xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ขึ้นเขียง สนช. โอกาสรอดมากกว่าตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 12 พ.ย.นี้ ไม่ต้องลุ้นว่าที่ประชุม สนช.จะลงมติรับหรือไม่รับ ในคดีการถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ส่งสำนวนมาให้ สนช.ลงมติถอดถอน

เหตุเพราะรูปคดี-ข้อกฎหมายที่เป็นมูลเหตุแห่งความผิดอันนำมาซึ่งการถอดถอนของสนช. พบว่าคดีของยิ่งลักษณ์ กับของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา แตกต่างกัน เนื่องจากคดีของ ยิ่งลักษณ์ เป็นคดีที่เกิดจากการทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงไว้ไม่ได้ฉีกทิ้งไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50

ดังนั้น ฐานความผิดของยิ่งลักษณ์จึงยังคงอยู่ ผนวกกับตัว พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้ใช้อำนาจประธาน สนช.วินิจฉัยรับเรื่องไว้และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระของ สนช.แล้ว ว่าให้เป็นการประชุม สนช.เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวน

ดังนั้น การประชุม สนช.ที่จะมีขึ้น ทาง สนช.สามารถเดินหน้าตามกระบวนการถอดถอนได้เลย ไม่ต้องมานั่งเถียงกันอีกแล้วว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องไว้ถอดถอนได้ หรือรับไม่ได้ ให้เสียเวลา-เปลืองแอร์ห้องประชุมรัฐสภา โดยเมื่อเริ่มประชุม พรเพชร ประธานสนช. ก็แค่แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบวาระนี้ จากนั้นก็ให้ที่ประชุมกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของคู่กรณีสองฝ่าย คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาสำนวนถอดถอนยิ่งลักษณ์จะดำเนินไปตามข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 57 ที่มีขั้นตอนดังนี้ คือ พอมีการกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนออกมาแล้ว ที่คาดว่าอาจจะอยู่ในช่วงต้น หรือไม่เกินกลางเดือนธันวาคม เพราะทาง สนช.ที่รับพิจารณาสำนวนคดี สมศักดิ์-นิคม เมื่อ 6 พ.ย.ได้กำหนดวันแถลงเปิดคดีนี้เป็นวันที่ 27 พ.ย. ดังนั้น คดียิ่งลักษณ์ที่พิจารณากันวันที่ 12 พ.ย.นี้ วันแถลงเปิดสำนวนก็น่าจะต้องอยู่หลังวันที่ 27 พ.ย. ก็คือประมาณต้นเดือน ธ.ค.

วันแถลงเปิดสำนวน ทาง ป.ป.ช. หรือตัวแทน ก็จะมาแถลงตามรายงานผลการไต่สวน และความเห็นของ ป.ป.ช. ในคดีถอดถอนยิ่งลักษณ์ ต่อที่ประชุมใหญ่สนช. ว่าเหตุใด ป.ป.ช.จึงเห็นว่ายิ่งลักษณ์ มีความผิดจากกรณีโครงการรับจำนำข้าว และความผิดนั้น สมควรนำไปสู่การถอดถอนทางการเมือง เพื่อให้ต้องเว้นวรรคการเมือง หรือถูกตัดสิทธิการเมือง5 ปี เพราะเหตุใด จากนั้นพอ ป.ป.ช.แถลงจบ ยิ่งลักษณ์หรือตัวแทน ก็จะแถลงคัดค้านคำแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. เพื่อยันว่ามติ ป.ป.ช.ดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงไหน ตัวเองไม่ได้กระทำผิดตามมติของ ป.ป.ช.อย่างไร

โดยตัวยิ่งลักษณ์หรือตัวแทน ทำได้แค่แถลงโต้แย้งเท่านั้น ไม่สามารถซักค้านหรือซักถาม ป.ป.ช.กลางที่ประชุม สนช.ได้

และเมื่อทั้งสองฝ่ายแถลงเสร็จ ตัวประธานในที่ประชุมก็จะแจ้งต่อที่ประชุมว่า มีสมาชิก สนช.ได้ยื่นญัตติขอให้สอบถามประเด็นเพิ่มเติมคู่กรณีหรือไม่ อันเป็นญัตติที่ สนช.ต้องยื่นผ่านวิป สนช. ก่อนถึงวันแถลงเปิดสำนวน หากมี สนช.ยื่นญัตติต้องการซักถามเพิ่มเติม ที่ประชุมก็จะตั้ง “คณะกรรมาธิการซักถาม” ที่จะเป็นเสมือนตัวแทน สนช.ทั้งหมด คอยทำหน้าที่แทน สนช.ไปถามคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ที่ก็ฟันธงล่างหน้าได้ว่า มี สนช.ใช้สิทธิ ยื่นถามเพิ่มเติมล่วงหน้าก่อนวันแถลงเปิดสำนวนจนนำไปสู่การตั้ง กมธ.ซักถามแน่นอน

ในส่วนของคณะกรรมาธิการซักถาม โดยหลักก็จะใช้วิธีคือ จะตั้ง สนช.ประมาณ 5 คน เป็นอย่างต่ำ โดยตั้งผ่านวิป สนช. คือให้วิป สนช. เสนอชื่อมา ที่โดยหลักก็มักจะเป็น สนช.ที่เป็นวิปนั่นเอง เป็น กมธ.ซักถามแทน สนช.ทั้งหมด ซึ่งประเด็นที่จะซักถามคู่กรณี หรือพยานบุคคล ซึ่งเห็นว่า จำเป็นต้องเรียกมาสอบถาม ทางที่ประชุม สนช. ก็จะตกลงกันอีกทีว่าจะให้ซักถามประเด็นใดบ้าง โดยกรรมาธิการจะไปถามนอกประเด็นซึ่งที่ประชุมสนช.ตกลงกันไว้ไม่ได้ แล้วต้องทำขั้นตอนนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หลังจากมีการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว แล้ว กมธ.ก็ไปสอบถามประเด็นต่างๆ มา จากนั้นก็มารายงานต่อที่ประชุม สนช.ต่อไป

จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนที่ว่า ทั้งสองฝ่ายจะขอใช้สิทธิแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาต่อที่ประชุม สนช.หรือไม่ หรือจะใช้แค่ส่งหนังสือแถลงการณ์ปิดสำนวนเท่านั้น ตรงนี้ข้อบังคับไม่ได้เขียนล็อกไว้ คู่กรณีสามารถใช้ดุลยพินิจได้เองว่าจะทำแบบไหน หรือจะไม่ทำเลย ก็ยังได้ไม่มีความผิด เพราะข้อบังคับไม่ได้เขียนล็อกไว้ว่า ต้องทำ แต่ส่วนใหญ่แล้วคดีถอดถอนในชั้นวุฒิสภาที่ผ่านมา คู่กรณีก็มักขอแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาต่อที่ประชุมทั้งสิ้น เพราะการมาพูดชี้แจงกันต่อหน้าสมาชิกที่จะโหวตลงมติ ได้เห็นทั้งหน้าตา น้ำเสียง ได้ฟังข้อมูลกันสดๆ มันย่อมดีกว่าจะไม่ใช้สิทธิตรงนี้

หากทั้ง ป.ป.ช. และยิ่งลักษณ์ มีการขอใช้สิทธิแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา และแถลงเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้น ประธาน สนช.ก็ต้องนัดประชุม สนช.เพื่อลงมติว่าจะ “ถอดถอน หรือไม่ถอดถอน” ภายในไม่เกิน 3 วัน หลังจากวันแถลงปิดคดีด้วยวาจา

ดูลำดับเวลาแล้ว ขั้นตอนนับจากวันที่ 12 พ.ย.ไปจนถึงวันลงมติ ก็อยู่ในช่วง 30-45 วัน ก็จะรู้ได้ว่ายิ่งลักษณ์จะโดน สนช. 3 ใน 5 โหวตถอดถอนหรือไม่ หรือจะปล่อยเธอลอยนวล ที่ก็น่าจะประมาณไม่เกินปลายเดือนมกราคมเป็นอย่างช้า ก็รู้ผล

คำถามตอนนี้ก็คือ ทีมทนายความยิ่งลักษณ์ และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่มีข่าวว่าไปนัดระดมพล ประชุมกันอยู่ในช่วงนี้ จะวางแทคติกสู้คดี ให้ อดีตนายกฯ ปูนิ่ม อย่างไร ในการต่อกรกับ สนช.ทั้งหลาย ที่จ้องถอดถอนเธอ เพราะแม้หลายคนประเมินว่า ยิ่งลักษณ์ มีโอกาสรอดไม่น้อย เพราะหากเกมปรองดอง ข่าวลือซูเอี๋ย เป็นจริง โดยไม่มีการสั่งให้ สนช.กดปุ่มถอดถอนยิ่งลักษณ์ โดยให้เป็นเรื่องฟรีโหวต แล้วเสียงถอดถอนไม่ถึง 132 เสียง ก็มีโอกาสที่ยิ่งลักษณ์จะรอดสูงเช่นกัน

แม้ต่อให้กระแสสังคมกดดัน สนช.สูงยิ่ง ที่ต้องจัดการกับยิ่งลักษณ์ให้ได้ ฐานสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติในโครงการรับจำนำข้าวหลายแสนล้านบาท แต่เมื่อเป็นการประชุมลับ ไม่รู้ใครเป็นใคร พวก สนช.ทั้งหลาย ก็ปัดความรับผิดชอบไปได้อยู่แล้ว ยิ่งลักษณ์ก็มีโอกาสรอดไมน้อย แต่เพื่อความประมาท ยิ่งลักษณ์ และทีมทนายความ ก็ต้องวางแผนไปสู้คดีกันให้รัดกุม ไม่ปล่อยเหวอ จนโดน ป.ป.ช.และ สนช. ฝ่ายจ้องถอดถอน ไล่ถลุง ส่วนผลโหวตจะออกมาแบบไหนก็ค่อยว่ากันอีกที

ยิ่งลักษณ์จะไปชี้แจงสู้ดคีกลางที่ประชุม สนช.เองหรือไม่ หรือส่งแค่ตัวแทนไป ที่ก็มีเสียงเชียร์ไม่น้อยว่า ยิ่งลักษณ์ไม่ควรไปชี้แจงเอง เพื่อดิสเครดิต สนช.ที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร ที่จะมาถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หากเสียงเชียร์ไม่เป็นผล แล้วยิ่งลักษณ์ตัดสินใจสู้คดีตามขั้นตอน ก็ต้องดูต่อไปว่าแล้วเธอจะเอาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายไหนไปชนกับ ป.ป.ช. และตอบคำถามกรรมาธิการซักถามของ สนช.

เป็นเรื่องน่าติดตามมากว่า “ปูนิ่ม” คนนี้ จะกลับมาในบทบาทไหน จะนิ่ม เหวอ เหมือนเดิม หรือจะพลิกบทบาทใหม่ เป็น ปู สู้ดะ ที่ทำเอาหลายคน นึกไม่ถึง เดี๋ยวได้เห็นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น