อดีตประธานวุฒิสภา เตรียมหอบหลักฐานแจง สนช. ขอเพิ่มเติมพยานพรุ่งนี้ พร้อมยื่นค้าน 16 สนช.ที่เป็นอดีต ส.ว.ที่ยื่นคำร้องถอดถอน อ้างเป็นคู่ขัดแย้ง และมีส่วนได้เสีย “สมเจตน์” อัดกลับ ทำไมไม่ค้าน “กลชัย” อดีต ส.ว.ถามตัวเองได้ประโยชน์ใช่หรือไม่ แนะย้อนดูการกระทำต้นตอวิกฤตการเมือง “พิชิต” ขอไปเอง เคยชี้มูลว่านิคมผิดจริยธรรม
วันนี้ (26 พ.ย.) นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 27 พ.ย.ซึ่งวันนัดประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณากำหนดวันแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนตน ซึ่งจะพิจารณาว่าจะให้เพิ่มพยานหลักฐานหรือไม่ โดยตนจะเดินทางมาชี้แจงต่อที่ประชุมด้วยตัวเอง พร้อมเอกสารเพิ่มเติมคือบันทึกการประชุม เทปบันทึกการประชุมความยาว 120 ชั่วโมง และเทปบันทึกการประชุมฉบับย่อ 4 ชั่วโมง มาชี้แจงด้วย รวมทั้งได้ทำหนังสือคัดค้านการพิจารณาสำนวนของ สนช. 16 คน ที่เป็นอดีต ส.ว.ที่ยื่นคำร้องถอดถอนตน เพราะถือเป็นคู่ขัดแย้ง และมีส่วนได้เสีย เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีความกังวล และมีความพร้อมที่จะชี้แจง เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง นอกจากนี้จะทำหนังสือเพิ่มเติมถึงประธาน สนช.ขอให้แจกเอกสารให้กับสมาชิก สนช.ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา และรายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ถูกยกเลิกไป แต่ยังมีคำฟ้องอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.ที่ส่งไปให้ สนช.ด้วย
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.ในฐานะวิป สนช.กล่าวว่า ขณะนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ได้ยื่นพยานเอกสารมายัง สนช.แล้ว ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะอนุญาตหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นบันทึกการประชุมระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม และจะต่อสู้ในประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่านายสมศักดิ์จะเดินทางเข้าชี้แจงต่อประชุม สนช. ด้วยตนเอง
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช.กล่าวถึงกรณีที่นายนิคมจะทำหนังสือคัดค้าน สนช. 16 คนซึ่งเป็นอดีต ส.ว.ที่เข้าชื่อร้องต่อ ป.ป.ช.กล่าวหาไม่ให้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาถอดถอนว่า เป็นสิทธิของนายนิคมที่จะคัดค้าน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เปิดโอกาสให้ ส.ว.สามารถเข้าชื่อเสนอถอดถอนได้ และเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นสิทธิ์ของตนที่จะคัดค้านด้วย โดยจะเสนอในที่ประชุมด้วยเหตุด้วยผล แต่ที่แปลกใจทำไมคัดค้านเฉพาะ 16 สนช. ทำไมไม่คัดค้าน พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สนช. และอดีต ส.ว.ด้วย เพราะตัวเองได้ประโยชน์ใช่หรือไม่
“อยากให้นายนิคมย้อนไปดูการกระทำของของตัวเองว่าทำอะไรลงไป ไม่ว่าจะเป็นการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มาตรา 237 และแก้ไขที่มาของ ส.ว. ในฐานะที่เป็นประธานวุฒิถือว่าไม่มีความชอบธรรม แต่ก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไปจนทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น เพราะฉะนั้นนายนิคมต้องมองดูพฤติกรรมของตัวเองคนอื่นเขาคิดอย่างไรที่คัดค้านสมควรหรือไม่ พอมาถึงตอนนี้ก็มาคัดค้านว่าสมควรหรือไม่ หากไม่ทำผิดไม่ต้องกลัวอะไร” พล.อ.สมเจตน์กล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ สนช. 1 ใน 16 อดีต ส.ว.ที่ถูกร้องคัดค้านไม่ให้ร่วมพิจารณากระบวนการถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือขอแจ้งต่อประธาน สนช. ว่าไม่ประสงค์ร่วมพิจารณาการถอดถอนกรณีดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเป็นผู้เข้าชื่อร้องถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ในสมัยที่เป็น ส.ว. อีกทั้งตนเคยเป็นกรรมาธิการด้านจริยธรรมของ ส.ว.ที่มีมติชี้มูลว่า นายนิคมผิดจริยธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลไม่เข้าร่วมการพิจารณา
ส่วนนายธานี อ่อนละเอียด สนช. 1 ใน 16 อดีต ส.ว. เช่นที่เข้าชื่อร้องถอดถอนนายนิคม กล่าวว่า การยื่นคัดค้านมีลักษณะเหมือนการคัดค้านผู้พิพากษาในศาล แต่กรณีของศาลมีบทบัญญัติชัดเจน ขณะที่ข้อบังคับการประชุม สนช. ไม่มีได้มีบทบัญญัติเรื่องนี้ และในอดีตก็ไม่มีใครคัดค้านในลักษณะนี้ ตนจึงคิดว่าเป็นประเด็นที่ต้องให้ที่ประชุม สนช.วินิจฉัยและถ้าไม่มีเรื่องแบบนี้มาก่อน ต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 5 ที่ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้น หรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง เพราะเป็นเรื่องงานของ สนช. จึงขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ ตนเป็นคนที่วินิจฉัยกฎหมายตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและจะสนับสนุนเรื่องดังกล่าวก็ได้ แต่ก็เห็นว่าการคัดค้านแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของ สนช.ที่จะพิจารณาถอดถอนโดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่