xs
xsm
sm
md
lg

“สมชาย” ชี้ขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช.รับเรื่องถอดถอน “ค้อนปลอม-นิคม” เชื่อถ้าไม่รับก็ไม่เป็นปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
สนช. เผยรับเรื่องถอดถอน “สมศักดิ์-นิคม” ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสมาชิก เผยถ้ารับก็ดำเนินต่อไป ถ้าไม่รับก็ไม่เป็นปัญหา ชี้แม้รัฐธรรมนูญยกเลิก ความผิดหมดไปหรือไม่ จากประกาศ คสช.ที่เปิดช่องให้ ป.ป.ช. อีกด้านชี้เหตุผลทนายความ “ปู” อ้างเพิ่งกลับจากเมืองนอก ยังไม่ได้รับสำเนาฟังไม่ขึ้น ชี้ยังมีเวลาชี้แจงอีกนาน

วันนี้ (5 พ.ย.) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีการประชุม สนช.ในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ย.) ที่จะมีการพิจารณาให้ความเห็นของสมาชิกเพื่อลงมติในที่ประชุมว่าจะรับเรื่องถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ว่า ในการประชุมจะมีการอภิปรายให้ความเห็นของสมาชิก สนช.แต่ละคนเพื่อชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่าจะรับหรือไม่รับและจะมีการลงมติ แต่การลงมตินั้นก็อยู่ในการตัดสินใจของสมาชิก แต่ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะออกมาในมติไหน เพราะความเห็นของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน แต่หากมีมติออกมาว่ารับก็ดำเนินการตามกระบวนการของข้อบังคับต่อไป แต่ถ้ามีมติว่าไม่รับก็ไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นการตัดสินใจแล้วของสมาชิก สนช.

ทั้งนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุไว้แล้วว่าสมาชิก สนช.ทำหน้าที่เหมือน ส.ส.และ ส.ว. หากไม่มีการพิจารณาก็จะอาจถูกมองว่าเลือกปฏิบัติในการทำหน้าที่ได้ แต่ความต่างมันอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกแล้ว และต้องมาดูอีกว่าความผิดได้หมดไปด้วยหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอยู่ฉบับหนึ่งที่ให้คงไว้ในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งทาง ป.ป.ช.ก็เป็นผู้ยื่นเรื่องนี้มาให้ สนช. พิจารณา ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.นั้นเป็นกฎหมายของปี 2542 ซึ่งเกิดมาก่อนกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550

นายสมชายยังกล่าวให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงกรณีที่ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มายื่นหนังสือคัดค้านที่ สนช.ได้บรรจุเรื่องพิจารณาการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งมีการอ้างเพราะเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ และยังไม่ได้รับสำเนารายงานว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นกว่าจะถึงวันพิจารณาก็อีกเป็นสัปดาห์ และเมื่อมีการพิจารณาแล้ว ก็ยังมีเวลาในการชี้แจง เพราะที่ประชุม สนช. ยังไม่ได้มีคำสั่งเลยว่าอีกกี่สัปดาห์ผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางเข้ามาชี้แจงวันไหนอาจจะเป็น 2-3 สัปดาห์ ก็ได้ควรเอาเวลานั้นไปอ่านสำเนารายงานในการเตรียมตัวชี้แจง

นายสมชายยังกล่าวถึงกรณีที่ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. โดยให้เหตุผล 3 ข้อ คัดค้านการบรรจุวาระถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าที่ประชุม สนช.ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ว่า 1.ข้อบังคับการประชุม สนช. ในข้อ 10 มีผลบังคับใช้แล้ว และการจะงดเว้นเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของสมาชิก สนช.ที่จะโหวตจึงไม่ใช่เรื่องของคนอื่นและมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็กำหนดหน้าที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. คือทั้งแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งและถอดถอน จะเลือกใช้แค่แต่งตั้ง โดยไม่ถอดถอนได้อย่างไร 2. การอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไม่ได้รับสำนวนนั้น ฟังไม่ขึ้น หากเป็นเช่นนั้นก็อยู่ต่างประเทศทุกวันไม่ต้องกลับ เพราะขั้นตอนตามกระบวนการไม่ใช่จะเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาในวันที่ 12 พ.ย.ทันที เรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับประธาน สนช.ที่จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง และ 3. การแสดงความเห็นของ สนช.ต่อคดีจำนำข้าวเป็นการใช้สามัญสำนึก

นายสมชายกล่าวต่อว่า จากการประชุมวิป สนช.เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ยอมรับว่าในการประชุมกรณีถอดถอนบุคคลทั้งสองซึ่งเป็นการประชุมลับเสร็จสิ้นแล้ว ในที่ประชุมจึงเสนอว่าในการประชุมวันที่ 6 พ.ย. ฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการเปิดประชุมเปิดเผย โปร่งใส ให้สังคมตรวจสอบได้ ขณะที่อีกฝ่ายเสนอให้ประชุมลับเพราะจะพูดได้อย่างเปิดเผย เพราะอาจจะกระทบและเกิดความเข้าใจผิดต่อมวลชนกลุ่มต่างๆ ได้ ซึ่งที่สุดที่ประชุมมีมติให้ใช้การประชุมลับ แต่ความเห็นก็ยังคงแตกเป็น 2 ทาง คือ ฝ่ายแรกเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว ไม่มีผลก็ไม่ควรรับไว้ อีกฝ่ายเห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญ 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 40 และใช้กฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 42 และยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าจะไม่ล็อบบี้หรือขอคะแนนเสียงในกลุ่มต่างๆ แต่จะชี้แจงเหตุทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมว่าจะมีมติอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น