วิป สนช. เสนอประชุมลับให้สมาชิกถกเต็มที่ พร้อมฟรีโหวตปมมีอำนาจ ถอดถอน สมศักดิ์ - นิคม 6 พ.ย. หรือไม่ ส่ง “พรเพชร” แจงหลังมีมติ อ้างเพื่อกันความสับสน ยอมรับหวั่นมวลชนกดดัน ทำสังคมแตกแยก เผย สนช. ทหาร เสนอรับเรื่องไปก่อน แต่ถูกขวางอ้างไม่ถูกหลักการ อีกด้านประธาน สนช. เตรียมร่อนหนังสือแจงประธานศาลฎีกา ยันเลือก “เมธี” นั่ง กก.ตุลาการ ถูกต้อง ด้าน “ยุทธนา” ขวางแนวคิดให้ คสช. ใช้อำนาจลง รธน. ชั่วคราว อ้างเปลืองตัวถูกครหา แขวะไม่ใช่กลุ่ม 40 ส.ว. ที่คิดล้างแค้นใคร
วันนี้ (4 พ.ย.) นายเจตน์ ศิรธนานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ในวันที่ 6 พ.ย. ที่ประชุม สนช. จะพิจารณาว่ามีอำนาจการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ถอดถอนหรือไม่ โดยวิป สนช. ได้เสนอให้มีการประชุมลับ เพราะเกรงจะกระทบต่อบุคคลที่สาม แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช. ใหญ่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ ในการประชุมจะเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้มีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการถอดถอนครั้งนี้ เนื่องจากยังมีปัญหาข้อกฎหมายเพราะขณะนี้ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นฐานความผิดแก่นายสมศักดิ์ และนายนิคมแล้ว แต่สุดท้ายก็จะมีการลงมติตัดสินว่า สนช. จะมีอำนาจรับคดีดังกล่าวนำเข้าสู้การพิจารณาหรือไม่ โดยภายหลังการการลงมตินายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะมาแถลงข่าวชี้แจงความชัดเจนอีกครั้ง ไม่ว่าผลจะออกมาว่าเห็นชอบให้รับเรื่องการถอดถอนไว้พิจารณา หรือไม่รับพิจารณาคดีดังกล่าว เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้น
“ที่ประชุมวิป สนช. มีความกังวลว่าหากไม่รับเรื่องการถอดถอน จะถูกฝ่ายมวลชนที่ไม่เห็นด้วยมาสร้างความกดดัน มี สนช. ที่เป็นทหารบางคน เสนอให้รับเรื่องการถอดถอนเอาไว้ก่อน และค่อยไปตัดสินในการลงมติถอดถอนโดยใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 อีกครั้ง เพื่อเป็นการซื้อเวลา แต่นายพรเพชรแย้งว่า ทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะผิดหลักการ เหมือนกับจับก่อนแล้วไปสอบสวนทีหลัง มันไม่ถูกหลักการ แต่ทั้งหมดทั้งมวลสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคะแนนของที่ประชุมที่จะตัดสิน โดยขณะนี้ผมก็ไม่ทราบว่าใครมีแนวคิดและแนวโน้มต่อเรื่องนี้อย่างไร” นายเจตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่จำเป็นต้องเสนอให้มีการประชุมลับเพราะอะไร โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า เราก็กลัวว่าจะวุ่นวาย โดยพยายามหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดความวุ่นวาย เมื่อถามว่าขณะนี้สังคมเรียกหาความโปร่งใสของ สนช. ในเรื่องนี้ นายเจตน์กล่าวว่า ถ้าเป็นความคิดส่วนตัวก็ได้ แต่เราคิดแทนคนอื่นไม่ได้ สำหรับตนมวลชนมากดดันไม่ได้อะไรผิดก็ว่าไปตามนั้น แต่สำหรับคนอื่นตนไปตอบแทนไม่ได้
ส่วนการประชุมในวันที่ 12 พ.ย. ที่จะมีวาระการพิจารณาคดีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เข้าสู่การพิจารณาการถอดถอนแล้ว โดยในวันที่ 12 พ.ย. จะเป็นการประชุมกำหนดวันเปิดสำนวนการถอดถอนให้คู่ความในคดีทั้งสองฝ่ายมาชี้แจงและต่อสู้ข้อกล่าวหาต่อไป
นายเจตน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ทำหนังสือท้วงติงมายังประธาน สนช. ถึงการคัดเลือก นายเมธี ครองแก้ว เป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นที่ยุติแล้ว โดย นายพรเพชร จะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อยืนยันว่าคณะกรรมาธิการพิจารณาสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง รวมทั้งได้ตรวจสอบคุณสมบัติ และประวัติ ของผู้ได้รับการเสนอชื่ออย่างสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว โดยนายเมธี ไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนคดีที่นายเมธี ถูกฟ้องที่ศาลอาญา ขณะนี้ศาลยังไม่รับฟ้องทั้ง 4 คดี จึงถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด
ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิก สนช. หนึ่งในโฆษกวิป สนช. กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอทางออกด้วยการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2557 ฉบับชั่วคราว ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการบัญญัติให้เกี่ยวกับกระบวนการถอดถอนและกำหนดฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 50 เอาไว้ ว่า ตนคิดว่าหากทำเช่นนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ และ คสช. จะเปลืองตัว ในเมื่อตัวเองเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมากับมือ ก็จะถูกครหาว่าแล้วร่างรัฐธรรมนูญมาได้อย่างไร
“ไม่ว่าผลประชุมออกมาว่า สนช. ไม่มีอำนาจถอดถอน ก็ถือว่าจบไปเมื่อเขาไม่ผิดอะไรไปแช่เขาไว้ก็จะยุ่ง หรือแม้เขาจะผิดจริงแต่ต้องยอมรับว่าไม่มีรัฐธรรมนูญมารองรับเราไปฝืนไม่ได้ ก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลยไปไม่เช่นนั้นมันจะมั่ว เพราะถ้าฝืนไปก็จะมีปัญหาว่าไปกลั่นแกล้งเขา เราไม่ใช่กลุ่ม 40 ส.ว. หรือบางกลุ่มเดิมๆ ที่จะมาล้างแค้นใครเราไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเราไม่มีที่ไปจะฝืนโดยถ่วงเขาไว้แล้วมาปล่อยทีหลังเหมือนกรณีจับคนไว้แล้วมาปล่อยทีหลังคนก็ร้องไห้แล้ว ผมไม่กลัวจะโดนฟ้อง เพราะหลักกฎหมายต้องยืนไว้ก่อนแล้วใช้หลักรัฐศาสตร์ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องพึ่งรัฐศาสตร์ ใช้นิติศาสตร์อย่างเดียวเลย และที่มีการประชุมลับ เพราะเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งคือเวลาฟ้องมันฟ้องยาก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มันฟ้องไม่ได้” นายยุทธนา กล่าว