xs
xsm
sm
md
lg

มติ สนช.ต่อลมหายใจ “ยิ่งลักษณ์” ทนายเล่นยื้อ หวังรอผลคดีอาญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รายงานการเมือง

มติที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันพุธที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติด้วยเสียงข้างมาก 167 ต่อ 16 เสียง ให้เลื่อนพิจารณาวาระถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ออกไป 15 วัน จากเดิม 12 พ.ย.ไปเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน

เป็นไปตามมติวิป สนช.ก่อนหน้านี้ที่ก็เห็นควรว่าสมควรเลื่อนการพิจารณาวาระดังกล่าวออกไป ตามที่ทีมทนายความยิ่งลักษณ์ อ้างเหตุในการขอเลื่อนว่าเป็นเพราะการรับเอกสารสำนวนดังกล่าวของยิ่งลักษณ์ ไม่ครบกำหนดตามข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 57 เนื่องจากก่อนหน้านี้ ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศ และไม่ทราบว่าจะมีการบรรจุวาระการพิจารณาถอดถอนจนกระทั้งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางกลับและได้รับเอกสารในวันที่ 7 พฤศจิกายน ทำให้หากสนช.พิจารณาวาระนี้เมื่อ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็จะไม่ครบเวลาในการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม สนช.ที่ต้องส่งเอกสารให้ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาทราบล่วงหน้าก่อน 15วันเพื่อเตรียมตัว สนช.ถึงจะเริ่มกระบวนการได้

การเลื่อนดังกล่าวก็เลยทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นในการไปสู้คดีถอดถอนต่อที่ประชุม สนช. จากเดิมที่คาดหมายว่าน่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการแถลงเปิดสำนวนต่อที่ประชุม สนช.ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ดูแล้วก็น่าจะขยับออกไปเป็นช่วงกลางเดือนธันวาคม คืออาจอยู่ในช่วงประมาณหลังวันที่ 10 ธ.ค. ไปไม่ไกลมาก

เว้นแต่ที่ประชุม สนช.ที่จะพิจารณาระเบียบวาระเรื่องการถอดถอนยิ่งลักษณ์ เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนในวันที่ 28 พ.ย. อาจเห็นว่าคดีล่าช้ามาพอสมควรแล้ว เพราะเลื่อนจาก 12 พ.ย.ไป 28 พ.ย. กินเวลาเลยไปจากเดิมถึง 16 วัน อีกทั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องเลื่อนจาก 12 พ.ย.ไปเป็น 28 พ.ย.ก็เป็นเรื่องความไม่รัดกุมของสำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในขั้นตอนทางธุรการการจัดส่งเอกสารสำนวนไปถึงมือยิ่งลักษณ์ เพราะเดิมผู้เกี่ยวข้องในสนช. ก็คิดกันว่าส่งไปตั้งแต่ 27 ต.ค. แต่เพิ่งมารู้ทีหลังว่าขั้นตอนนี้ ถือว่ามีผลเมื่อ 7 พ.ย. คือ เอกสารถึงมือผู้รับ ยิ่งลักษณ์ ในวันดังกล่าว จนเปิดช่องให้ทีมทนายยิ่งลักษณ์ นำมาใช้เป็นข้ออ้างว่าได้รับเอกสาร 7 พ.ย.จึงต้องเลื่อนการพิจารณาของ สนช.ออกไปก่อน เพราะข้อบังคับการประชุม สนช.บอกว่าต้องส่งเอกสารสำนวนการถอดถอนให้ผู้ถูกร้องได้เตรียมตัวล่วงหน้า 15 วัน ก่อนถึงวันนัดกำหนดแถลงเปิดคดี จึงไม่ใช่ 12 พ.ย.อย่างที่ระเบียบวาระกำหนดไว้ จนสุดท้ายเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนไปตามคาด

กระบวนการที่เกิดขึ้น แม้ไม่มีใครอยากตำหนิฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยิ่งลักษณ์รวมถึงขั้นตอนทางธุรการต่างๆ ว่าไม่รัดกุม จนเปิดช่องให้ทนายยิ่งลักษณ์นำมาเป็นเหตุขอเลื่อนคดีได้ จนทำให้การบรรจุระเบียบวาระดังกล่าวเมื่อ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ต้อง “วืด” ไปแบบผู้ใหญ่ใน สนช. บางคนที่ออกตัวเรื่องนี้มาเต็มที่ต้องเสียหน้าพอสมควร

แต่ก็ต้องถือว่าความขัดข้องดังกล่าว เป็นความขัดข้องที่ทางฝ่ายสนช.พลาดกันเอง จุดนี้มันก็อาจทำให้ สนช.หลายคน อาจเร่งกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนให้เร็วขึ้นระดับหนึ่งแต่ก็คงไม่ถึงกับการเร่งรัดมาก เพราะหากไปเร่งมาก ก็จะกลายเป็นการเปิดช่องให้พวกทนายหน้าหอของยิ่งลักษณ์ และตัวฝ่ายพรรคเพื่อไทย เอาไปดิสเครดิตได้ว่า สนช.เร่งรัดเร่งรีบจะพิจารณาถอดถอนยิ่งลักษณ์ให้ได้

ยังไงก็ตาม ดูจากกรอบเวลาทั้งหมด แม้ สนช.จะดีเลย์เลื่อนพิจารณาคดียิ่งลักษณ์ออกไป แต่บทสรุปสุดท้าย นัดหมายวันลงมติ “จะถอดถอน หรือไม่ถอดถอน” ที่ต่อให้ช้ายังไง แต่ก็จะไม่เกิน 45 วันนับจากวันที่ 28 พ.ย. นั่นก็หมายถึง นัดหมายลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในคดียิ่งลักษณ์ ก็ไม่เกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคมแน่นอน

