่ว่าจะเป็นการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 มาตรา 237 และแก้ไขที่มาของส.ว. ในฐานะที่เป็นประธานวุฒิฯ ถือว่าไม่มีความชอบธรรม แต่ก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป จนทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น เพราะฉะนั้น นายนิคม ต้องมองดูพฤติกรรมของตัวเองว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไร ที่คัดค้านสมควรหรือไม่ พอมาถึงตอนนี้ก็มาคัดค้านว่าสมควรหรือไม่ หากไม่ทำผิด ก็ไม่ต้องกลัวอะไร" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ สนช. 1 ใน 16 อดีต ส.ว. ที่ถูกร้องคัดค้านไม่ให้ร่วมพิจารณากระบวนการถอดถอน นายนิคม และนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือขอแจ้งต่อประธาน สนช. ว่าไม่ประสงค์ร่วมพิจารณาการถอดถอนกรณีดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเป็นผู้เข้าชื่อร้องถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ ในสมัยที่เป็น ส.ว. อีกทั้งตนเคยเป็นกรรมาธิการด้านจริยธรรมของส.ว. ที่มีมติชี้มูลว่า นายนิคม ผิดจริยธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลไม่เข้าร่วมการพิจารณา
ส่วนนายธานี อ่อนละเอียด สนช. 1 ใน 16 อดีตส.ว. ที่เข้าชื่อร้องถอดถอน นายนิคม กล่าวว่า การยื่นคัดค้านมีลักษณะเหมือนการคัดค้านผู้พิพากษาในศาล แต่กรณีของศาล มีบทบัญญัติชัดเจน ขณะที่ข้อบังคับการประชุมสนช. ไม่มีได้มีบทบัญญัติเรื่องนี้ และในอดีตก็ไม่มีใครคัดค้านในลักษณะนี้ ตนจึงคิดว่า เป็นประเด็นที่ต้องให้ที่ประชุมสนช.วินิจฉัย และถ้าไม่มีเรื่องแบบนี้มาก่อน ต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 5 ที่ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้น หรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง เพราะเป็นเรื่องงานของสนช.จึงขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ตนเป็นคนที่วินิจฉัยกฎหมายตรงไปตรงมา ทั้งๆที่มีส่วนได้ส่วนเสียและจะสนับสนุนเรื่องดังกล่าวก็ได้ แต่ก็เห็นว่าการคัดค้านแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของสนช.ที่จะพิจารณาถอดถอนโดยใช้เสียง 3ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น