โฆษกวิป สนช. เผยกำหนดเปิดสำนวนคดีถอดถอน “ค้อนปลอม - นิคม” และ “ยิ่งลักษณ์” ต้นปีหน้า ปัดยื้อเวลาเพราะวันหยุดเยอะ กฎหมายค้างสภาเพียบ ซ้ำทนาย “ปู” ยื่นพยานหลักฐานเพิ่ม ขณะเดียวกัน เตรียมตั้ง 21 กมธ. ซักค้านคดี พร้อมเบรก ป.ป.ช. แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจตัวเอง ตั้ง 30 กมธ. ศึกษา
วันนี้ (25 พ.ย.) นพ.เจตน์ ศิระธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิป สนช. มีมติให้กำหนดการประชุมเพื่อเปิดสำนวนคดี นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา, นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเป็นวันที่ 8 ม.ค. 58 และกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปเป็นวันที่ 9 ม.ค. 58 จากนั้นจะมีการกำหนดกรอบเวลาเช่นกำหนดให้มีการซักถามผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง พร้อมทั้งแถลงปิดสำนวน รวมถึงการโหวต ไม่เกิน 1 เดือน
ทั้งนี้ เนื่องจากข้อบังคับการประชุม สนช. ไม่ได้กำหนดว่าเมื่อเปิดประชุมนัดแรกแล้วจะสามารถล็อควันได้เลย ขึ้นกับที่ประชุม สนช. เป็นผู้กำหนด แต่เนื่องจากผู้ถูกร้องคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอเพิ่มพยานหลักฐานเป็นจำนวนมาก รวมถึงคลิปวิดีโอด้วย ซึ่งสมาชิก สนช. อาจต้องใช้เวลาในการศึกษา และการเพิ่มพยานเอกสารที่อยู่ในข้อบังคับ ระบุถึงพยานเอกสารที่เคยยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ไม่ได้รับการพิจารณา หรือพยานเอกสารที่พบภายหลัง หรือที่เรียกว่าหลักฐานใหม่จากที่มีอยู่เดิม แต่เอกสารพยานหลักฐานดังกล่าวยังต้องยึดสิ่งที่อยู่ในสำนวนเป็นหลัก จากนี้ไปก็จะมอบหมายให้วิปไปทำการศึกษา อีกทั้งในเดือนธันวาคมมีวันหยุดราชการจำนวนมาก และร่างกฎหมายที่อยู่ในวาระสองสาม ก็มีอยู่จำนวนมากจึงต้องเร่งให้เสร็จก่อน
“วันที่มีการแถลงเปิดสำนวนของทั้ง 2 กรณี จะเปิดโอกาสให้ 2 ฝ่าย คือ ป.ป.ช. และทนายของผู้ถูกร้อง หรือผู้ถูกร้องเองได้แถลงและซักค้านสลับกันไป โดยจะไม่ได้เป็นการตอบโต้กันไปมา ซึ่งสมาชิก สนช. จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้ ส่วนคณะกรรมาธิการซักถามจำนวน 21 คน จะมีการแต่งตั้งในวันแถลงเปิดคดี ประกอบด้วย สัดส่วนจากวิป 5 คน จากกรรมาธิการแต่ละคณะจำนวน 16 คน และสมาชิกต้องมีการเสนอญัตติให้กรรมาธิการมีการซักถามเกี่ยวกับวันที่แถลงเปิดสำนวน เพื่อให้กรรมาธิการได้ไปประชุม เพื่อกำหนดกรอบในการซักถามว่าควรเป็นอย่างไร เพราะจะต้องมีการแปลงคำพูดของผู้เสนอญัตติว่าเมื่อแปลงไปว่าโอเคหรือไม่” นพ.เจตน์ กล่าวพร้อมกับยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการยื้อเวลาแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ นายนิคม จะคัดค้าน 16 สนช. ที่เคยเป็นอดีต ส.ว. ไม่ให้ร่วมพิจารณาถอดถอนตนเองนั้น นพ.เจตน์ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช. จะมีมติเป็นอย่างไร ส่วนของตนเองที่ก็เป็นหนึ่งในอดีต ส.ว. ไม่มีปัญหา หากมติ สนช. เป็นอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม
รายงานข่าวแจ้งว่า เดิม สนช. ได้มีการบรรจุวาระการประชุมสนช.ประจำวันที่ 27 พ.ย. โดยมีวาระเร่งด่วนเรื่องพิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคม นายสมศักดิ์ ออกจากตำแหน่ง และวาระการประชุมในวันที่ 28 พ.ย. ก็มีวาระเร่งด่วนพิจารณากรณีดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง แต่เมื่อวิปมีมติกำหนดให้เปิดคดีในวันที่ 8 และ 9 ม.ค. 58 ก็จะทำให้การประชุม สนช. ในวันที่ 27 - 28 พ.ย. จะไม่มีการพิจาณาเรื่องการถอดถอน โดยจะมีเฉพาะเรื่องการพิจารณากฎหมายทั่วไปเท่านั้น
ด้าน นายยุทธนา ทรัพย์เจริญ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีที่ ป.ป.ช. เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่ม พ.ร.ป. ว่าด้วย ป.ป.ช. เป็นการเร่งด่วนแล้ว มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นหนึ่งชุดจำนวน 30 คน แยกเป็นจากรัฐบาล 10 คน สนช. 20 คน ซึ่งจะเน้นตัวแทนจากกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เช่นกรรมาธิการตำรวจ 8 คน กรรมาธิการการเมือง 4 คน กรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน 3 คน ส่วนที่เหลือก็เป็น สปช. เพื่อศึกษาเนื้อหารายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวก่อนที่จะเข้าที่ประชุม สนช. เพื่อรับหลักการ เนื่องจากแม้ ป.ป.ช. จะมีอำนาจเสนอให้แก้ไขกฎหมายโดยตรง แต่ทางวิปเห็นว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายมีหลายประเด็นที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจ อัยการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงการต่างประเทศ
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการอ้างว่าจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอรัปชั่น ที่สำคัญยังไมได้ผ่านการขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสอบถามความเห็นผู้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ป.ป.ช. ก็รับได้ไม่มีปัญหา โดยเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านการพิจารณาเร็วกว่าช่วงมีสภาตามปกติ ส่วนกรณีที่มีการท้วงติงว่ามีการให้อำนาจ ป.ป.ช. มากเกินไป รวมถึงเพิกถอนสิทธิผู้ที่ไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินตลอดชีวิตนั้น ยอมรับว่า ในที่ประชุมวิปมีการยกขึ้นมาหารือและแสดงความเป็นห่วงว่ารุนแรงเกินไปหรือไม่ โดยมีบางคนก็ไม่เห็นด้วย