การได้มีเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิมออกมาอีก 16 วัน ก็น่าจะทำให้ฝ่ายทนายความและทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้มีเวลาไปกำหนดแท็คติกสู้คดีมากขึ้น

ปมนี้วิเคราะห์แล้ว เชื่อได้ว่าหนึ่งในความต้องการของทีมทนายความยิ่งลักษณ์ ที่วางแผนสู้คดีไว้ก็คือ ขอลุ้นให้วันลงมติคดีนี้ในชั้น สนช.เกิดขึ้นหลัง มีข้อยุติระหว่าง คณะกรรมการป.ป.ช.กับอัยการ ที่ตอนนี้งัดข้อกันอยู่ในการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ในคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯในกรณีโครงการรับจำนำข้าวเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย คงประเมินไว้ว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ อัยการกับ ป.ป.ช.จะแยกทางกันเดิน ด้วยเหตุผลอัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนคดีไม่สมบูรณ์ ทำให้ ป.ป.ช.ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลฏีกาฯ เอง หากมันเกิดขึ้นจริง มันก็จะเข้าทางทนายความยิ่งลักษณ์ที่จะได้เอาประเด็นนี้มาใช้เป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในการยกไปเป็นปมสู้คดีถอดถอนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการนำไปเขียนไว้ในคำแถลง “ปิดสำนวนด้วยวาจา” ให้กับยิ่งลักษณ์เอาไปอ่าน กลางที่ประชุม สนช.เพื่อพยายามจะบอกว่าเห็นไหม คดีนี้ขนาดคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรงถึงขั้นจำคุก อัยการสูงสุดยังเห็นแล้วว่าไม่สามารถเอาผิดสั่งฟ้องได้ แล้วคดีถอดถอน ที่เป็นโทษซึ่งเบากว่าคดีอาญา ซึ่ง ป.ป.ช.แยกส่งมาต่างหาก สนช.จะมาลงมติถอดถอนเพื่อให้เว้นวรรคการเมืองห้าปีได้อย่างไร ควรจะลงมติไม่ถอดถอนเท่านั้น

ดูแล้วมีความเป็นไปได้ที่อาจรู้ผลว่าอัยการจะสั่งฟ้อง หรือสุดท้าย ป.ป.ช.ต้องไปฟ้องเองได้ก่อนวันแถลงปิดสำนวนหรือวันลงมติของ สนช.ก็เป็นได้ เพราะคณะทำงานเอาผิดยิ่งลักษณ์ในคดีอาญาของฝ่ายสำนักงานเลขาธิการ ป.ป.ช.ก็บอกไว้แล้วว่าจะให้โอกาสในการประชุมสองฝ่าย คือ อัยการกับ ป.ป.ช.อีกแค่นัดเดียวเท่านั้น หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ ป.ป.ช.ก็อาจไม่รออีกแล้ว จะขอดึงสำนวนกลับไปฟ้องเอง ที่ก็ไม่รู้ว่า ป.ป.ช.จะทำตามอย่างที่พูดจริงไหม

กระนั้นที่ยังเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ก็คือ ยังไม่มีใครรู้แม้แต่ ป.ป.ช.ว่าจะนัดประชุมร่วมสองฝ่ายกันวันไหน ซึ่งมันก็ส่งผลต่อการวางแผนสู้คดีของทนายความยิ่งลักษณ์เช่นกันเพราะทำให้การกำหนดแผนรับมือให้กับยิ่งลักษณ์ทั้งคดีอาญาและคดีถอดถอน ก็ชะงักตามไปด้วย

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงการชิงไหวชิงพริบ การวางแผนสู้คดีกันแล้วของฝ่ายยิ่งลักษณ์และทีมทนายความกับทาง ป.ป.ช.ในคดีอาญาและกับสนช.กลุ่มที่ต้องการถอดถอนยิ่งลักษณ์ เป็นการวางแผนกันแบบ ใครพลาดนิดเดียว ก็เปิดช่องให้อีกฝ่ายกุมได้แต้มเหนือทันที อย่างที่เห็นมาแล้วกับการที่ สนช.ต้องเลื่อนการพิจารณาคดียิ่งลักษณ์ออกไปจากเดิมถึง 16 วันเพราะเรื่องขั้นตอนการส่งเอกสาร

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสุดท้ายจะมีความพยายามยื้อกันอย่างไร สุดท้ายมันก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการสู้คดีกันตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาหรือคดีถอดถอนยังไง ทุกคนก็ต้องได้เห็น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์-นิคม ไวยรัชพานิช เข้าสู่กระบวนการถอดถอนอยู่ดี แม้ต่อให้จะไม่ไปชี้แจงด้วยตัวเองต่อที่ประชุม สนช. โดยส่งตัวแทนไป แต่ขั้นตอนทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อไปตามกฎหมาย ตามที่ รธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 - พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และข้อบังคับการประชุม สนช.57 เขียนรับรองการใช้อำนาจถอดถอนของ ป.ป.ช.และ สนช.ไว้

ส่วนผลการลงมติจะออกมาแบบไหน ก็ค่อยมาว่ากันอีกที ว่า สนช.จะได้ก้อนอิฐหรือดอกไม้ เมื่อมีการขานเสียงคะแนนโหวตออกมา
กำลังโหลดความคิดเห็น